The Yard Hostel โฮสเทลที่เปลี่ยนทำเลตาย ให้กลายเป็นโฮสเทลที่จองเต็มทุกซีซัน และเป็น “บ้านญาติ” ของคนทั้งโลก
ธุรกิจร้านอาหาร เวลาพูดถึงคำว่าความยั่งยืนหรือ Sustainability คนส่วนใหญ่มักจะมองเป็นในเรื่องของค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น
’โอ้โหจะต้องเปลี่ยนจากพลาสติกไปเป็นกระดาษหรอ ปกติก็แพงอยู่แล้วนะ’
’แค่หมู แค่ไก่ แค่ไข่ปกติก็ราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำไมต้องใช้ผักออร์แกนิคต้น ทุนมาก็แพงผลผลิตก็ไม่ต่อเนื่องอีก’
ไม่เห็นมีอะไรดีเลย
วันนี้อยากให้ทุกคนลองมาเปิดใจให้กับ Case Study นี้ดูค่ะ ว่าเรื่องของ ‘ความยั่งยืน’ มันไม่ได้หมายถึงแค่ต้นทุนที่สูงขึ้น แต่มันจะทำให้ลูกค้าของเรามีเหตุผลที่ต้องมาใช้บริการเรา และจะทำให้เขายินดีที่จะจ่ายให้กับเรามากกว่าปกติ
วันนี้ชวนคุยกับ คุณส้ม(เล็ก) – อติพร สังข์เจริญ อดีตวิศวกร ผู้ผันตัวมาทำโฮสเทล เป็นผู้ก่อตั้ง The Yard Hostel โฮสเทลที่มุ่งสร้างความยั่งยืนและใส่ใจ ‘People’ หรือผู้คนเป็นหัวใจสำคัญ เธอเปลี่ยนที่พักแห่งนี้ให้กลายเป็น “บ้านญาติ” ที่เชื่อมโยงนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน
ไอเดียของการทำ The Yard เกิดขึ้นจากการบังเอิญไปเห็น Ads ของเว็บไซต์ชื่อ withlocals บน Facebook เมื่อ 10 ปีก่อน เว็บไซต์นี้มันคล้าย ๆ แพลตฟอร์มของ airbnb experience ในปัจจุบัน คือคนสามารถจองเข้ามาร่วมกิจกรรมกับเราได้ เราก็สร้าง activity อะไรก็ได้ให้ต่างชาติมาจอยกับเรา ตอนนั้นคุณส้มก็ให้คนมาทำกับข้าวกินที่บ้าน ภายใน 6 เดือน ได้ถึง 30 Booking เลย
ตอนนั้นได้เจอคนเยอะมาก ๆ และก็เริ่มมีบางคนเริ่มถามเรื่องที่หลับที่นอน บางคนขอนอนบ้าน มันแปลก ๆ ใช่มั้ย 5555555 เราก็ถามเขานะว่าทำไมอยากนอนบ้านเรา สรุปคือเขาเจอโฮสแบบไม่น่ารักอะไรเงี้ย เขาอยากอยากเจอคนที่เขาสามารถพูดคุยแล้วก็แบบหัวเราะได้รู้สึกแบบปลอดภัย
หลังจากนั้นเราก็รู้สึกว่าเวลาที่แยกกับคนที่มานอนที่บ้านทำไมเรารู้สึกว่าเราเสียใจ เลยเริ่มตกผลึกว่า เออจริง ๆ แล้วเราอาจจะชอบอะไรแบบนี้ เรื่องความสัมพันธ์กับผู้คน เลยคิดว่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของ The Yard
พอเริ่มคิดจะสร้าง Hostel ก็เป็นเหมือนคนอื่นคือตั้งต้นด้วยความเป็น Typical Hostel ทั่วไป แบบมีห้องแถวแล้วก็เอามาแบ่ง ๆ อะไรแบบนั้น แต่เอ้ยเรามานั่งคิดใหม่ว่าถ้า Hostel มันไม่ได้อยู่ในตึกละมันเป็นพื้นที่กว้าง ๆ ละ ทำได้มั้ย เราเริ่มหาที่จากที่ที่เราคุ้นเคยและสามารถมีต้นไม้ได้
The Yard เริ่มต้นจากการใช้บ้านเก่าในย่านอารีย์และตู้คอนเทนเนอร์เก่า มารวมให้กลายเป็นที่พัก มีพื้นที่ Courtyard ตรงกลางใช้เป็นพื้นที่จัด Activity
ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมถึงใช้ตู้คอนเทนเนอร์เก่า แทนการก่ออิฐฉาบปูนบ้านขึ้นมาใหม่ ส่วนนึงก็คือมันประหยัดต้นทุนกว่า และที่สำคัญคือตู้คอนเทนเนอร์เก่าฟังก์ชันมันก็ยังใช้ได้ การที่เราไปใช้ทรัพยากรใหม่มันก็ไม่ได้จำเป็น
เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ของที่นี่แม้แต่โต๊ะที่เรานั่งกันอยู่ตรงเนี้ย เป็นร้านในอารีย์นั่นแหละ ที่เขาทิ้งแล้ว หรือแบบเวลาเขาเซ้งร้านแล้วใครจะมาเอาก็ไปยกเอง
ผ้าปูของที่นี่เราไม่ได้ใช้สีขาวแบบที่เห็นตามโรงแรมหรือโฮสเทลที่อื่น เราใช้ผ้าที่เป็น Dead Stock หรือผ้าที่เขาผลิตเกิน อันนี้มันก็ทำให้เราประหยัดขึ้น แถมได้ความเก๋ด้วย
’Sustain ต้องไม่ลำบาก และไม่เบียดเบียนความสุขใคร’
การมาที่นี่ก็เหมือนเรากำลังได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะและสร้างความยั่งยืน
ที่นี่ไม่เสิร์ฟน้ำขวด แต่มีตู้น้ำตามจุดต่าง ๆ ให้กดแทน ใครไม่มีขวดก็สามารถมายืมไปใช้ก่อนก็ได้ในขณะที่พักที่นี่ ในแง่ธุรกิจคือประหยัดกว่าเดิมมาก ๆ
รวมไปถึงเรื่องของ Food Waste อย่างมื้อเช้าบุฟเฟ่ต์ ที่นี่เปลี่ยนเป็นการจัดเซ็ตอาหารเช้าให้ ถ้าไม่อิ่มก็มาเติมได้ โยเกิร์ตและแยมที่เสิร์ฟในเซ็ตก็ทำเอง เพราะถ้าซื้อมาเป็นกระปุก แขก 50 คน ก็ 50 กระปุกแล้ว ขยะทั้งนั้นเลย หากกินไม่หมด มีกล่องให้อาหารกระรอกอยู่เอาไปใส่ไว้ได้ หรือไปเทไว้ในส่วนที่ทำปุ๋ย
หลายคนมาว่า Sustain ต้องลดต้องตัดทุกอย่างออก แต่เรายังมีเครื่องทำน้ำอุ่น เราไม่จำกัดเวลาเปิดแอร์ เราไม่อยากเบียดเบียนความสุขของใคร เราก็จะใช้วิธีว่าเราติดแอร์และใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานที่สุด นี่เป็นสิ่งที่เราทำได้
The Yard จะบอกกับแขกเสมอว่าเรากำลังซีเรียสเรื่องอะไร เรากำลังทำแบบนี้เพื่ออะไร เมื่อเราสื่อสาร ลูกค้าทุกคนก็พร้อมเปิดใจและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันในขณะที่พักอยู่ที่นี่
The Yard ไม่ได้อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยว อยู่ในซอยที่เรียกได้ว่าลึกด้วยซ้ำ และราคาก็ไม่ได้เป็นเรตที่ถูกที่สุดในตลาดเมื่อเทียบกับทำเล แต่อะไรที่ทำให้ Occupancy ของเขาสูงถึง 90% ในช่วงโลว์ซีซันและเต็ม 100% ในช่วงไฮซีซัน
คำตอบก็คือ ‘ผู้คน’ สิ่งที่ทำให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกอยากมาที่นี่
’People’
นักธุรกิจหลายคนมักมอง P ในแง่ของ Profit อย่างเดียว แต่ The Yard จะสอนให้เรามองตัว P ตัวนี้ในแง่ ‘People’ และเมื่อเราทำ People ดี Profit ที่เราคาดหวังก็จะตามมา
ที่สำคัญมันช่วยในมุมการตลาดและการสร้างแบรนด์ในธุรกิจด้วย ไอ้คำว่าความยั่งยืน กับ Branding สุดท้ายมันคือเรื่องเดียวกัน
The Yard ถ้าให้แปลเป็นไทย ก็คงเป็นเหมือนบ้านญาติ เราดูแลทุกคนเหมือนญาติ ซึ่งทุกคนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแขกอย่างเดียว แต่ก็รวมไปถึง ‘ทีมงาน’ ด้วย
