earlybkk

earlybkk ร้านกาแฟที่ลดขยะตั้งแต่ก่อสร้างยันเสิร์ฟ และการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมขนาดย่อม ๆ

 

”ถ้าเราสร้างร้านขึ้นมา ยังไงเราก็สร้างขยะ”

 

earlybkk

 

นี่คือสิ่งแรกที่คุณกิ๊ฟ – กรัณฑารณ์ ธนะกวินวัจน์ และ คุณเค-เคฑิตา ชัยศักดิ์ศิริ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ earlybkk คิดไม่ตกตั้งแต่ก่อนเริ่ม คำถามต่อมาคือ จะทำยังไงให้การสร้างร้านครั้งนี้มันลดขยะ และด้วยสิ่งนี้เองจึงเกิดเป็นคอนเซปต์ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำร้านคือ ‘ลด ก่อน เริ่ม’

‘เอาขยะมาทำเป็นร้าน’

ตั้งแต่เริ่มต้น earlybkk เอาขยะเข้ามาอยู่ในการดีไซน์ร้าน ส่วนไหนใช้ขยะได้ก็จะพยายามเอามาใช้ในกระบวนการก่อสร้างให้ได้มากที่สุด อย่างเช่น แผ่นกล่องนมที่ใช้ในร้านก็คือเป็นกล่องนม 100% ไม่ได้มีการอัดกาวเลย เป็นการอัดด้วยความร้อน ขวดสีชาที่นำมาตกแต่งร้าน ที่เป็นฟาซาด รวมไปถึงบนเคาเตอร์ อย่างพื้นที่ร้านเองก็เป็นกระเบื้องดินเผาของไทยเนี่ยแหละที่ช่วยเรื่องความเย็นในร้าน และทำให้เราไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ทั้งวัน

คุณกิ๊ฟมองว่าของเหล่านี้ที่หลายคนให้ค่าว่าเป็นเพียงแค่ขยะ มันยังใช้ได้ มันยังมีคุณค่า เพียงแต่เราไม่เคยหยิบมันมาเล่าเรื่องก็เท่านั้นเอง

หากเราเดินขึ้นชั้นสอง เราจะเจอกับเหล่าต้นไม้จริง และบรรยากาศที่สว่างน่านั่งจากหลังคาใส ที่นอกจากจะช่วยเรื่องแสงสว่างแล้ว ยังเป็นการเลี้ยงต้นไม้ไปด้วยในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้บนหลังคาก็ยังมีโซล่าเซลล์ด้วย เพื่อดึงแสงอาทิตย์เข้ามาใช้งานในตอนกลางวัน เพราะว่าอย่างร้านกาแฟเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ไฟไม่ได้ และเราก็คำนวณดูแล้วว่าคุ้มต่อเดือนที่ลดค่าไฟ เลยตัดสินใจติด

 

โรงเรียนจัดการสิ่งแวดล้อมย่อม ๆ

 

อีกเหตุผลนึงของการนำขยะมาทำร้าน คือการอยากให้คนทั่วไปรู้ว่าของรีไซเคิลมันใช้งานได้ และมันทนกว่าที่คิด

“เราลองให้แล้ว และมันใช้งานได้จริง ๆ ”

ของบางอย่างที่เราไม่ชัวร์ว่าจะเอามาใช้ได้มั้ย คุณกิ๊ฟและคุณเคเลยนำของเหล่านั้นมาทดลองใช้กันเองในห้องทดลองแห่งนี้

 

earlybkk

 

เราสังเกตเห็นแก้วสำหรับนั่งทานในร้าน ที่ปกติเราไม่เคยเห็นร้านคาเฟ่ใช้ จึงได้ถามคุณกิ๊ฟเรื่องนี้

คุณกิ๊ฟเล่าให้ฟังว่าจริง ๆ กลับมานั่งสังเกตดูในยุคตอนที่ก่อนเปิดร้าน ทุกร้านจะนิยมใช้แก้ว Takeaway เสิร์ฟลูกค้าไม่ว่าลูกค้าจะนั่งกินที่ร้าน หรือสั่งกลับบ้าน

