Mother Roaster ร้านกาแฟของป้าพิม มนุษย์วัยเกษียณที่ไม่เคยหยุดฝัน และมีอีก 167 ล้านสิ่งที่อยากทำ
ถ้าขาดแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่น ธุรกิจก็ไม่เกิด ถ้ามีธุรกิจแต่ขาดแรงบันดาลใจ ในท้ายที่สุดธุรกิจที่เราตั้งต้นมาด้วยไฟโชนแสง ก็อาจต้องปิดตัวลงตามเวลาของมัน
มีคนเคยบอกกับเราว่า ทุกอย่างที่ทำไม่มีอะไรการันตีว่าจะคงอยู่ตลอดไป วันนี้อาจเป็นยุครุ่งเรืองของเรา แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจของเราอาจค่อย ๆ ถูกลืมเลือนไปตามเวลา เช่นเดียวกัน ในวันนี้อาจยังไม่มีใครเห็นในสิ่งที่เราตั้งใจทำ แต่ไม่แน่ว่า 10 ปีข้างหน้า อาจเป็นช่วงเวลาในการ Shining ของเรา
ส่วนระหว่างทาง เป็นส่วนที่เราต้องขบคิด พัฒนา สั่งสมประสบการณ์ เพื่อหล่อหลอมสิ่งที่ทำให้อยู่รอด และดำเนินไปในแบบที่เราอยากเห็น
นั่นทำให้เรานึกไปถึง ป้าพิม – เพลินพิศ เรียนเมฆ นักชงกาแฟวัยเกษียณ ผู้บุกเบิกและปลุกปั้นร้าน ‘Mother Roaster’ จนขยายสาขาได้ถึง 5 สาขา นอกจากนี้ ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงาน Japan Coffee Festival in Bangkok คอยผลักดันวัฒนธรรมกาแฟให้เกิดขึ้น พร้อมกับส่งเสริมกาแฟไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังจัด Workshop สร้างอาชีพให้กับคนหลายวัยมาตลอดกว่า 6 ปี
น่าสนใจว่าชีวิตของป้าพิม ผลิบานอย่างงดงามในวัย 70 ฉนั้นวันนี้ นอกจากการพูดคุยถึงร้าน Mother Roaster เรายังพูดคุยถึงแนวคิดชีวิตหลังเกษียณที่ดำเนินไปและทำทุก ๆ วันให้เป็นวันที่ดีที่สุดเพื่อตัวเอง เพื่อคนรอบข้าง และเพื่อสังคม “เพราะเราไม่รู้ว่าชีวิตจะมีพรุ่งนี้อีกหรือไม่หรือวันสุดท้ายคือเมื่อไหร่”
Roaster
“ป้าเติบโตมาในครอบครัวที่ทำโรงพิมพ์ เราทำหนังสือ ทำนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ พอวันหนึ่งสิ่งพิมพ์ซบเซาลง เพื่อให้อยู่รอดต่อไปก็มาทำนิตยสารเอง แต่เมื่อมาถึงจุดจบของนิตยสาร จึงผันตัวมาทำอย่างอื่น คล้ายเป็นมือปืนรับจ้างทำในสายงานที่ตนถนัด
“ชีวิตมันคือทุกสิ่ง มันคือการดิ้นรนขวนขวายที่ทำให้เราต้องมีความรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มันเลยกลายเป็นนิสัยว่าการทำอะไรก็แล้วแต่ มันคือการทำให้ตัวเองมีมุมมอง มีทักษะในการมองโลกให้มันกว้างขึ้น แล้วมองเห็นประโยชน์ของตัวเองให้มากขึ้น โดยไม่เบียดเบียนใคร
“การเปิดร้านกาแฟ มันเริ่มต้นจากการที่เราชอบดื่มและชงกาแฟทุกวัน ทุกคนในบ้านดื่มกาแฟกันหมด แล้วคนเกษียณทุกคนจะรู้ว่าชีวิตมันว่างเปล่า ป้าไม่ต้องการอยู่บ้านไปวัน ๆ เพื่อรอคอยเวลาแห่งความตาย อยากทำอะไรที่ทำให้เรามีความสุข ได้พบปะผู้คน แลกเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง การใช้ชีวิต ก็เลยกลับมาทำในสิ่งที่ทำได้ คือการชงกาแฟ
