เทรนพนักงานร้านอาหาร ด้วย 4 ฟอร์มสำคัญ ที่เจ้าของร้านควรรู้ และใช้ให้เป็น
หนึ่งในความท้าทายของการบริหารร้านอาหารเมื่อทำมาได้ระดับนึงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กหรือใหญ่ คือการ “เทรนพนักงานใหม่” ที่จะทำยังไงให้คนที่เรารับมาใหม่นั้นเข้าใจมาตรฐานของร้าน และสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น
หลายครั้งการเทรนพนักงานด้วยปากเปล่าหรือการให้ท่องจำมักนำไปสู่ความผิดพลาดซ้ำ ๆ ดังนั้นการที่ร้านของเรามีระบบเอกสารหรือฟอร์มช่วยติดตาม ก็จะลดปัญหาและความผิดพลาดเหล่านี้ไปได้มหาศาลเลย
สิ่งนี้แหละเป็นจุดที่ทำให้แบรนด์ดัง ๆ ระดับโลกแตกต่างจากเรา เพราะพวกเขามีมาตรฐานที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม มาดูกันครับว่า 4 ฟอร์มหลัก ๆ ที่เราควรมีในการฝึกอบรมพนักงานร้านอาหารมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
1. Training System Form
หรือ ฟอร์มวางแผนเทรน นี่คือแบบฟอร์มที่ใช้ในการกำหนดหัวข้อการเทรนนิ่ง ที่พนักงานแต่ละตำแหน่งจะต้องเรียนรู้ เช่น การรับออเดอร์, การทำความสะอาด, การใช้งานเครื่องคิดเงิน ฯลฯ
ทำไมเราถึงต้องมีสิ่งนี้
– เพื่อให้คนที่ต้องสอนรู้ว่าต้องสอนอะไรบ้าง
– ทำให้การสอนแต่ละครั้งมีเป้าหมายชัดเจน
– ป้องกันปัญหาคนสอนสอนไม่ครบ หรือลืมสอนในบางหัวข้อ
ตัวอย่างสิ่งที่ใส่ไปในฟอร์มได้แก่ ใครเป็นผู้สอน, หัวข้อที่ต้องสอน, วันและเวลา เป็นต้น
2. Training Tracking Form
หรือ ฟอร์มติดตามรายบุคคล ฟอร์มนี้ใช้สำหรับ “เช็คความคืบหน้า” ของพนักงานแต่ละคน ว่าเรียนครบหรือยัง ผ่านหัวข้อไหนไปบ้างแล้ว และยังเหลือเรื่องอะไรที่ต้องเรียนอีก
ทำไมเราถึงต้องมีสิ่งนี้
– ใช้เช็คได้ทันทีว่าพนักงานใหม่เรียนครบหรือยัง
– ถ้ามีปัญหาเรื่องบริการหรือหลังครัว เจ้าของร้านสามารถย้อนกลับไปดูได้ว่า พนักงานผ่านการเทรนมาแล้วหรือยัง
– ใช้ประเมินพนักงานเบื้องต้นก่อนขึ้นงานจริง
ตัวอย่างสิ่งที่ต้องเช็ค ได้แก่ พนักงานเข้าใจเมนูมากน้อยแค่ไหน, พนักงานใช้เครื่อง POS ได้มั้ย, พนักงานสามารถจัดโต๊ะหรือเสิร์ฟได้ถูกวิธีหรือไม่, พนักงานผ่านมาตรฐานสุขอนามัยหรือไม่ เป็นต้น
3. Tracking Chart
หรือ กราฟภาพรวมการเทรนทีม เมื่อนำข้อมูลจากฟอร์ม Tracking มาสรุปเป็นแผนภาพหรือกราฟ จะช่วยให้เจ้าของร้านหรือผู้จัดการ มองเห็นภาพรวมของทีม ได้ชัดเจน
ทำไมเราถึงต้องมีสิ่งนี้
– มันช่วยวิเคราะห์ว่า “หัวข้อไหน” ยังมีคนตกหล่นมาก
– ใช้สื่อสารง่ายกว่าเวลาประชุมทีม ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน
– Tracking Chart ทำให้เราสะดวกในการวางแผนจัดอบรมซ้ำในครั้งต่อ ๆ ไป
