Gimme the Farm ร้านอาหารฮาลาลลับ ๆ กับกลยุทธ์ปั้นร้านให้อยู่มากว่า 10 ปี ในทำเลที่ตาย
เปิดร้านลับ ๆ ยังไงให้อยู่รอดมากว่า 10 ปี ?
โดยทั่วไปธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมักเริ่มจากการเลือกทำเล แล้วกำหนดกลุ่มเป้าหมาย แต่ในยุคที่ Social Media เข้ามาอยู่ในทุกช่วงเวลาของการใช้ชีวิต โอกาสที่ผู้คนเห็นร้านที่เปิดแบบลับ ๆ จึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ Word of mouth เพียงอย่างเดียว แต่ยังย้ายไปเป็นในรูปแบบออนไลน์ด้วย
เทรนด์การเปิดร้านลับ ๆ แบบไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทำเลจึงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เกิดเป็นกระแสร้านลับ ที่แม้บางร้านอาจไม่ลับ แต่การห้อยท้ายก็ทำให้ผู้คนสนใจมากขึ้น แต่ใช่ว่าทุกร้านที่เปิดแบบลับ ๆ จะอยู่รอดได้ เพราะมีตัวแปรหลายอย่างมาก ๆ โดยเฉพาะการแข่งขันที่สูงขึ้น
นั่นทำให้เราส่งสัยว่า คุณกิม – ชาญยุทธ เกษมภักดี เจ้าของร้าน Gimme the Farm ร้านอาหารฮาลาลที่เสิร์ฟอาหารฮาลาลในหน้าตาอาหารทั่วไป และเปิดในทำเลที่ตายสุดลับ บริหารร้านด้วยกลยุทธ์ไหนจึงทำให้ Gimme the Farm มีผู้คนเดินทางมาแวะเวียนเข้ามาไม่ขาด
Start with pain (point)
จุดเริ่มต้นของ Gimme the Farm เริ่มจากการที่คุณกิมมักจะพักผ่อนจากงานประจำด้วยการดินทางไปซึมซับธรรมชาติ เมื่อไปหลาย ๆ ที่ เขาจึงเริ่มมีความคิดอยากสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง เขาจึงปลูกผักสลัดในบ้าน และเปิดขายแบบ Pre – order ให้กับเพื่อนร่วมงาน
เมื่อเสียงตอบรับดี เขาจึงเริ่มพัฒนาเมนูอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเปิดเป็นร้านอาหารให้ลูกค้าเข้ามาสัมผัสประสบการณ์การทานแบบใกล้ชิดแปลงผัดสลัดที่ตนกำลังทานอยู่ แน่นอนว่าการทำแบบนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นไอเดียที่ใหม่มาก
แต่อีกส่วนสำคัญที่เหนือไปกว่านั้น คุณกิมมีเป้าหมายในการเปิดร้านเพื่อแก้ Pain point ของอาหารฮาลาล
“ความหลากหลายของเมนูฮาลาลยังมีไม่มาก และวนเวียนอยู่ที่เดิม ในขณะที่อาหารของคนทั่วไปมีตัวเลือกเยอะมาก เช่น ข้าวหมูแดง ข้าวขาหมู เราก็อยากทานด้วยเช่นกัน จึงพัฒนาเมนูโดยใช้วัตถุดิบแบบฮาลาล มาทำให้เป็นเมนูแบบคนทั่วไป”
นั่นทำให้ Gimme the Farm เสิร์ฟบะหมี่เนื้อแดง ในรูปแบบบะหมี่หมูแดง รวมถึงข้าวขาเนื้อ ในหน้าตาข้าวขาหมู ซึ่งหากไม่บอก ก็แทบจะแยกไม่ออกเลยว่าใช้วัตถุดิบและส่วนผสมแบบฮาลาล
Experience is king
เพราะ Gimme the Farm เป็นร้านอาหารฮาลาลแบบลับ ๆ ชนิดที่หากไม่เปิด Google Map ควบคู่ ก็อาจมาไม่ถึง คุณกิมจึงมองว่า