“ป้าเปิดมา 6 ปี สาขาที่เพิ่มขึ้นคือเพิ่มตามจำนวนของลูกเพราะจุดเริ่มต้นป้าพิมเริ่มมาจากลูก ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน เราหันไปแล้วยังเห็นเขายืนรออยู่ ทุกสิ่งมันเริ่มจากความรักและการส่งพลังให้กัน การที่เราเปิดร้านแล้วให้เขาเข้าไปดูแลรับผิดชอบ มันคือการสร้างอนาคตร่วมกัน”
เล่าในมุมบริหาร เมื่อการสร้างความแตกต่างคือหัวใจของการทำธุรกิจ Mother Roster ทั้ง 5 สาขาจึงถูกออกแบบให้มี Character แตกต่างกัน เช่น สาขาสุทธิสาร เราจะได้กินกาแฟจากเครื่องชง สาขาตลาดน้อย เราจะได้กินกาแฟที่ชงแบบ Manual สาขาประตูผี เราจะได้กินกาแฟ Drip ซึ่งเป็นกาแฟดำล้วนอย่างเดียว
“แต่ละสาขาจะมีสิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังมีความเป็น ‘Mother Roaster’ อยู่ในนั้น แทรกผ่านรายละเอียดเล็ก ๆ เพราะภาพจำคือสิ่งสำคัญ “
ป้าพิมพูดพร้อมกับหยิบแก้วกาแฟที่มีข้อความว่า ‘coffee not make you sleepless, love do’ ให้เราดูด้วยสายตาเป็นประกาย
แม้จะบอกว่าแต่ละสาขาแตกต่างกัน แต่หนึ่งสิ่งที่เหมือนกันของ ‘Mother Roaster’ ทุกสาขา คือการเสิร์ฟกาแฟแบบไม่ใส่น้ำตาล สำหรับคนที่อยากได้รสหวานเพิ่ม ที่นี่จะใช้วิธีเพิ่มความหวานจากส่วนผสมหลัก เช่นนมก็เลือกแบรนด์ที่มีส่วนผสมเพื่อให้รสเข้ากับกาแฟมาทดแทน เพราะ ‘Mother Roaster’ เริ่มต้นจากคนวัยเกษียณ ที่หวังอยากเห็นคนหนุ่มสาวจนถึงวัยเกษียณด้วยกัน ดื่มกาแฟแล้วยังมีสุขภาพที่ดี
Drip
หนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้ ‘Mother Roaster’ เป็นที่ชื่นชอบทั้งในและนอกประเทศ คือที่นี่เสิร์ฟกาแฟ Specialty มากกว่า 30 ตัว คัดสรรเมล็ดกาแฟดี จากทั่วโลก
“ถ้าคุณจะเปิดร้านกาแฟ สิ่งสำคัญคือ เราต้องกินกาแฟเป็น ต้องเรียนรู้ว่ากาแฟแต่ละชนิดมันมีรสชาติ มีกลิ่น หรือโพรเสส รวมถึงกาแฟที่ปลูกแต่ละถิ่นมันมีความแตกต่างกันยังไง นั่นคือสิ่งที่เราควรรู้เป็นอันดับแรกสำหรับการจะเป็นคนชงกาแฟ
“ถึงเราจะมีเงินจ้างบาริสต้าค่สตัวสูง แต่ถ้าไม่สามารถบอกเขาได้ว่าอยากให้ร้านเราเป็นแบบไหน มีความโดดเด่นหรือแตกต่างจากร้านอื่นอย่างไร มันก็คงยากที่จะเติบโตอย่างที่เราอยากให้เป็น” ป้าพิมบอกกับเรา
เมื่อ ‘Mother Roaster’ เริ่มเข้าที่เข้าทาง ป้าพิมจึงไม่ได้สวมหมวกนักชงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหมวกอีกใบคือการเป็นผู้จัดงานกาแฟในรูปแบบการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการชงและการดื่มกาแฟ อย่างงานแรกที่เริ่มต้น คืองาน Japan Coffee Festival in Bangkok และยังคงจัด Workshop ให้กับผู้เกษียณหรือผู้สนใจทั่วไป รวมถึงการเดินทางไปพบปะแฟน ๆ ในสถานที่ต่าง ๆ ที่ถูกชักชวนอย่างสม่ำเสมอ
“‘Japan Coffee Festival in Bangkok’ เกิดจากการชวนบาริสต้าของญี่ปุ่นทั้ง 15 ร้านมาที่เมืองไทย ให้คนดื่มกาแฟได้เห็นวิธีการชงที่แตกต่าง รวมถึงวัฒนธรรมการดื่มที่มีความแตกต่างกัน เช่น วิธีการดริปกาแฟของบ้านเราจะเป็นการค่อย ๆ ริน แต่ญี่ปุ่นเขาจะใช้วิธีค่อย ๆ หยดไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถจับเวลาได้ว่าเขาหยดไปกี่ครั้ง และหยดนานแค่ไหน ซึ่งแต่ละคนก็ไม่ได้ใช้วิธีเดียวกันทั้งหมด มีหลากแบบ มีการใช้อุปกรณ์ในการชงที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อความนุ่มลึกและกลิ่นหรือรสที่แตกต่างกันด้วย”