แต่พอมาลองนั่งคิดดี ๆ จริง ๆ แล้วเราควรจะมีแก้วทานที่ร้านนะ เพราะว่าเรากินเสร็จแล้วเนี่ยมันก็ล้างแล้วเอากลับมาใช้ซ้ำได้

ที่ earlybkk จะถามลูกค้าก่อนเสมอว่าทานที่ร้านหรือรับกลับบ้าน เพราะลูกค้าบางคนก็ไม่ได้คิดเรื่องนี้เหมือนกัน ถ้าเราถามก็เหมือนเป็นการสะกิดให้ลูกค้าได้หยุดคิด และเป็นการเชิญชวนเขานิดนึง ว่าอ๋อจริง ๆ เราก็นั่งทานที่ร้านเลยก็ได้แปปเดียวก็หมดแล้ว

แก้วที่ใช้ที่นี่เป็นแก้วสแตนเลตซะส่วนใหญ่ เวลาเสิร์ฟก็เสิร์ฟพร้อมกับแผ่นจานรองแก้วก็ทำจากฝาขวดพลาสติก แล้วก็ช้อนคน

ถ้าลูกค้ากินไม่หมด หรือต้อง Takeaway ที่ร้านเองก็มีแก้วกลับบ้านที่ย่อยสลายได้ได้จริง ไม่ใช่แก้วฟอกเขียวอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องของหลอดเราก็มีค่ะ แต่จะเก็บเอาไว้ไม่ได้เอาออกมาวางไว้ อยากให้ลูกค้าเป็นคน Request

ถามว่าทำไมต้องทำแบบนั้น ? คุณกิ๊ฟบอกว่าเพราะบางครั้งพฤติกรรมมนุษย์ทั่วไปบางทีเราเห็นแล้วเราหยิบ เราไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าเราต้องใช้จริง ๆ รึเปล่า อีกนัยก็คืออยากให้ลูกค้าได้คิดก่อน

ถ้าลูกค้าขอก็คือหยิบให้ เพราะถ้าเขาขอเนี่ยแสดงว่าเขาผ่านการคิดแล้วว่าเขาต้องใช้ ทิชชู่ก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน เราไม่ได้วางกระจายไว้ทั่วร้าน เอาวางไว้แค่จุดเดียว

ตัดไปที่เมนูต่าง ๆ ภายในร้าน คุณกิ๊ฟและคุณเค เห็นพ้องต้องกันว่า ‘เราจะไม่ตกแต่งอะไรเกินความจำเป็นในจานและในแก้วเครื่องดื่ม’ นอกจากของตกแต่งที่ใช้จะต้องทานได้ทั้งหมด นั่นทำให้สิ่งที่ต้องเหลือทิ้งที่ร้านในแต่ละวันเนี่ยน้อยมาก ๆ เฉลี่ยไม่ถึง 1 กก. ด้วยซ้ำ

 

earlybkk

 

พูดมาถึงเรื่องขยะแล้ว ที่ร้าน earlybkk เองก็แยกขยะด้วยเหมือนกัน แยกทุกประเภท อย่างถ้าเป็นอาหารก็จะถูกส่งไป 2 ทาง 1 ก็คือทำปุ๋ย 2 ก็คือส่งให้ Jaikla เอาไปเลี้ยงแมลงต่อเพื่อทำโปรตีนแมลงแล้วก็ผลิตเป็นขนมน้องหมา ที่ทางร้านเองก็มีขายเหมือนกัน

ขยะอื่น ๆ ก็จะล้างตากแห้งทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นถุง ขวดนม กล่องนมทุกอันล้างสะอาดทั้งหมดตากแห้ง แล้วถึงนำไปส่งรีไซเคิล สาเหตุหลักที่ต้องล้าง ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างถุงแกงเปื้อน กับ ถุงแกงล้างสะอาด ปลายทางก็ไม่เหมือนกันแล้ว กระบวนการรีไซเคิลมันต้องสะอาด ถุงแกงเปื้อนต้องส่งเผาหมดเลย

