เปิดร้านยังไงไม่ให้ Over Budget

เปิดร้านยังไงไม่ให้ Over Budget ?

 

ปัญหางบบานปลาย เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับคนทำร้านอาหารอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างใหม่ ปรับปรุง ต่อเติม ตกแต่ง เปิดสาขาเพิ่ม ตั้งงบไว้เท่านี้ จบจริงเป็นอีกเลขนึง ตั้งงบ 1 ล้าน สุดท้ายจบที่ 1.5 ล้าน

การรู้ภาพรวมค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกจะทำให้คุณสามารถคาดการค่าใช้จ่ายที่จะเอาไปลงกับร้านได้ วันนี้มีวิธีคุมงบในการทำร้านยังไงไม่ให้งบบานปลายมาฝากกัน มีอะไรบ้างไปดูกันเลย

 

#ทำFeasibilityStudyก่อน

ก่อนจะเริ่มขยายอะไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องทำเป็นลำดับแรกเลย คือการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ก่อนเริ่มลงทุนทำร้านอาหาร ว่าร้านของเรามีโอกาสหรือมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะรุ่งหรือร่วง ลงทุนเท่าไร จะคืนทุนกี่ปี รวมถึงการประเมินว่า Best และ Worst case เป็นยังไง

เพราะหลายครั้งที่ร้านอาหารที่ต้องปิดตัวลงไปไม่ใช่เพราะรสชาติไม่ดี หรือบริการไม่ดี แต่เป็นเพราะเรื่องอื่น ๆ อย่างเช่น เราอาจเลือกทำเลที่ไม่ถูกต้อง หรืออยู่ในทำเลที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายไม่มากพอ หรือไม่ได้วิเคราะห์คู่แข่งก่อนที่จะลงไปในตลาด หรือลงทุนร้านมากเกินไปทำให้ไม่คืนทุน และไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างที่ควรจะเป็นได้

มี 3 หลักคร่าว ๆ ที่ควรวิเคราะห์ ดังนี้ครับ Location Analysis การวิเคราะห์ทำเลที่ตั้ง, Market Analysis การวิเคราะห์ตลาด และ Financial Analysis การวิเคราะห์การเงิน

สิ่งนี้เป็นประโยชน์มากครับ ซึ่งหลายครั้งช่วยให้คุณประหยัดเงินได้มหาศาลเลยทีเดียว

 

#เทสตลาด

หลังจากทำ Feasibility แล้ว สิ่งต่อไปที่ควรทำคือการ ‘เทส’ ว่าสินค้าของเรามีความเป็นไปได้แค่ไหน ง่าย ๆ คือ การเปลี่ยนจากสิ่งที่อยู่บนกระดาษให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น

ถ้าเมนูที่คุณคิดขึ้นมายังไม่เคยทำมาก่อน การทดลองเมนูช่วงก่อนเปิดร้าน ลองไปออกบูธต่าง ๆ ลองเปิดใน Delivery ก่อนก็ได้ รับพรีออเดอร์ รวมถึงการทำ Soft Opening

นอกจากจะช่วยให้คุณมั่นใจว่ารสชาติในมุมมองลูกค้าเป็นไปตามที่คุณคิดไว้ ยังเป็นการตรวจสอบว่าต้นทุนวัตถุดิบเป็นไปตามที่คุณวางแผนไว้ในตอนต้นหรือไม่

อันนี้ยังรวมไปถึงการสต๊อกวัตถุดิบในช่วงที่คุณกำลังจะเปิดร้านด้วย ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้จะมากหรือน้อยอาจขึ้นอยู่กับประเภทอาหารที่คุณต้องการขาย ยิ่งคุณมีเมนูที่หลากหลายเท่าไหร่ นั่นหมายถึงต้นทุนการสต๊อกวัตถุดิบที่จะเพิ่มขึ้น

 

#สถานที่และการก่อสร้าง

ถ้าคุณไม่ได้คิดจะทำร้านในที่ของคุณเองแล้ว ค่ามัดจำสถานที่เป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย โดยปกติค่ามัดจำพื้นที่เช่านอกห้างจะอยู่ประมาณ 3 เดือนของค่าเช่า และจะเป็น 6 เดือนถ้าเป็นพื้นที่เช่าในห้าง ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจถือเป็นก้อนที่ใหญ่ที่สุดก้อนนึงรองจากค่าตกแต่งร้านได้เลย

นอกเหนือจากค่ามัดจำแล้ว เจ้าของพื้นที่เช่าส่วนใหญ่จะให้ชำระค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือนก่อนที่คุณจะเข้าไปอยู่ รวมไปถึงค่าประกันภัยและค่าธรรมเนียมสถานที่ต่าง ๆ นั่นหมายถึงคุณควรจะเตรียมเงินสำหรับหัวข้อนี้ไม่น้อยกว่า 4-7 เดือนของค่าเช่าเอาไว้

 

#พนักงานก่อนเปิดร้าน

คุณไม่สามารถเปิดร้าน แล้วค่อยจ้างพนักงานได้ ไม่เช่นนั้นร้านคุณได้เกิดความวุ่นวายแน่นอน ตำแหน่งที่สำคัญเช่น เชฟ ผู้จัดการร้าน หรือแคชเชียร์

รวมถึงพนักงานเสิร์ฟบางตำแหน่ง จำเป็นที่จะต้องถูกฝึกก่อนเปิดร้านไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าเชฟที่มีส่วนช่วยเราคิดเมนูด้วยแล้ว ควรเข้ามาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบด้วยซ้ำ เพราะจะช่วยลดความผิดพลาดจากการวางตำแหน่งงานระบบที่ผิดพลาดลงไปได้ อย่าลืมคำนึงในส่วนนี้

 

#การตลาดและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ร้านส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเผื่อเงินไว้สำหรับการโฆษณาหรือทำการตลาดเท่าไหร่ก่อนเปิดร้าน เพราะมักคิดว่าเปิดร้านเสร็จแล้วค่อยโฆษณาก็ได้ ถึงแม้ร้านคุณจะดีแค่ไหนถ้าลูกค้าไม่รู้จักหรือไม่เคยแม้แต่กระทั่งได้ยินชื่อของร้านคุณก็คงเปล่าประโยชน์ เหล่านี้อาจรวมไปถึงงบประมาณในการทำโปรโมชั่นในช่วงเปิดร้าน เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ามาทดลองร้านคุณด้วย

นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกเช่น ค่าอุปกรณ์และซอรฟ์แวร์ POS ค่าประกันภัย ค่าลิขสิทธ์เพลง ค่าจ้างที่ปรึกษาต่างๆ ฯลฯ และอาจจะมีรายละเอียดนอกเหนือจากนี้อีกที่อาจจะไม่ได้นึกถึงต่อให้คุณมีประสบการณ์แค่ไหนก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือ การเผื่องบประมาณเผื่อไว้ระดับนึง จากงบประมาณทั้งหมด และพยายามควบคุมตรวจสอบการลงทุนเพื่อให้เงินที่ลงไปเกิดประโยชน์สูงสุด

 

และนี่ก็คือทั้งหมดของ เปิดร้านยังไงไม่ให้ Over Budget หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับว่าที่เจ้าของร้านอาหารทุกท่านนะคะ ฝากติดตาม Torpenguin ในทุกช่องทาง แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 🐧👋

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin

 

📌 อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