’Respect Our Staff’ เป็นสิ่งที่เราสื่อสารกับแขกที่มาเสมอ คือให้เขาเคารพในความเป็นเรา เคารพทีมงานของเรา
ถ้าใครเป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก ๆ เราจะรู้กันเลยว่า อัตรา Turnover พนักงานสูงแค่ไหน บางที่ 2 Week ก็ไปแล้ว นั่นคือสิ่งที่เรากลับมานั่งทำการบ้าน ว่าเราจะทำยังไงให้คนที่เข้ามาทำกับเรามีชีวิตที่ดีขึ้น
ที่นี่เราดีไซน์ให้พนักงานทำงาน 13 ช.ม. แล้วหยุดยาวไปเลย 4 วัน ซึ่งมันก็ตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่เขาอยากออกแบบชีวิตด้วยตัวของเขาเอง พอเป็นแบบนี้ เขาก็ไปหาจ๊อบ 2 ได้ถ้าเขาอยากทำ หรือจะไปเที่ยวที่ไหนไกล ๆ ก็ทำได้
พอมันมีอิสระในการทำงาน เด็ก ๆ มีความสุข ผลมันก็ออกในรูปแบบงานบริการที่ดี และที่สำคัญอัตรา Turnover มันก็น้อยลง ที่นี่เปิดมาเป็น 10 ปี พนักงาน 6 ตำแหน่ง มีน้อง ๆ ที่ผ่านจากที่นี่ไปแค่ 25 คนเอง
ที่นี่ตัดเรื่องขาด ลา มาสายไปได้เลย เพราะมีที่พักให้พนักงาน ห้องนอน ซักผ้า อบผ้า ห้องครัว ทำที่นี่ได้หมด คือไม่ต้องออกไปเช่าหออยู่ ไม่ต้องเสียค่าเดินทางเลย จะได้เอาเงินตรงนี้ไปทำอย่างอื่น เลิกงานก็สามารถมา Hangout กับแขกได้ มองในแง่ Business การทำอย่างงี้ยังไงเราก็ Win
The Yard กลายเป็นบ้านที่ทุกคนมาแล้วพร้อมจะเปิดใจ ทุกคนไม่ได้กระอักกระอ่วนในการมาเที่ยวคนเดียว ทุกคนมาที่นี่พร้อมใจที่เปิดในการเรียนรู้ถึงวัฒนธรรม เรียนรู้จากคนใหม่ ๆ The Yard มี Activity กิจกรรมหมุนเวียนอยู่เรื่อย ๆ ให้คนได้มาทำความรู้จักกัน
หลายคนเคยมาที่นี่คนเดียว และกลับมาอีกครั้งพร้อมภรรยาพร้อมลูก บางคนพาพ่อแม่มา บางคนมาเจอคนรักที่นี่และกลับมาจัดงานแต่งงานที่นี่ก็มีเหมือนกัน 😊
กลายเป็นว่า The yard มันเหมือนบ้านญาติที่ไม่ว่าเราจะไปไหนมา กลับมาบ้านญาติมันจะมีความอบอุ่นเสมอ
ทั้งหมดที่ The Yard ทำเขาไม่ได้ทำเพื่อญาติ ณ วันนี้ ที่เป็นลูกค้าและพนักงานเท่านั้น พวกเขายังคิดและทำเพื่อ ‘ญาติในอนาคต’ ด้วย
”ญาติในอนาคตก็คือลูกหลานของญาติในวันนี้เนี่ยแหละ” คุณส้มกล่าว เราทำเรื่องความยั่งยืนจริง ๆ ก็เพื่อลูกหลานในอนาคต เราจะบริหารทรัพยากรยังไงให้พวกเขายังได้ใช้ ให้เลือกไปถึงรุ่นพวกเขา
ความยั่งยืนในมุมธุรกิจโรงแรมมันไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องใช้น้ำให้น้อยลง คุณจะต้องไปรีไซเคิลคุณจะต้องลด Food Waste คุณจะต้องไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอนใหม่ทุกวัน อันนั้นคือเรื่องพื้นฐานโรงแรมที่คุณจะต้องทำอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่ The Yard ทำในมุมความยั่งคือคำว่า Inclusive ไม่ทอดทิ้งใคร เขาดูแลทั้งพนักงาน คนในชุมชน เหมือนครอบครัว การมี The Yard อยู่ทำให้สังคมในอารีย์มันดียิ่งขึ้น นี่คืออีกหนึ่งปัจจัยในเรื่องของความยั่งยืนที่ไม่ค่อยมีใครได้พูดเรื่องเหล่านี้กันซึ่งผลลัพธ์มันสะท้อนออกมาในมุมธุรกิจ 100% เลย
