ถ้าอยากรู้ว่าภูเก็ตมีรสชาติแบบไหน ก็ต้องแวะมาที่ จุ้ยตี๋ (Juitee Bangkok)
จุ้ยตี๋ ที่นี่เป็นร้านขนมหวานที่ขายขนมหวานพื้นเมืองทวิสต์จากภูเก็ต ยกร้านมาจากภูเก็ต และขายโดยคนภูเก็ต ที่ชื่อ ภูเก็ต – ขันธจีรวัฒน์ อดแซวไม่ได้เลยว่า ‘ภูเก็ต’ อยู่ในทุก ๆ ส่วนของจุ้ยตี๋จริง ๆ
คุณภูเก็ตบอกกับเราว่า ความตั้งใจหนึ่งอย่างที่เขาอยากเห็นจากการยกจุ้ยตี๋มาไว้ที่ถนนเจริญกรุง คือการที่ร้านแห่งนี้สามารถเป็น Appetizer ให้กับคนที่อยากทำความรู้จักภูเก็ตผ่านขนมหวานพื้นเมือง ที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวจีนฮกเกี้ยน ผสานเข้ากับเอกลักษณ์แบบไทย ๆ ผสมความโมเดิร์น ออกมาเป็น โอ้เอ๋ว อาโป้ง น้ำส้มควาย และอีกหลากหลายเมนูที่รอการค้นพบจากผู้แวะเวียน
ยกภูเก็ตมาไว้บนถนนแบบตะวันตกสายแรกของไทย
ย้อนกลับไปในปี 2019 ปีที่ทั่วโลกเหมือนถูกแช่แข็งเพราะการระบาดของโควิด – 19 คุณภูเก็ต และพี่สาวของเขาตัดสินใจสร้างแบรนด์จุ้ยตี๋ขึ้นมา และเปิดขายสินค้าผ่าน Instagram
“จุ้ยตี๋เป็นคาเฟ่ขนมหวานที่ผมเริ่มทำกับพี่สาว ในปี 2019 โดยเราทำเป็นคราฟต์พุดดิ้งสไตล์ญี่ปุ่นแล้วขายผ่านไอจี ซึ่งผมจะช่วยดูเรื่องการขาย แพคเกจจิ้ง การโฆษณา และการขาย”
เมื่อเริ่มสร้างฐานลูกค้าได้ในระยะหนึ่ง คุณภูเก็ตและพี่สาวก็ตัดสินใจเปิดคาเฟ่ที่ภูเก็ต แล้วเพิ่ม Line product ในร้าน แต่เพราะค่าเช่าที่ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จุ้ยตี๋ภูเก็ต จึงเหลือไว้เพียงเมนูทีรามิสุ (Tiramisu) ให้คนได้ตามไปทานที่ร้านไม้น้ำช็อปเฮาส์ (Mai Nam Shophouse) ร้านกาแฟและขนมหวานในตึกสไตล์ชิโน – ยูโรเปียน ในย่านเมืองเก่าของภูเก็ต
เมื่อจุ้ยตี๋ที่ภูเก็ตต้องปิดตัวลง คุณภูเก็ตซึ่งเคยมาเรียนต่อที่กรุงเทพ ฯ และใช้ชีวิตอยู่ในย่านบางรัก เจริญกรุงมาหลายปี จึงถือโอกาสนี้หยิบของดีจากภูเก็ตมาไว้ที่ถนนเจริญกรุง ย่านที่เต็มไปด้วยศิลปะ วัฒนธรรม เสน่ห์เมืองเก่า รวมถึงร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีตั้งแต่คนรุ่นเก๋าถึงวัยหนุ่มสาว จนกลายเป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ
“เจริญกรุงเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม เป็นสถานที่ที่คนเริ่มมาเที่ยว อีกส่วนคือการที่ผมได้อยู่ทั้งกรุงเทพ ฯ และภูเก็ต เราสัมผัสว่าคนกรุงเทพ ฯ เขามีมุมมองว่าภูเก็ตเป็นเมืองที่ไกล ผมก็เลยอยากให้เขามีประสบการณ์ง่ายขึ้น โดยการวันหยุดเสาร์อาทิตย์เขาก็อาจจะมาชิมขนมภูเก็ตแถวเจริญกรุง แล้วในอนาคตเขาก็อาจจะมาเที่ยวภูเก็ตด้วย”
“ตัวขนมเราก็ใส่องค์ประกอบความเป็นภูเก็ตเข้าไป อย่างเมนูอาโป้ง จะเหมือนขนมทอดกรอบ คล้าย ๆ กับทองม้วน เหลือเจ้า Original ที่ภูเก็ตเพียง 2 – 3 เจ้า เราอยากหยิบมาเล่าไหม่ในรูปแบบที่เข้าถึงง่ายขึ้น เลยออกแบบให้เป็นเมนูที่คล้ายกับเครปญี่ปุ่น”