“ซึ่งเรารู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่ล้างแล้วการไปต่อของมันน่ะจะมีประโยชน์มาก” เราคิดแบบนี้

 

 

‘Coffee and Community’ ภาพแรกที่อยากให้ earlybkk เป็นแบบนั้น และค่อย ๆ ก่อร่างสร้าง Awareness เรื่องความยั่งยืนให้กับทุกคน

จริง ๆ ลูกค้าที่มาที่ร้านบางทีแบบนั่งแต่เช้าถึงเย็นกาแฟแก้วเดียวแต่เรานั่งคุยกันแบบคุยกันไปเรื่อย ๆ พอเขามาบ่อย ๆ เขาก็จะเริ่มถามเริ่มเรื่องในร้าน เฮ้ยอันนี้มันคืออะไร กล่องนมทำแบบนั้นได้ด้วยหรอ พอเราได้เอาความรู้เหล่านี้ออกไปให้เขา มันทำให้เขาอยากรู้มากขึ้นและก็เข้าใจมากขึ้น

 

 

พนักงานไม่เข้าใจ

 

earlybkk

 

แม้ Vision ของคุณกิ๊ฟและคุณเคเองจะเป็นอะไรที่ดีมาก ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะอินกับสิ่งนี้ พนักงานเองส่วนมากไม่เคยแยกขยะมาก่อน คำถามที่ว่า ‘ทำไปทำไม’ และความไม่เข้าใจกับสิ่งที่ต้องทำเกิดขึ้นแน่นอน

สิ่งที่ต้องทำคือการ ‘สร้างความเข้าใจ’ โดยเริ่มอธิบายว่าทำไมต้องทำ มันเป็นแบบนี้ ต้องทำอย่างนี้ การเทรนนิ่งสำคัญมาก ๆ ยิ่งกับเรื่องนี้ ต้องปรับกันตั้งแต่ Mindset เลย

และ Inspiration บางครั้งก็ไม่พอ เราต้องมีการอัดฉีดด้วย คุณกิ๊ฟเรียกสิ่งนี้ว่า ‘เบี้ยแยกขยะ’ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเด็ก ๆ ในร้าน

ทุกวันนี้คุณกิ๊ฟเองสามารถปล่อยมือจากตรงนี้ได้แล้วพนักงานจัดการกันเองเรียบร้อย

 

 

ร้านอาหารต้นแบบของกทม.

 

 

ล่าสุดนี้ earlybkk พึ่งได้รับรางวัลร้านอาหารต้นแบบของกทม. ในเรื่องของการแยกขยะ คุณกิ๊ฟเล่าต่ออีกนิดว่าหลังกลับมาจากการรับรางวัล น้อง ๆ ที่ร้านดีใจกันทุกคนเลย ว่าสิ่งที่เราทำไปมันมีความหมาย

คุณค่าและความหมายของสิ่งที่ทำ เรื่องนี้สำคัญเลย พอทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เราทำมีคนเห็น และมันมีประโยชน์ ทุกคนจะเริ่มอินกับเรื่องนั้น ๆ และอยากทำให้ดีขึ้นไปอีก

 

 

จากร้านสู่บ้านลูกค้า

 

นอกจากฝั่งที่เป็นร้านกาแฟแล้ว ที่นี่ยังมีอีกฟากที่เป็นโซน ECO อีก ไม่ว่าจะเป็น ราวเสื้อมือสองทั้งของตัวคุณกิ๊ฟเองและของลูกค้าที่มาฝากกันไว้ อย่างที่เราทราบกันว่าธุรกิจเสื้อผ้าเป็นอีก 1 ธุรกิจที่ค่อนข้างกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด พอกับธุรกิจอาหารเลย ส่วนนี้ลูกค้า Enjoy กว่าที่คิดเลย นอกจากมีการนำมาฝากไว้ ยังมีการ swap เอาของมาแลกกันอีกด้วย