โดยรูปแบบ Tracking Chart ที่ใช้บ่อยก็จะมีเป็นแบบกราฟแท่งที่แสดงเปอร์เซ็นต์การผ่านหัวข้อ , Pie Chart สัดส่วนพนักงานที่ผ่าน/ยังไม่ผ่าน, Dashboard ใน Excel หรือ Google Sheet เป็นต้น ถนัดแบบไหนก็ทำแบบนั้นได้เลย
4. Project Actual Form
หรือ แบบสรุปผลการฝึกอบรม หลังจากจัดการเทรนเสร็จแล้ว เราควรมีการบันทึกสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นยังไงบ้าง เช่น ใครมา ใครขาด มีปัญหาอะไร งบใช้เท่าไหร่ และข้อเสนอแนะในรอบหน้าเพื่อเก็บเป็นประวัติการเทรนของแต่ละรอบ และช่วยวางแผนปรับปรุงครั้งต่อไป
ตัวอย่างข้อมูลที่ควรมีในฟอร์ม ได้แก่
– ชื่อโปรเจกต์ / วันที่เทรน
– รายชื่อผู้เข้าร่วม
– หัวข้อที่สอน
– สรุปผลการเรียนรู้
– งบประมาณที่ใช้
– ข้อเสนอแนะจากผู้สอนหรือผู้จัดการ
หลายครั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน หากมองเข้าไปลึก ๆ บางครั้งมันก็ไม่ได้มาจากตัวของพนักงานเอง แต่เป็นเพราะเราไม่ได้มีระบบเทรนนิ่งที่มีประสิทธิภาพพอต่างหาก
การเอา 4 ฟอร์มนี้ ไปประบใช้จะสามารถทำให้เรายกระดับมาตรฐานทีมงานได้แบบมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ลดการสื่อสารผิดพลาด และช่วยให้เราหรือผู้จัดการทำงานได้ง่ายขึ้น
หวังว่าบทความเรื่องฟอร์มสำหรับการ เทรนพนักงานร้านอาหาร ที่นำมาฝากกันในวันนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการทุกท่านนะคะ ฝากติดตาม Torpenguin ในทุก ๆ ช่องทาง แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 😊
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ
- 8 สิ่งที่นายจ้างห้ามทำ ถ้าไม่อยากถูกปรับหรือจำคุก 8 สิ่งที่ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องร้องได้!
- รู้ทันกลโกงพนักงาน ที่กว่าจะรู้ตัวอาจสายเกินไป
- ลูกน้องเป็นคนแบบไหนในที่ทำงาน เข้าใจลูกน้องมากขึ้น ผ่าน DISC Model
- วิธีลดต้นทุนแรงงาน ลดยังไงให้เพิ่มกำไรไม่ลดคุณภาพ
- ร้านเราควรใช้พนักงานกี่คน? วิธีหาจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับงาน ยอดขาย และการบริการ
- Sense of Purpose ทฤษฎีสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน แม้ไฟในใจมอดก็ยังอยากทำงานให้สำเร็จ
- เทรนพนักงานด้วย 70 20 10 เทคนิคที่องค์ชั้นนำใช้เพิ่มศักยภาพให้กับคนในองค์กร
- สร้าง Growth Mindset ให้พนักงาน เจ้าของร้านสามารถทำยังไงได้บ้าง?
- สื่อสารข้ามเจน ให้ไม่มีติดขัด ด้วยหลัก 4E
- เพิ่มยอดขายด้วยพนักงาน ง่าย ๆ แค่เทรนนิ่งให้ถูกวิธี
- ทำให้พนักงานเก่ายอมเปิดใจให้กับการวางระบบใหม่ ที่เรากำลังสร้าง ทำยังไง?