Dots Coffee กับความตั้งใจที่จะเปลี่ยนภาพจำของสังคมที่มีต่อผู้พิการทางสายตา ผ่านธุรกิจกาแฟ
วันนี้ผมได้มีโอกาสมาคุยกับคุณกาวิน – กาวิน ควงปาริชาติ หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน Dots Coffee ร้านกาแฟที่ไม่ใช่แค่กาแฟที่ทำให้หลายคนตาสว่าง แต่ยังมีเรื่องราวหลาย ๆ เรื่องที่ทำให้เราได้ตกตะกอนความคิดเกี่ยวกับเรื่องของกลุ่มคนที่เราอาจหลงลืมไปอย่าง ‘ผู้พิการ’ ในสังคมได้มากเลยทีเดีย
คุณกาวินนั้นเติบโตที่อเมริกา แต่เมื่อเรียนจบจึงเดินทางกลับมาทำงานที่เมืองไทย โดยเริ่มทำงานกับองค์กร NGO ที่เกี่ยวกับการพัฒนาชนบท ส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านในต่างจังหวัด คุณกาวินทำงานอยู่ที่นี่ประมาณ 3-4 ปี ก่อนจะตัดสินใจบินไปศึกษาต่อที่อเมริกา จนเรียนจบ MBA ในที่สุด
ในช่วงเรียนจบ คุณจูเลียนเพื่อนที่รู้จักกันมาเกือบ 10 ปี ของคุณกาวินได้เล่าไอเดียร้านกาแฟนี้ให้ฟัง เราฟังแล้วก็สนใจ คุณจูเลียนก็ชักชวนให้มาเป็น founder ที่ Dots Coffee ด้วยกัน นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้น
เริ่มต้นจากที่คุณจูเลียนเคยเปิดร้านอาหาร D.I.D หรือ Dine in Dark ซึ่งคอนเซปต์ของร้านคือ ลูกค้าจะเข้าไปทานอาหารในห้องมืดที่ไม่เห็นอะไรเลยแม้กระทั่งอาหารที่เสิร์ฟลูกค้าก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะได้ทานอะไร โดยในร้านอาหารจะมีพนักงานหรือที่ร้านจะเรียกว่า “ไกด์” ที่เป็นคนพิการทางสายตา คอยนำทางและบริการลูกค้าอยู่ในร้าน
ทั้งหมดนี้ทำเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงโลกของคนที่ตามองไม่เห็นว่า คนพิการทางสายตานั้นมีความสามารถที่สังคมยังไม่เห็นอีกเยอะ ซึ่งร้าน D.I.D เปิดอยู่ในโรงแรมระดับ 5 ดาวและได้ผลตอบรับดีมากด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดของราคา ทำเล และความต่อเนื่องของคนที่เข้ามาใช้บริการทำให้ร้าน D.I.D อาจจะเติบโตได้ยาก
แนวคิดการทำร้าน D.I.D นั้นทำให้คุณกาวินหันกลับมามองปัญหาในสังคมไทยที่ผู้พิการทางสายตานั้นไม่มีโอกาสในการทำงานเท่ากับคนทั่วไป
“ส่วนมากพวกเขาจะทำงานนอกระบบ อย่างขายลอตเตอรี่ เปิดหมวกร้องเพลง น้อยมากครับที่จะอยู่ในระบบ หรือแม้ว่าจะอยู่ในระบบก็จริงแต่ตำแหน่งที่พวกเขาได้รับส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สร้าง Value ให้กับองค์กรขนาดนั้น การเติบโตในสายอาชีพเหล่านั้นแทบจะไม่มีเลย ถึงมีก็มีน้อยกว่าคนทั่วไป ” คุณกาวินกล่าว
“จุดนี้แหละที่ผมคิดว่า ’การทำธุรกิจ’ นั้นตอบโจทย์ที่สุด” เพราะการทำธุรกิจเราสามารถทำให้คนอื่นเห็นให้ได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นมีศักยภาพในการทำงาน
ไม่ใช่แค่ทำให้เห็นว่าพวกเขาผ่านการเทรนนิ่งมาเป็นอย่างดีเพียงเท่านั้น แต่ผู้พิการจะได้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ และสร้างผลกำไรได้จริง ๆ เพื่อเป็นโมเดลให้นายจ้างคนอื่นได้เห็นและมั่นใจว่าพวกเขาสามารถจ้างผู้พิการทางสายตาได้
