Soft Food : สัมผัสนุ่มของอาหาร 4 ระดับ กับโจทย์การเปิดร้านในวันที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย

 

อีก 6 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยอาจก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุที่ประชากรกว่า 28% อายุมากกว่า  60 – 65 ปี และกลายเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ดั่งเช่นประเทศญี่ปุ่น

นั่นหมายความว่า ในอีกไม่กี่ปีนี้ อาหารผัดทอดจนถึงอาหารที่ถูกประกอบขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภคในระยะยาวอาจได้รับความนิยมน้อยลง 

คำถามคือ วันนี้เรามีการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ยังไง เพราะเทรนด์อาหารสุขภาพ กำลังจะไม่ได้เป็นแค่เทรนด์อีกต่อไป  

เราจึงชวนคุณโจ้ – วิชชุวรรณ สัตย์สมบูรณ์ เจ้าของร้าน Soft Food ร้านอาหารที่ได้ยกไอเดียสุดเจ๋งอย่างการแบ่งระดับความอ่อนนุ่มของอาหารมาจากญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดไปก่อนบ้านเรา มาแชร์แนวคิดธุรกิจ และการทำร้านอาหารสุขภาพในปัจจุบัน 

Soft Food
credit image : Soft Food

ต้องเปลี่ยนจากทำอาหารเพื่อขาย มาเป็นทำอาหารเพื่อใคร

ก่อนคุณโจ้จะมาเปิดร้าน Soft Food เธอเคยทำงานเป็นล่ามอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และมีความสนใจในอาหาร คุณโจ้เล่าว่าร้านอาหารที่ญี่ปุ่นและอาหารสำเร็จรูปมักจะแบ่งระดับความอ่อนนุ่มของอาหาร ที่มาจากการคำนึงถึงความสามารถในการบดเคี้ยวและการกลืนที่แตกต่างกันของคนแต่ละวัย นอกจากนั้นนั้นยังจัดให้มีการตรวจสอบ และมีมาตรฐานรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งการทำอาหารในลักษณะนี้ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย 

“ความสามารถในการบดเคี้ยวของคนแต่ละช่วงอายุมันไม่เหมือนกัน และบางคนก็มีปัญหาในด้านนี้ด้วย ก็เลยมองว่าการจัดระดับอาหาร มันน่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้”

นั่นทำให้ร้าน Soft Food แบ่งระดับความอ่อนนุ่มของอาหาร ตามหลัก Universal Design Food ที่มีต้นแบบมาจากญี่ปุ่น ดังนี้ 

ระดับที่ 1 สามารถเคี้ยวได้ง่าย เป็นระดับของคนทั่วไป 

ระดับที่ 2 ใช้เหงือกบดอาหารได้ 

ระดับที่ 3 ใช้ลิ้นบดอาหารได้ 

ระดับที่ 4 กลืนได้โดยไม่ต้องเคี้ยว

Soft Food
credit image : soft food


“ส่วนสำคัญในการตัดสินใจเปิดร้านคือเรามีโอกาสได้ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นญาติของเราเอง มันทำให้เราเห็นว่าหลาย ๆ ปัญหาสุขภาพมักมาจากการทานอาหาร ซึ่งทุกวันนี้มีคนป่วยจากการทานอาหารเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไขมัน ความดัน โรคหัวใจ เราก็เลยอยากทำร้านอาหารสุขภาพ ที่อร่อย และเข้าถึงง่าย เพื่อที่จะเป็นตัวเลือกให้คนสนใจทานอาหารสุขภาพในทุก ๆ วัน” 

 

โจทย์ต่อไป คือการตอบสนองความต้องการระดับบุคคลให้ได้ 

 

ความตั้งใจส่งมอบอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้กับคนทาน ทำให้คุณโจ้ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ จนถึงการส่งมอบอาหารให้กับลูกค้า

Soft Food
credit image : soft food

“เราให้ความสำคัญไปถึงเครื่องปรุง ซีอิ๊ว โชยุ น้ำปลา ซอสหอยนางรม เราเลือกเป็นแบบ Low sodium No Potassium จากผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน รสหวานเราใช้เป็นน้ำตาลธรรมชาติจากน้ำผึ้ง น้ำตาลโตนดแท้จากเพรชบุรี และอีกชนิดคือน้ำตาลหล่อฮังก๊วย เครื่องปรุงประเภทนี้ต้นทุนสูงมาก แต่เราก็ตั้งใจนำมาใช้ในเมนูอาหารของเราให้ลูกค้า” 

