มองย้อนกลับไปช่วงโควิดถือได้ว่าเป็นจุดล้ม จุดพัก และจุดเริ่มต้นของใครหลาย ๆ คนในวงการธุรกิจเลยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งร้านที่เราจะพูดถึงกันวันนี้ก็เช่นกันครับ วันนี้ผมจะพาทุกคนมานั่งพูดคุย และทำความรู้จักกับ คุณเบส-ณัฐธนนท์ สิทธิปัญญพัฒน์ เจ้าของร้าน Lucky’s Hungry AFR ข้าวผัดอเมริกัน ซึ่งเป็นร้านข้าวผัดอเมริกันแบบเดลิเวอรี เจ้าของไวรัลที่เราอาจจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง กับรูปข้าวผัดอเมริกันที่ดูน่ากินแบบสุด ๆ ไปเลย
Lucky’s Hungry ข้าวผัดอเมริกันเดลิเวอรี
ต้องบอกเลยว่า Lucky’s Hungry และตัวคุณเบสเองมีมุมมองเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจมาก ๆ ผมเชื่อว่านี่จะเป็นบทเรียนที่ดีอย่างมากเลยทีเดียว สำหรับคนทำร้านอาหารเอง รวมถึงน้องใหม่ที่กำลังอยากจะก้าวเข้ามาในธุรกิจร้านอาหารด้วยเช่นกัน
เดิมทีคุณเบสเปิดร้านอาหารและร้านกินดื่มที่เชียงใหม่มาก่อน แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่เข้ามาทำให้คุณเบสได้รับผลกระทบอย่างหนัก ยื้อกันอยู่สักพัก แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจพักทุกอย่างแล้วกลับมาที่กรุงเทพฯ พอเริ่มตั้งหลักได้แล้ว บวกกับการที่ใจยังคงมีความอยากทำร้านอาหารอยู่ จึงตัดสินใจทำร้านอาหารอีกครั้ง แต่คราวนี้มาในรูปแบบเดลิเวอรีแทน คุณเบสเริ่มต้นทำโอเด้งหม่าล่าในแอปฯ เดลิเวอรีดู ปรากฎว่าผลตอบรับดีเลยทีเดียว
แต่พอทำได้ไปสักระยะหนึ่งโควิดเริ่มซา ประเทศไทยเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งทำให้คนเริ่มออกไปกินข้าวนอกบ้านกันมากยิ่งขึ้น บทบาทร้านเดลิเวอรีก็ถูกลดลง ส่งผลให้ยอดขายลดลงตามไปด้วย คุณเบสและเพื่อนเลยต้องปรับตัวกันอีกครั้ง หาเมนูใหม่มาทำ และก็มาตกลงปลงใจกันที่ “ข้าวผัดอเมริกัน” เมนูบ้าน ๆ ที่พวกเขาชอบทำทานกันเองอยู่แล้ว โดยเริ่มขายแบบเล็ก ๆ ขำ ๆ ในแอปฯ เดลิเวอรีดูก่อน แต่กลับได้ยอดขายกลับมา 4,000 บาท เลยขยับมาขายแบบจริงจังในที่สุด
การขายเมนูเดียวในร้านอาหารเป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงอยู่พอสมควรเลย อย่างที่เราทราบกันดี คุณเบสให้เหตุผลที่เลือก “ข้าวผัดอเมริกัน” ไว้ว่า เพราะคุณเบสมีการประเมินตัวเองก่อนว่าตัวเราเองมีข้อจำกัดอะไร ข้อจำกัดในการทำอาหารของคุณเบส คือ ต้องเป็นเมนูที่สามารถทำโดยใช้คนน้อยและทำออกมาได้เยอะ จัดการได้ง่าย Workflow ดี
ซึ่งคุณเบสเองพอจะมีประสบการณ์ทำอาหารมาหลากหลาย ประสบการณ์เหล่านั้นทำให้รู้ทั้งระบบการจัดการ การบริการและการทำงานครัวเป็นอย่างดี เลยทราบดีว่าข้าวหน้าต่าง ๆ เป็นอาหารที่คนชอบทานแล้วเข้าเกณฑ์ที่คุณเบสต้องการ อีกสิ่งที่ต้องหาก็คือเมนูไหนที่คนน่าจะสนใจและยังไม่มีใครทำมากนัก สุดท้ายก็มาจบที่เลือกเมนูที่ตัวเองชอบ เพราะถ้าไม่ชอบก็จะไม่อินไปกับมันจนสามารถทำได้นาน ๆ นั่นเอง
และอย่างที่เราทราบกันดีข้าวผัดอเมริกันนั้น มีรูปแบบที่เรียกได้ว่าเหมือนเดิมตลอด ข้าว ลูกเกด ไก่ทอด ไส้กรอก ไข่ดาว ทั้งที่จริง ๆ มีคนไม่ชอบกินลูกเกด ไม่ชอบทานมะเขือเทศ บางคนเกลียดถั่วลันเตา แล้วทำไมเราไม่ทำให้มัน Full Feel มากกว่านี้ล่ะ?