“ป้าอยากวางมือจากทุกสิ่งเพื่ออยู่อย่างเงียบ ๆ แต่เงียบ ๆ ของป้า คือไม่ได้ยืนอยู่หลังบาร์เพื่อชงกาแฟในทุกวัน แต่หากเมื่อใดที่มีคนยังอยากจะมาพูดคุย เติมพลัง แลกเปลี่ยนความคิด แบ่งปันความรู้ที่มีอยู่อย่างน้อยนิดในเรื่องกาแฟ หรือแนวทางการใช้ชีวิตในวัยเกษียณก็ยังยินดีอยู่ แต่ในแง่ของการทำธุรกิจอาจจะเบา ๆ ลง ไม่ใช่หมด Passion นะ แต่เราอยากผันตัวไปต่อยอดในสิ่งที่เราอยากทำ เพราะคิดว่ายังสามารถทำอะไรได้อีกตั้งหลายอย่างที่จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ใคร ๆ ที่สนใจ
Sip
ดอกไม้แต่ละชนิดผลิบานในฤดูกาลของมัน ตัวเลขไม่ใช่เรื่องใหญ่หากเทียบกับทั้งชีวิต – คิมรันโด ผู้เขียนหนังสือเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด
หากเปรียบอายุ 80 เป็นเวลา 24 ชั่วโมงอย่างในหนังสือเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด อายุ 75 นับเป็นช่วงเวลาที่อีกเพียงไม่นานก็จะข้ามไปอีกวันใหม่แล้ว
“ป้าดีใจที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนได้เริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆได้
“ไม่ว่าจะเด็ก หนุ่มสาวหรือใครก็ตามแต่ ทุกคนยังสามารถเติบโตหรือต่อยอดสิ่งที่กำลังทำได้ ป้าเองยังเริ่มต้นตอนอายุใกล้ 70 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าเปิดร้านปุ๊บแล้วจะประสบความสำเร็จในช่วงข้ามคืน มันอาจจะยากลำบากหรือต้องพ่ายแพ้
“ที่สำคัญที่สุด เราต้องคอยทบทวนตลอดว่าความสำเร็จของเราคืออะไร
“ทุกคนมีความฝันของตัวเอง สำคัญอยู่ที่ว่าคุณทิ้งความฝันของคุณหรือเปล่า คุณมีใจ มีพลัง มีความสามารถพอที่จะดึงฝันมาอยู่กับคุณได้หรือเปล่า ทำสำเร็จหรือไม่ แต่ถ้าไม่ก็ไปเริ่มต้นใหม่ อย่าท้อ อย่าถอย ถึงต้องถอยก็เพื่อมาตั้งหลักใหม่ให้มั่นคงขึ้น แต่อย่าวิ่งหนีหรือล้มเลิกกลางทางเสียก่อน
“ตราบใดที่เราล้มเลิกมันจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ
“สำคัญที่สุดคืออย่าเสียความเป็นตัวของตัวเอง รักษามาตรฐานของเราไว้ให้ดี รสชาติเคยเป็นยังไงก็ควรเป็นอย่างนั้น มีความเสมอต้นเสมอปลาย สำหรับป้าลูกค้าอาจไม่ได้เป็นพระเจ้า แต่เราก็ควรดูแลเขาเป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดความผิดหวังที่ได้เดินเข้ามาหาเรา”
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
35 Dry Aged Beef ร้านเนื้อดรายเอจจาก Passion กับแนวคิดธุรกิจเล็กพริกขี้หนู
‘เจดีย์’ คาเฟ่ที่ตั้งใจเป็น Healing Space กับการจัดสรรพื้นที่ทุกสัดส่วนให้สร้างรายได้
สุดฤทธิ์น่าน ร้านกาแฟที่ตั้งใจผลักดันกาแฟมณีพฤกษ์จากน่าน ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
ปั้นลี่เบเกอรี่ ร้านขนมอายุ 70 ปี ที่ขอมีแค่ 1 สาขาตลอดไป