รู้ทันกลโกงพนักงาน ที่กว่าจะรู้ตัวอาจสายเกินไป
ต้องบอกก่อนเลยว่า ไม่มีทางไหนที่จะสามารถป้องกันการทุจริตได้ 100% และถ้าร้านไหนที่คิดว่าร้านเราไม่มีการทุจริตแน่นอน นั่นอาจจะเป็นเพราะคุณอาจยังไม่รู้ว่าเกิดการทุจริตก็เป็นได้
แต่ถ้าคุณไม่เริ่มนับหนึ่งในการสนใจเรื่องเหล่านี้ ต่อให้คุณขายของดีแค่ไหน ได้กำไรมามากแค่ไหน ถ้าคนในร้านของคุณจ้องแต่จะทุจริต เงินที่คุณอุตส่าห์หามาแทบตาย มาหายออกไปแบบไม่รู้ตัวไม่นานร้านคุณคงแย่แน่ ๆ
ซึ่งวิธีการที่พนักงานของร้านจะทุจริตนั้นมีหลากหลายวิธีการ ไม่ว่าจะด้วยตัวคนเดียวหรือเป็นทีม ซึ่งวิธีการที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง วันนี้จะพาไปดูกัน ขอเริ่มแบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ ดังนี้เลย
ทุจริจภายในร้าน
– ขโมยเงินค่าวัตถุดิบ
หากร้านคุณใช้วิธีเอาเงินสดให้พนักงานไปซื้อของที่ตลาด คุณจะมั่นใจได้ยังไงว่าราคาที่พนักงานซื้อจะใช่ราคาขายของร้านนั้นจริง ๆ หรือค่ารถที่พนักงานบอกคุณจะตรงกับความเป็นจริง ยิ่งราคาผักที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วันด้วยแล้ว หากพนักงานทุจริตเงินคุณไป 200 บาท คุณแทบจะไม่สามารถรู้ได้เลย แต่เกิดเค้าทำแบบนี้มาเป็นระยะเวลา 1 ปี คุณลองคิดดูว่ากำไรคุณจะหายไปเท่าไหร่
– ขโมยเงินจากยอดขายของร้าน
หากร้านอาหารคุณไม่ได้ทำการติดตั้งระบบคิดเงิน (POS) และไม่มีนับปริมาณอาหารหรือจำนวนเมนูที่ขายไปแต่ละวันแล้วนั้น คุณจะไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าจริงๆแล้ววันนี้คุณขายได้ยอดขายเท่าไหร่กันแน่ เพราะมันง่ายมากที่แคชเชียร์จะเก็บเงินเข้ากระเป๋าตัวเองเมื่อลูกค้าจ่ายเป็นเงินสด
– การ void เพื่อเก็บส่วนต่าง
ในกรณีที่ร้านคุณมีระบบ POS ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางเกิดการทุจริต โดยมากเจ้าของร้านจะมอบหมายให้ผู้จัดการร้านหรือแคชเชียร์เป็นคนที่สามารถคิดเงินหรือใช้ระบบ POS เท่านั้น และใน POS นั้นจะมีฟังก์ชั่นให้สามารถ Void หรือยกเลิกบิลได้ ในกรณี เช่น ลูกค้าย้ายโต๊ะ คิดเงินลูกค้าผิด สั่งเมนูผิด
แต่นั่นก็เท่ากับคุณเปิดโอกาสให้พนักงานทุจริตด้วยเช่นกันหากระบบ POS นั้นไม่สามารถจำกัดสิทธิ์การ Void หรือรายงานการ Void ทุกครั้งได้
ยกตัวอย่างเช่น พนักงานคิดเงินลูกค้าปกติ 6 เมนูเป็นเงิน 900 บาท แต่พอถึงเวลาเก็บเงินพนักงานอาจจะทำการ Void ออกไป 1 เมนู แล้วใส่เงินลงในเก๊ะเพียงแค่ 700 บาท โดยคุณก็ไม่มีทางรู้ว่าที่ยกเลิกไปนั้นเพราะ คิดเงินลูกค้าผิด อาหารมาไม่ครบ หรือลูกค้ายกเลิกเมนูนั้นได้เลย
– ขโมยเงิน petty cash
ทุกร้านอาหารที่เจ้าของร้านไม่ได้อยู่เฝ้าร้านเองตลอดเวลาจะมีการทิ้งเงินสดย่อยหรือ Petty cash ไว้ให้พนักงานเผื่อใช้จ่ายในค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ไม่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายปกติ ซึ่งในหลายๆครั้งค่าใช้จ่ายเหล่านี้มักจะไม่มีบิลหรือมีบิลออกมาในรูปแบบของบิลเงินสดซึ่งพนักงานสามารถเมคขึ้นมาได้เอง ทำให้เป็นอีกช่องทางที่จะง่ายต่อการทุจริต
– แอบกินวัตถุดิบ
การแอบกินวัตถุดิบของร้านถือเป็นการทุจริตประเภทนึง ถึงแม้คุณอาจปิดหูปิดตาเพราะมองว่าคงเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากทำติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และมีจำนวนหลายคนแล้วย่อมทำให้ร้านคุณสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมากได้เลย