พอคิดได้แบบนั้นคุณเบสและเพื่อนได้หยิบเมนูนี้มาปัดฝุ่นมันใหม่ ให้ลูกค้าสามารถเพิ่มนู้น ลดนี่ ใส่นั่นลงไป มันก็กลายเป็นข้าวอเมริกันแบบ good old day ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากให้เป็น และผลตอบรับออกมาก็ดีมาก ๆ ด้วย ลูกค้าสนุกกับการเลือกมาก แต่ละกล่องนอกจากชุดปกติก็คละกันมากตามที่ลูกค้าอยากกิน ช่วงไหนของหมดก็มีลูกค้าโทรมาอยากให้เปิดขายไว ๆ
สำหรับที่มาของชื่อLucky’s Hungry มาจาก Passion ของคุณเบสเอง เนื่องจากเคยล้มในการทำธุรกิจมาหลายครั้ง ตอนที่คุณเบสตัดสินใจกลับมาที่กรุงเทพฯ เพื่อทำร้านอาหารใหม่ ตอนนั้นก็ยังรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จนกระทั่งวันหนึ่งคุณเบสไปทำอาหารให้เพื่อนที่ป่วยจนไม่ยอมทานอะไรเลย แล้วเพื่อนกินจนหมดจานพร้อมกับพูดว่า “โชคดีจังที่รู้จักคุณเบส”
ความรู้สึก “โชคดี” ของเพื่อนทำให้เห็นคุณค่าในตัวเอง
จนมาเป็น Lucky’s Hungry
ไม่ใช่การออกไปแสวงหาความร่ำรวยแต่ คือการที่เราสร้าง ‘คุณค่า’ ให้ใครบางคนรับรู้ถึงมันได้ ความรู้สึกนี้จึงกลายเป็นเป้าหมายของร้านที่คุณเบสและทีมยึดถือมาตลอดว่า “เราจะทำอาหารให้ทุกคนมีความสุข” ให้ได้
“การทำร้านแบบเดลิเวอรีบอกเลยว่ายาก! ยากกว่าที่หลาย ๆ คนคิด” บางคนอาจคิดว่าทำเดลิเวอรีง่ายดี ไม่ต้องมีหน้าร้าน แต่ความยากก็คือร้านของเราจะกลายเป็นหนึ่งในอีกหลายพันร้านที่ลูกค้าจะเลื่อนผ่านไปในตอนที่เขาไม่ได้มีเป้าหมายที่อยากจะทานอะไรเป็นพิเศษ ดังนั้น การทำให้ลูกค้าสนใจร้าน การทำให้ลูกค้ามาซื้อเราก็ยาก แต่ที่ยากที่สุดคือทำให้เขากลับมาซื้อร้านเราซ้ำอีก เพราะลูกค้าไม่มีโอกาสมารับบริการจากร้านทำให้เราไม่สามารถดูแลลูกค้าได้โดยตรง มันเลยเหลือแค่ตัว “อาหาร” เท่านั้นที่จะดึงดูดลูกค้าให้เขากลับมาทานซ้ำกับเรา
“หน้าตาอาหารเลยจำเป็นต้องสวย” อันนี้สำคัญเลย เพื่อให้ลูกค้าถ่ายภาพลงโซเชียลแล้วทำให้คนอื่นเห็นร้านเราเพิ่มขึ้น
การจัดการหลังร้านก็ยากเหมือนกัน เพราะแต่ละเมนูก็แตกต่างกันออกไป เพราะเราให้ลูกค้าเลือกเองว่าเขาอยากกินอะไร บางคนไม่เอาลูกเกด บางคนเอาแฮม บางคนไม่เอาไส้กรอก ซึ่งมีเรื่องจุกจิกเยอะเหมือนกัน อีกทั้งเมื่อไม่มีหน้าร้านระยะเวลาในการสั่งอาหารก็มีจำกัดเช่นกัน เช่น ขายดีเฉพาะช่วงเวลา 11.00-13.00 น.ก็หมดแล้ว และมาสั่งอีกทีช่วงเย็นไปเลย โจทย์ก็คือทำอย่างไรให้ช่วงเวลานั้นเราขายได้มากที่สุด