การที่จะทำธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะโฮสต์เทลและได้ Occupancy ระดับ 90 กว่าเปอร์เซ็นตลอดทั้งปีเรียกว่าเป็นไปได้ยากหรือเรียกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะ Marketing ของ The Yard คือ 0 บาท เขาไม่ได้ทำการตลาดด้วยการใส่เงินเลยด้วยซ้ำ แต่เขาทำการตลาดด้วยความใส่ใจ P หรือ People
อันนี้คือสิ่งที่เราอยากให้คนทำธุรกิจได้เรียนรู้ เรามักจะมอง Sustainability ในมุม Planet เราจะมองมุมธุรกิจในมุม P Profit แต่ The Yard จะสอนให้เรามองตัว P ตัวนี้ในแง่ ‘People’ และ P People ที่ดีเนี่ยแหละ จะเทิร์นเป็น P Profit ได้ และจะทำให้ P Planet ของเรายั่งยืนได้
หวังว่าเรื่องราวของ The Yard จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนนะคะ ไว้พบกันใหม่ในบทความหน้า ฝากติดตาม Torpenguin 🐧 ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะคะ
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านบทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ
- earlybkk ร้านกาแฟที่ลดขยะตั้งแต่ก่อสร้างยันเสิร์ฟ และการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมขนาดย่อม ๆ
- จากไส้เดือน สู่ เห็ด เรื่องราวของชายผู้เกิดมาจากหนอน สู่ คนบ้าเห็ด และโอมากาเสะในแบบ ‘โอมากาเห็ด’
- Dots Coffee กับความตั้งใจที่จะเปลี่ยนภาพจำของสังคมที่มีต่อผู้พิการทางสายตา ผ่านธุรกิจกาแฟ
- โต๊ะแดงบ้านอาจ้อ : โมเดลความยั่งยืนของร้านอาหาร บ้าน ชุมชน สู่วันที่กิจการเติบโตมากขึ้น
- รสิก : สนับสนุนวัตถุดิบจากท้องถิ่นทั่วไทย เสิร์ฟเมนูไทยทวิสต์ และเชื่อว่าการรักษามาตรฐานคือหัวใจสำคัญของร้านอาหาร
- Soft Food : สัมผัสนุ่มของอาหาร 4 ระดับ กับโจทย์การเปิดร้านในวันที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย
- 5 a.m. คาเฟ่น้ำเต้าหู้แบบ Specialty กับแนวคิดธุรกิจที่อยากเติบโตไปพร้อมกับย่านปากคลองตลาด
- ‘ข้าวราษฎร์แกง’ เปลี่ยน Pain point ให้เป็นจุดแข็ง กับแนวคิดธุรกิจที่เชื่อว่าเราต้องใส่ใจในสิ่งแวดล้อม สังคม และพนักงาน
- ยักษ์กะโจน ร้านอาหารที่ชวนคนกินมาร่วมแก้ปัญหาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
- Fishmonger ร้านฟิชแอนด์ชิพ ที่เชื่อมคนเมือง กับ ประมงท้องถิ่น ผ่านปลาไทย
- Better Moon café คาเฟ่กรีน ๆ ที่เชื่อว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ กับ ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ สามารถเดินไปด้วยกันได้
- ไสใส บอกเล่าเรื่องราววัตถุดิบท้องถิ่นในไทย ให้เป็นที่รู้จักผ่านน้ำแข็งไส