“หรืออย่างส้มควายที่เราเอามาทำเครื่องดื่ม ก็เป็นพืชของทางใต้ที่คนใต้นิยมนำมาทำแกงส้ม ต้มส้มปลาทู ซึ่งเราก็เอามาทวิสต์ใหม่เป็นเครื่องดื่มที่มอบความรู้สึกแปลกใหม่ให้คนได้ลอง”
จากภูเก็ตสู่ถนนเจริญกรุง จุ้ยตี๋ไม่เพียงเสิร์ฟภูเก็ตผ่านเมนูขนมหวาน แต่ยังเสิร์ฟเสน่ห์และกลิ่นอายของเยาวราชด้วยการหยิบวัตถุดิบมาใส่ในเมนู ‘โอ้เอ๋วเจริญกรุง’ ไม่ว่าจะเป็นดอกหอมหมื่นลี้ เก๊กฮวย ลำไย ขาดไม่ได้คือน้ำเชื่อมที่เชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
จากภูเก็ตมากรุงเทพ ฯ มีความยากง่ายยังไงบ้าง – เราสงสัย
“ผมว่า Location ที่ภูเก็ตซึ่งอยู่ใกล้เมืองเก่าจะมีความเป็นนักท่องเที่ยวเยอะกว่า ราคา กับการนำเสนอมันจะต่างกับที่นี่ ที่เจริญกรุงผมสัมผัสได้คือจะเป็นคนไทยที่ออกมาเดินเที่ยวในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ การสื่อสารในสิ่งที่เราทำ มันก็จะไม่เหมือนกัน ราคาเองก็ไม่เหมือนกัน”
เมื่อเมนูขนมทำถึงแล้ว การสื่อสารแบรนด์ก็ต้องถึงด้วย
ในมุมมองของเรา จุ้ยตี๋ เป็นแบรนด์ที่โดดเด่นเรื่องการสร้างคาแรคเตอร์ และการสื่อสารแบรนด์ที่ทำให้รู้สึกสนุกเพียงแค่หยุดมอง จึงนำไปสู่ข้อสงสัยว่าจุ้ยตี๋ปั้นแบรนด์ยังไง จึงทำให้สามารถสื่อสารคาแรคเตอร์ได้ชัดเจนขนาดนี้
“เรามองว่าแบรนด์ดิ้งสำคัญกับการทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ในประเทศไทยมีร้านอาหารเยอะมาก แต่ละคนก็มีการสื่อสารต่างกัน แบรนด์จะบอกว่าเราเป็นแบบนี้ มีไลฟ์สไตล์แบบนี้ แล้วลูกค้าที่เขารู้สึกเชื่อมโยงกับเราเขาจะเข้ามาหาเรา”
“คำว่าจุ้ยตี๋ เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนแปลว่า บ่อน้ำหลังบ้าน สื่อถึงความสดชื่น เราก็เลยแทนด้วยเด็กที่มีความน่ารักสดใส ให้คนที่มาทานรู้สึกเหมือนอย่างที่น้องจุ้ยตี๋รู้สึก”
สำหรับร้านที่กำลังหลงทาง และไม่รู้ว่าจะหยิบจุดเด่นของร้านส่วนไหนมาสร้างคาแรคเตอร์ให้แตกต่างจากร้านอื่น ๆ คุณภูเก็ตได้ฝากเทคนิคของเขาไว้กับเราดังนี้
Step 1 : กำหนด Personal ของแบรนด์ แล้วนำ Personal นี้ไปอยู่ในทุกอณูของร้าน
“จุ้ยตี๋ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากน้อง เวลาเราสื่อสารเราก็จะนึกถึงบุคคลคนนั่น หรือไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ก็จะนึกถึงบุคลิกคนคนนั้น เป็นการสร้างภาพจำโดยอิงจากบุคคล”
Step 2 : สำรวจดูรอบ ๆ ว่ามีคนทำแบรนด์ด้งประเภทเดียวกับเราไหม