ถึงตรงนี้เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนย่อมต้องการเลือกวัตถุดิบอย่างดีที่สุดให้กับลูกค้า แต่การเลือกวัตถุดิบอย่างดี ย่อมตามมาด้วยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น Soft Food เองก็เผชิญกับส่วนต่างตรงนี้เช่นกัน เพื่อควบคุมต้นทุนให้คงที่ พวกเขาจึงใช้วิธีเทียบราคาจากซัพพลายเออร์หลาย ๆ เจ้า และสต๊อกวัตถุดิบที่ราคาผันผวนขึ้นลงบ่อย ๆ 

Soft Food
credit image : soft food

มีร้านอาหารหลายร้านที่เริ่มปรับเมนูเพื่อตอบให้โจทย์ความต้องการของลูกค้า ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้ร้านอาหารเพื่อสุขภาพไม่ได้มีคู่แข่งป็นร้านที่ขายอาหารประเภทเดียวกันเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องแข่งกับร้านอาหารที่ปรับตัวมาลงสนามอาหารเพื่อสุขภาพอีกด้วย

สำหรับ Soft Food กลยุทธิ์ที่พวกเขาใช้คือการสื่อสารแบรนด์ทั้งช่องทาง Social Media การรักษาฐานลูกค้าเดิม ด้วยการส่งมอบประสบการณ์ด้วยวิธีคิดแบบ Personalize หรือก็คือ การใช้ข้อมูลของลูกค้ามาตอบสนองความต้องการของลูกค้าผ่านสินค้าของเราให้ได้มากที่สุด

เช่น การออกแบบคอร์สเมนูอาหารแบบปิ่นโต ในคอร์สเมนูจะมีการคำนวณสารอาหาร แคลอรี่ และไขมันตามน้ำหนัก หรือตามเงื่อนไขของลูกค้าที่ซื้อคอร์ส โดยเชฟที่จบด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร แล้วเรียนต่อเชฟโดยเฉพาะ

การเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าด้วยอาหารแบบ Ready to eat

อีกส่วนที่น่าสนใจคือที่นี่มีเมนูที่ถูกออกแบบให้ซ่อนผักเอาไว้ด้วย เช่น เมนูข้าวตุ๋น เหมาะกับคนไม่ชอบกลิ่นเหม็นเขียวของผักแต่อยากรักสุขภาพสุด ๆ  

Soft Food
Credit image : Soft Food

ท้ายที่สุดคือการทำทุกขั้นตอนให้ดีที่สุด 

เป็นเวลาเพียงหนึ่งปีครึ่งที่ Soft Food ออกเดินทาง หากเราค้นข้อมูลบน Google เราจะเห็นว่าร้านแห่งนี้ได้รับรีวิวบน Google กว่า 430 รีวิว แต่ยังมีคะแนนรีวิวสูงถึง 4.9 คะแนน 

“ตั้งแต่เปิดร้านอาหารมาจนถึงตอนนี้ มีหลายจุดเลยที่มันยากมาก ๆ เพราะเราไม่มีประสบการณ์เรื่องอาหาร การมีเมนูในร้านเยอะ Operation มันก็ยาก เราต้องค่อย ๆ เรียนรู้ ค่อย ๆ ปรับ สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเราเลยคือความอดทน และการ Open Mind เพื่อฟังเสียงลูกค้า เสียงพนักงาน รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  

“จากแต่เดิม เรามองว่าคอนเซปต์ที่เราวางไว้น่าจะเหมาะกับผู้สูงอายุเป็นหลัก แต่วันนี้กลับกลายเป็นว่าลูกค้าที่เข้ามากิน มีทุกวัย วัยรุ่น วัยทำงาน  วัยเด็ก ครอบครัว มันทำให้เรารู้สึกใจฟู และอยากพัฒนาต่อไปให้ดีที่สุด ในทุกขั้นตอน

“สำหรับเราหัวใจสำคัญของการทำร้านอาหารมันคือการทำให้ดีที่สุดทุกขั้นตอน ใส่ใจตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การส่งมอบอาหารไปให้ลูกค้า เพราะทุกขั้นตอนมันคือประสบการณ์ของลูกค้าที่เราอยากจะส่งมอบให้กับเขา” 

 

Soft Food
credit image : soft food

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin

 

📌 อ่านต่อบทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สุดฤทธิ์น่าน ร้านกาแฟที่ตั้งใจผลักดันกาแฟมณีพฤกษ์จากน่าน ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก

ยักษ์กะโจน ร้านอาหารที่ชวนคนกินมาร่วมแก้ปัญหาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

‘เจดีย์’ คาเฟ่ที่ตั้งใจเป็น Healing Space กับการจัดสรรพื้นที่ทุกสัดส่วนให้สร้างรายได้

kintaam : ร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่มีส่วนผสมหลักเป็นความ Creativity กับเบื้องหลังรสชาติที่ครบรสความสนุกในทุก ๆ คำ

Gimme the Farm ร้านอาหารฮาลาลลับ ๆ กับกลยุทธ์ปั้นร้านให้อยู่มากว่า 10 ปี ในทำเลที่ตาย