สิ่งที่คุณเบสให้ความสำคัญมากในการทำเดลิเวอรีก็คือ คุณภาพและความซื่อสัตย์ สิ่งที่เราถ่ายทอดไปลูกค้าต้องได้รับสิ่งนั้นไปด้วย ถ้าลูกค้าคาดหวังอะไรเราก็ควรมอบสิ่งนั้นให้เขาได้ แม้จะไม่ 100% แต่คุณภาพของวัตถุดิบที่เลือกใช้ต้องดีที่สุด หากวัตถุดิบมีกลิ่นไม่ดีต้องทิ้งเลย อย่าเสียดาย ถ้าเสียดายเราต้องไปบริหารการจัดเก็บให้ดี ส่วนเรื่องความซื่อสัตย์ ลูกค้าสั่งอะไรเราต้องให้ลูกค้าตามนั้นหรือทำให้ได้เกินความคาดหมายของเขายิ่งดี ถ้าเกิดเรื่องผิดพลาดก็พร้อมรับผิดชอบเต็มที่ นี่คือความซื่อสัตย์ที่คุณเบสทำกับลูกค้าเสมอมา
พอทำเดลิเวอรีโอกาสที่จะใช้การบริการเพื่อจับใจเขาแทบจะไม่มีเลย ดังนั้นการที่เรามีช่องทางที่เราสามารถพูดคุยและสื่อสารกับพวกเขาได้ถือว่าจำเป็นอย่างมาก การที่เราและลูกค้าพูดคุยกันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างลูกค้า แบรนด์ และเจ้าของร้านได้เป็นอย่างดี
ก้าวต่อไปของLucky’s Hungry คือ การทำให้ข้าวผัดอเมริกันกลายเป็นอาหารจานเดียวที่คนไทยทานได้ทุกวัน แบบข้าวผัดกะเพรา ข้าวหมูกระเทียมที่สั่งได้ทุกวัน และอาจจะมีแพลนเปิดหน้าร้านสักแห่งเป็นแบบ Eateria สไตล์อเมริกันที่คนสามารถเข้ามานั่งทาน ซุป สลัด มิลค์เชคได้
ความสุขในการทำร้านอาหารของคุณเบส คือ “ความสุขที่ลูกค้าได้ทานอาหารของเรา” ได้รับ comment ว่าอาหารอร่อย ลูกค้าบางคนมาจากสิงห์บุรีบอกว่าตามมาตั้งแต่เราทำร้านอาหารที่เชียงใหม่ หรือลูกค้ามีลูกที่ทานยากมากแต่ทานอาหารร้านเราหมดเลย มันทำให้เห็นว่าอาหารของเราเป็นส่วนนึงของความสุขของเขา เท่านี้ก็ดีแล้วครับ
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin – ผู้ชายขายบริการ
Website : Torpenguin
Instargram : torpenguin
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คิดแบบ Sushiro ร้านซูชิสายพานที่ใช้ทุกอย่างในร้านเก็บข้อมูลลูกค้า ยันทำคอนเทนต์
เช็กเลย! คุณกำลัง ลดต้นทุนร้านอาหาร แบบผิด ๆ อยู่หรือเปล่า?
ถอดบทเรียน พี่เขียวข้าวเหนียวห่อ ทำคอนเทนต์ยังไงให้ปังบน TikTok
เจ้าของธุรกิจ ไม่ได้เป็นง่ายอย่างที่คิด 5 สิ่งที่ เจ้าของกิจการต้องรู้ดีที่สุด
วิธีบริหารคน แบบฉบับ McDonald’s ทำอย่างไร ถึงสร้างมาตรฐานเหมือนกันทุกสาขาทั่วโลก