“การเปิดร้านลับ ๆ เราต้องมี Unique selling Point ที่ไม่ว่าทางจะลำบากแค่ไหนก็อยากมาทาน มาลองสักครั้ง และต้องตอบให้ได้ว่าทำไมลูกค้าต้องมาที่นี่ ต้องสร้างมาตรฐานให้คงที่เพื่อจะทำให้ลูกค้าติดใจ”
“เพราะหัวใจสำคัญของการเป็นร้านลับ คือการทำให้ลูกค้าอยากกลับมา และการทำให้ลูกค้าอยากบอกต่อร้านของเรา”
“ถัดมาเป็นการพัฒนา Product อยู่ตลอดเวลา ออกเมนูใหม่ที่ทำให้ลูกค้าว้าวอยู่เสมอ ส่วนตัวเราก็เป็นลูกค้าร้านตัวเองอยู่แล้วว่าเราอยากทานอันนี้ แต่เราทานไม่ได้ เราลองมาปรับสูตรให้มุสลิมทานได้ แต่ว่ารสชาติยังถูกปากคนทั่วไปด้วย”
ปัจจุบันนี้ลูกค้าไม่ได้มองหาความอร่อยเพียงอย่างเดียว แต่มองหาประสบการณ์ (Experience) บางอย่างควบคู่ไปด้วย สำหรับ Gimme the Farm ประสบการณ์ของลูกค้าเริ่มต้นตั้งแต่การเดินทางมาที่ร้าน ที่ต้องลัดเลาะเข้ามาในซอยแคบ ๆ
หรือหากมาอีกด้าน ฝั่งทางเข้าด้านหน้าเป็นอาคารธรรมดา แต่หากเข้ามาด้านใน เราจะได้เจอกับร้านอาหารที่ใช้บ้านสองชั้นมา Renovate จนมีบรรยากาศอุ่น ๆ สไตล์โฮมมี่ให้กับผู้แวะเวียน
คุณกิมเล่าว่า Gimme the Farm ตั้งใจเป็นร้านที่ให้ผู้คนมาใช้เวลาร่วมกัน ตั้งแต่การใช้เวลาร่วมกับกลุ่มเพื่อน ใช่เวลาร่วมกันกับครอบครัว คนรัก ตลอด 10 ปี เขาเห็นภาพผู้คนที่แวะเวียนเข้ามามากมาย บางคนเมื่อก่อนยังใส่ชุดนักเรียน ตอนนี้กลับมาพร้อมกับครอบครัวแล้ว
“ความสุขในการทำร้านของเรามันคือการที่เราเสิร์ฟแล้วลูกค้าชมว่าอร่อย ได้เห็นพนักงานทำงานในบรรยากาศดี ๆ มันเป็นกำลังใจของเราอย่างหนึ่งนะ” คุณกิมพูดด้วยรอยยิ้ม
Gimme the Farm
แม้ตอนนี้ Gimme the Farm จะยกฟาร์มไปไว้ที่พระราม 2 เนื่องจากจำเป็นต้องใช้พื้นที่มากขึ้นในการปลูก แต่ที่นี่ก็ยังคงบรรยากาศแบบธรรมชาติ ที่มีสีน้ำตาล และสีเขียวแซมอยู่ในทุกจุดที่สายตาทอดมอง
หากพนักงานประจำอยากเริ่มทำร้านอาหาร คำแนะนำอะไรที่เราอยากบอกกับพวกเขา – เราถาม
“บางทีคนเราจะทำอะไรมันเป็นเป้าหมาย 90% ดวง 10% อย่างเราโชคดีที่เปิดที่บ้านได้
“สำหรับคนที่ทำงานประจำแล้วอยากออกมาเปิดร้านอาหาร เราแนะนำให้ทำงานประจำควบคู่ไปด้วยเพื่อประเมินศักยภาพของธุรกิจ แต่มันจะเหนื่อยมากเพราะต้องใช้สมอง 2 ส่วน ต้องคิดงานที่ร้าน และต้องคิดงานที่ออฟฟิศ
“แต่เดี๋ยวมันจะเห็นผลครับ”
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านต่อบทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ
รู้งี้ Slowbar กับการทำ TikTok ยังไงให้คนตามไปกิน แม้ทำเลเข้าถึงยาก
หมูสองชั้น ความสำเร็จจากเชียงใหม่ กับการเป็นผู้เล่นใหม่ในกรุงเทพ ฯ บนทำเลสุดหิน
กู่หลงเปา ซาลาเปาสูตร 100 ปี กับการปรับโมเดลธุรกิจให้ร่วมสมัย ที่มีลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ
ปั้นลี่เบเกอรี่ ร้านขนมอายุ 70 ปี ที่ขอมีแค่ 1 สาขาตลอดไป