– ขโมยวัตถุดิบออกไปขาย
คุณคงนึกว่าคงจะมีแต่พนักงานหน้าร้านที่จับเงินเท่านั้นถึงมีโอกาสที่จะทุจริตได้ แต่ในความจริงแล้วพนักงานครัวก็สามารถทุจริตได้เช่นกัน และของที่มีมูลค่าสูงที่สุดในร้านอาหารของคุณก็คือตัววัตถุดิบที่เอง
เทคนิคง่ายๆ ในการขโมยวัตถุดิบในร้านคือ การขโมยวัตถุดิบใส่กระเป๋าหรืออาจจะใส่ถุงดำเพื่อนำไปทิ้ง แล้วค่อยไปแกะออกมาตอนออกนอกร้านภายหลังและนำไปขายต่อ คุณก็แทบไม่มีทางตรวจสอบได้เลย หากคุณไม่ทำการตรวจนับสต๊อกว่าสอดคล้องกับยอดขายของคุณหรือเปล่า
หลาย ๆ ร้านอาหารต่างประเทศจึงเปลี่ยนถุงขยะจากถุงดำเป็นถุงใสเพื่อที่จะได้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น
– ทุจริตเป็นขบวนการ
การทุจริตโดยมีการร่วมมือกันระหว่างพนักงานในร้านเป็นสิ่งที่ตรวจสอบได้ยากที่สุด ยิ่งถ้ามีการรู้เห็นระหว่างพนักงานหน้าบ้านและหลังบ้านแล้ว จะเป็นเรื่องยากที่ร้านอาหารจะสามารถตรวจพบเจอการทุจริต
ยิ่งร้านอย่างเราๆที่ไม่ได้มีฝ่ายตรวจสอบหรือเก็บข้อมูลการขายหรือตรวจเช็ควัตถุดิบอย่างต่อเนื่องแล้ว กว่าจะรู้ว่าร้านเราถูกทุจริตบางครั้งก็อาจจะสายเกินไปที่จะจับคนผิดหรือได้เงินคืน
รู้เห็นกับซัพพลายเออร์
– ขอค่าคอมมิสชั่นจากซัพพลายเออร์
ร้านยิ่งมีสาขาเยอะยิ่งขายดี ย่อมเป็นร้านที่ซัพฯทุกคนอยากจะเข้ามาขายของ บางครั้งแค่สามารถขายวัตถุดิบได้เพียงตัวเดียวอาจสร้างยอดได้เป็นแสน ๆ ต่อเดือน
เมื่อไหร่ที่ซัพฯ เป็นฝ่ายติดต่อมาหาร้านแล้วต้องผ่านเชฟหรือจัดซื้อ ก็จะมีโอกาสที่จะถูกขอค่าคอมมิชชั่นโดยอาจขอเป็นเงินก้อน ซึ่งจะเป็นการกินสั้นแต่กินเยอะ
– กินส่วนต่างของราคาโดยรู้เห็นกับซัพพลายเออร์
อีกวิธีการที่พบได้บ่อย ๆ คือการกินส่วนต่างจากราคาค่าวัตถุดิบทีละนิดๆ ซึ่งจะเป็นการกินน้อยแต่กินยาว และวิธีการนี้จะสามารถตรวจสอบได้ยากมากเพราะบางครั้งราคาอาจแตกต่างจากราคาตลาดเพียง 3-5% เท่านั้น ทำให้ยากต่อการสังเกต
เช่น สมมุติว่าปลาแซลมอนราคาปกติอยู่ที่กิโลกรัมละ 350 บาท เชฟคุณหรือจัดซื้ออาจตกลงกับทางซัพฯ โดยขอเพิ่มอีก 10 บาทต่อกิโลในทุกครั้งที่สั่งซื้อ กลายเป็นว่าร้านคุณต้องซื้อปลาในราคาโลละ 360 บาททันที และเชฟหรือจัดซื้อก็จะได้เงินเข้ากระเป๋าทุกเดือนไปเรื่อย ๆ
จริง ๆ แล้ววิธีหรือเทคนิคหลัก ๆ ในการทุจริตนั้นมีอยู่ไม่กี่รูปแบบ ซึ่งถ้าหากเจ้าของร้าน รู้ทันกลโกงพนักงาน เหล่านี้ก็จะช่วยสามารถวางแผนป้องกันการเกิดการทุจริตลงไปได้มากเลยทีเดียว
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประการทุกท่านนะคะ ฝากติดตาม Torpenguin ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 😊
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ
- ลูกน้องเป็นคนแบบไหนในที่ทำงาน เข้าใจลูกน้องมากขึ้น ผ่าน DISC Model
- วิธีลดต้นทุนแรงงาน ลดยังไงให้เพิ่มกำไรไม่ลดคุณภาพ
- ร้านเราควรใช้พนักงานกี่คน? วิธีหาจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับงาน ยอดขาย และการบริการ
- Sense of Purpose ทฤษฎีสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน แม้ไฟในใจมอดก็ยังอยากทำงานให้สำเร็จ
- เทรนพนักงานด้วย 70 20 10 เทคนิคที่องค์ชั้นนำใช้เพิ่มศักยภาพให้กับคนในองค์กร
- สร้าง Growth Mindset ให้พนักงาน เจ้าของร้านสามารถทำยังไงได้บ้าง?
- ลูกน้องดี ๆ แบบไหนที่เราเจ้าของธุรกิจควรรักษาไว้ให้ได้
- สื่อสารข้ามเจน ให้ไม่มีติดขัด ด้วยหลัก 4E
- เพิ่มยอดขายด้วยพนักงาน ง่าย ๆ แค่เทรนนิ่งให้ถูกวิธี