จึงเกิดเป็นไอเดียที่อยากจะต่อยอดร้านอาหารที่ให้โอกาสผู้พิการทางสายตาได้เข้ามาทำงานนั่นเอง
ปิดมาแล้ว 5 ปี ปีแรกนั่นค่อนข้างลำบากเลยทีเดียว
เนื่องจากเป็นร้านแรกที่ให้คนพิการทางสายตาเข้ามาทำงาน มันยากตรงที่ไม่มีต้นแบบ คือตอนนั้นมันใหม่มาก เรามีความเชื่อมั่นว่าพวกเขาทำได้แน่ ๆ แต่ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้จะต้องทำยังไง คุณกาวินเองก็ต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูกกับการทำระบบในร้านจนกระทั่งสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้
ส่วนเรื่องการฝึกน้อง ๆ พนักงานทางร้านจะแบ่งออกเป็น 2 อย่างก็คือ อย่างแรกของเรื่องทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้เรื่องกาแฟ เพื่อเวลาที่พนักงานให้บริการกับลูกค้าจะได้ตอบคำถามลูกค้าได้ และยังช่วยโปรโมทคุณสมบัติของกาแฟในร้านอีกด้วย อย่างที่ 2 คือภาคปฏิบัติ ในการใช้งานเครื่อง การทำกาแฟ จัดของ เตรียมร้าน
ซึ่งแม้ร้าน Dots Coffee จะเป็นคนนำร่องการนำผู้พิการทางสายตาเข้ามาทำงานในระบบ และในอนาคตเองคุณกาวินก็ตั้งใจอยากจะขยายสาขาออกไปให้มากที่สุด เพื่อจะได้เพิ่มโอกาสในการทำงานให้กับผู้พิการทางสายตามากขึ้น เพื่อให้ทุกคนคุ้นชินกับความสามารถที่คนพิการทางสายตาสามารถทำได้ รวมไปถึงเจ้าของธุรกิจคนอื่น ๆ อาจจะสนใจอยากจะมอบงานให้กับคนเหล่านี้ดู
เหมือนกับว่าสังคมปิดตาคนทั่วไปอย่างเราเช่นกัน ทำให้หลายคนหลงลืมว่าผู้พิการก็มีศักยภาพไม่แพ้กับคนทั่วไป พวกเขาไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่ต้องการความเข้าใจและการให้โอกาส และพวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นเดียวกับผมและคุณ การมาที่ร้าน Dots Coffee นั้นทำให้เราตาสว่างในเรื่องนี้จริง ๆ
เป็นอีกหนึ่งร้านคุณภาพที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่านได้นะคะ มีแนวคิดหลายอย่างที่คนทำร้านอาหารอย่างเราสามารถนำไปต่อยอดได้ไม่ยากเลย 😊 ไว้พบกันใหม่ในบทความหน้า ฝากติดตาม Torpenguin 🐧 ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะคะ
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านบทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ
- Phed Phed อาณาจักรความแซ่บ ร้านอาหารอีสานที่ยืนหยัดในความเป็นตัวเอง อาศัยปากต่อปากจนเปิด 6 สาขาได้ใน 6 ปี
- ประชาคาเฟ่ เปลี่ยนโรงพิมพ์ 70 ปี เป็นคาเฟ่สร้างคอมมูนิตี้ ยกระดับชุมชนเก่าตลาดพลู
- ‘ข้าวราษฎร์แกง’ เปลี่ยน Pain point ให้เป็นจุดแข็ง กับแนวคิดธุรกิจที่เชื่อว่าเราต้องใส่ใจในสิ่งแวดล้อม สังคม และพนักงาน
- ยักษ์กะโจน ร้านอาหารที่ชวนคนกินมาร่วมแก้ปัญหาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
- Fishmonger ร้านฟิชแอนด์ชิพ ที่เชื่อมคนเมือง กับ ประมงท้องถิ่น ผ่านปลาไทย
- Better Moon café คาเฟ่กรีน ๆ ที่เชื่อว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ กับ ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ สามารถเดินไปด้วยกันได้