“ถ้ารู้ว่ามีคนที่ทำแบรนด์ดิ้งคล้าย ๆ เราอยู่เยอะ เราต้องกลับมาทบทวนว่ายังจะมี Personalityแบบนั้นอีกไหม เพราะมันอาจถูกกลืนไปกับคนอื่น ๆ สมมติว่าถ้าคนบริเวณที่เราอยู่เขาเป็นคนที่ตลกกันหมด เราก็ต้องเป็นคนขึมประมาณนั้นครับ” – หัวเราะ
Step 3 : พูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ให้คนจำได้
“ถ้าคาแรคเตอร์ของผมเป็นคนสนุก ผมก็ต้องถ่ายทอดความสนุกสนานอย่างต่อเนื่องให้คนจำได้ว่าผมเป็นคนสนุก หรือผมเป็นคนกวน ผมก็ต้องกวนเยอะ ๆ เป็นเรื่องของความต่อเนื่องครับ
คงเหมือนกับการทำความรู้จักใครสักคน ทุกคนมีแพทเทิร์นการใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง เราเจอกันครั้งเดียวก็คงยังไม่รู้ว่าคนนี้มีแพทเทิร์นแบบไหน รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนไหนที่เขาให้ความสำคัญ แต่เมื่อเจอบ่อยเข้า ก็จะเริ่มจดจำจนถึงสามารถพยากรณ์สิ่งที่คนคนนั้นกำลังจะทำ ได้อย่างง่ายดาย
โจทย์ใหม่ของธุรกิจคือการเป็น Everyday dessert
การผจญภัยของจุ้ยตี๋ที่ถนนเจรญกรุงพึ่งผ่านมาเพียง 6 เดือน ใน 6 เดือนนี้ คุณภูเก็ตคอยเก็บ Data และสำรวจพฤติกรรมของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำกลับมาปรับปรุง พัฒนากลยุทธ์สินค้า รวมถึงการสื่อสารแบรนด์เพื่อเข้าไปนั่งในใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
“ตอนนี้คนเริ่มรู้จักเราในฐานะที่เป็นของหวานภูเก็ต เราเลยมองว่าในอนาคตเราอยากให้คนจำเราในฐานะขนมหวานภูเก็ตแต่เป็นในแบบที่แมสขึ้น มีเมนูที่คนทานได้บ่อยขึ้น มีความหลากหลายของรสชาติทมากขึ้นและเป็นรสชาติที่คนทานกันอยู่แล้ว เช่น ชาไทย สังขยาใบเตย”
แอบมาสปอยว่าเร็ว ๆ นี้ที่จุ้ยตี๋กำลังจะมีเมนู Phuket Kaya Toast โดยจะเป็นการมาเจอกันระหว่างขนมปัง และสังขยาภูเก็ตแหละ จะสนุกยังไงก็ต้องตามไปพิสูจน์ที่ร้านจุ้ยตี๋นะ!!
พร้อมกันนี้ จุ้ยตี๋ก็กำลังจะขยับเวลาขนมหวานมาเป็นตอนกลางคืนให้มากขึ้น เพราะเล็งเห็นว่าย่านเจริญกรุงเป็นย่านที่แม้จะมืดแล้ว ย่านแห่งนี้ก็ยังไม่หลับไหล รวมถึงผู้คนในย่านยังสัญจรผ่านไปมาอย่างครึกครื้น
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : @torpenguin
YouTube: Torpenguin
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
Mother Roaster ร้านกาแฟของป้าพิม มนุษย์วัยเกษียณที่ไม่เคยหยุดฝัน และมีอีก 167 ล้านสิ่งที่อยากทำ
สุดฤทธิ์น่าน ร้านกาแฟที่ตั้งใจผลักดันกาแฟมณีพฤกษ์จากน่าน ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
หอมรัญจวน กับการเริ่มทำคาเฟ่ขนมไทยในวันที่ไม่มีใครให้เดินตาม
Better Moon café คาเฟ่กรีน ๆ ที่เชื่อว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ กับ ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ สามารถเดินไปด้วยกันได้