 

earlybkk

อีกจุดที่สนุกไม่แพ้กันเลยคือ โซน Refill Station ทุกอย่างที่ให้เติมที่นี่เป็นออร์แกนิค 100% ขายขั้นต่ำ 1 ลิตรแล้วก็ตวงให้ลูกค้าใส่ขวดที่เขาเตรียมมากลับบ้านไปโดยที่เราไม่ต้องเพิ่มขยะไม่ต้อง

แล้วก็โซนข้าวของเครื่องใช้ มีทั้งแรปขี้ผึ้ง กล่องข้าว แก้ว บางทีลูกค้าก็มาซื้อกล่องจากโซนนี้ซื้อของจากที่ร้านกลับไปกินที่บ้านก็มี

แล้วก็มีส่วนที่เราสนับสนุนองค์กรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างทีม Plas-Tao เขาเก็บขยะในเกาะเต่าแล้วก็เอามาทำเป็นพวกของใช้ต่าง ๆ มีที่เปิดขวด ตะขอแคมปิ้ง จานรองแก้ว

โซนนี้คือมันเวิร์คมากเลยกับร้านกาแฟในเวลาที่ลูกค้ามายืนรอกาแฟเขาก็จะเพลินไปด้วยแล้วก็สร้างรายได้ให้ร้านด้วย ลูกค้าก็จะมีอย่างอื่นให้ดูด้วย

 

 

สิ่งได้กลับมาที่มากกว่าการช่วยสิ่งแวดล้อม

 

 

หลายคนอาจอยากรู้ว่าการทำแบบนี้ได้อะไร? นอกจากการช่วยสิ่งแวดล้อมแล้ว ได้หน้า ได้ภาพ เราจะได้อะไรจากการทำเรื่องเหล่านี้?

นี่ไงครับ สิ่งที่คุณกำลังอ่านอยู่ มีสื่อไปสัมภาษณ์ มีมีเดียออกไปถ่ายทำที่ร้าน คุณได้ Engagement ฟรี ๆ ลูกค้าอยากไปตลอด ทั้ง ๆ ที่ทำเลของเขาจริง ๆ ไม่ได้ถือว่าเป็นทำเลที่ดีเลย เขาเรียกที่ตาย คือ มันอยู่ในหมู่บ้านที่ไม่ทะลุไปไหนไม่ได้ด้วย ฉะนั้นคนจะต้องตั้งใจไปจริง ๆ

ซึ่งถ้าเรามองดี ๆ ร้านก็ได้ในเชิงจุดขายที่แตกต่างหรือ Unique Selling Point คนมากินก็ได้กาแฟที่ดี ได้บรรยากาศที่ดี ได้เรียนรู้สิ่งที่ดี โลกก็ได้การสร้างขยะที่น้อยลง

สุดท้ายทุกคนได้หมดเลย มันไม่มีใครเสีย

 

earlybkk

 

เราเห็นว่าสิ่งที่เขาพยายามทำ เขาไม่ได้แค่ทำเพื่อตัวเขาเองอย่างเดียว แต่เขาพยายามทำร้านกาแฟเพื่อเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ในจัดการสิ่งแวดล้อมขนาดย่อม ๆ ให้ลูกค้าได้มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ร่วมถึงพวกเราทีมงาน Torpenguin ด้วย

มันเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลสังคม แต่ละมุมของ earlybkk ไม่ว่าจะเป็นงานดีไซน์ อุปกรณ์ หรือวิธีการต่าง ๆ ในร้านมันจะสื่อสารบางอย่างออกมาเพื่อให้คนได้เรียนรู้เรื่องนั้นให้เกิด awareness ในเรื่องนั้นมากยิ่งขึ้น

 

และนี่ก็คือเรื่องราวของ earlybkk หวังว่าเรื่องราวของคุณกิ๊ฟจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ไว้พบกันใหม่ในบทความหน้า ฝากติดตาม Torpenguin 🐧 ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะคะ

 

Source

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin

 

📌อ่านบทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