ขอสินเชื่อมาเปิดร้านอาหาร

เคยไหม มีไอเดียเต็มหัวไปหมด อยากเปิดร้านอาหารแบบนั้น อยากขายเมนูแบบนี้ แต่ติดตรงที่ ไม่มีเงินลงทุนเนี่ยแหละ พูดแล้วเศร้า แต่จะบอกว่ามือใหม่หลายคนคิดแบบนี้แล้วถอดใจไปเสียก่อนตั้งแต่ยังไม่เริ่ม แต่จะบอกว่าความจริงแล้ว ผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ หรือเปิดร้านแล้วประสบความเสร็จในปัจจุบัน บางคนก็เริ่มจากการ ขอสินเชื่อมาเปิดร้านอาหาร หรือกู้เงินมาทำธุรกิจร้านอาหารทั้งนั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าคุณมีความฝันแล้วจะทำไม่ได้ เพราะแค่ขาดเงินทุน เพราะทุกวันนี้มีสถาบันการเงินที่ออกสินเชื่อสำหรับทำธุรกิจมากมาย เพียงแค่คุณต้องมีวิธีหรือเทคนิคอย่างไร ที่จะช่วยให้คุณกู้สินเชื่อผ่านได้ไว แล้วจึงเริ่มธุรกิจนั่นเอง

ขอสินเชื่อมาเปิดร้านอาหาร
เจ้าของร้านต้องเตรียมพร้อมอย่างไร

ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการขอสินเชื่อกู้เงินมาลงทุนทำร้านอาหารจากสถาบันการเงินต่าง ๆ คุณต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อน คือ
– ศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจให้ดีก่อน ศึกษาแนวคิดทางธุรกิจร้านอาหารให้ถ่องแท้ก่อน และตอบให้ได้ว่า ร้านคุณจะ “ขายอะไร” อย่ายึดแต่ความชอบเป็นหลักต้องดูว่าเหมาะกับทำเลนั้น ต่อมาคือ
– “ขายให้ใคร” กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าเป็นใคร เหมาะกับย่านนั้นหรือไม่ ต่อมาคือ “ขายอย่างไร” หมายถึงขายเท่าไหร่ ที่จะเหมาะกับลูกค้าที่สามารถจ่ายได้ และต่อด้วย
– “ขายที่ไหน” ช่องทางจำหน่าย หน้าร้านหรือออนไลน์ ต้องลงทุนเช่า Cloud kitchen หรือไม่ และสุดท้าย
– “เริ่มขายเมื่อไหร่” จะเปิดร้านเมื่อไหร่ รวมถึงช่วงวันและเวลาที่จะเปิดขายด้วย

สิ่งเหล่านี้จะเป็นการทำให้คุณได้ลงรายละเอียดในธุรกิจให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เผื่อให้คุณสามารถนำไปทำ “แผนธุรกิจร้านอาหาร” ได้ต่อไป เพื่อนำไปหาต้นทุนที่ร้านจะต้องจ่าย ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ มีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบคู่แข่งอย่างไรบ้าง ถ้าจะทำจริงกำลังการผลิตเราเพียงพอหรือเปล่า และกำไรประมาณการที่เราคำนวนเอาไว้คุ้มกับการทำธุรกิจหรือไม่ ฯลฯ เพราะแน่นอนว่า แผนธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งที่จะประกอบการพิจารณาของสินเชื่อสถาบันการเงินต่าง ๆ ธนาคารจะพิจารณาปล่อยกู้จากข้อมูลผลกำไร ที่เขียนไว้ในแผนธุรกิจประกอบไปด้วย

>> ขั้นตอนการเตรียมตัว ขอสินเชื่อมาเปิดร้านอาหาร

การเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อเป็นเรื่องที่สำคัญ การเตรียมตัวล่วงหน้าจะทำให้คุณมีความพร้อมซึ่งสิ่งที่คุณควรต้องเตรียมตัว และต้องทำก่อนขอสินเชื่อ ก็คือ

1. จัดทำงบการเงินของบริษัท
ธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ จะใช้งบการเงินของร้านคุณในการพิจารณา อนุมัติสินเชื่อ ดังนั้นร้านจะต้องจัดเตรียมงบการเงินอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ข้อมูลเหล่านี้บ่งบอกถึงความสามารถในการบริหาร และแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ งบการเงินหลักคือ งบดุล, งบกำไรขาดทุน, งบกระแสเงินสด

2. เช็คข้อมูลเครดิตของบริษัท
ข้อมูลเครดิต (Credit information) คือ ข้อมูลและประวัติพฤติกรรมการผ่อนชำระสินเชื่อ (Credit history) ที่ถูกเก็บบันทึกโดย บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ ที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่าเครดิตบูโร หรือ NCB (National Credit Bureau) ดังนั้นควรมีการดูแลส่วนนี้ให้ดี หากบริษัทมีประวัติไม่ดี ชำระหนี้ไม่ตรงเวลา ไม่ครบ จนเกิดยอดค้างชำระ บริษัทควรเจรจาทำการบริหารการชำระหนี้ที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นเพื่อสร้างประวัติเครดิตใหม่ และชำระหนี้ให้ตรงต่อเวลา ไม่ผิดนัดชำระหนี้อีก เพราะทุกความเคลื่อนไหวในการชำระหนี้จะถูกจัดเก็บรวบรวมอยู่ในรายงานข้อมูลเครดิต

ส่วนของเครดิตบูโร มีหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลสินเชื่อตามที่ธนาคารส่งให้เท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุมัติสินเชื่อ บริษัทจำเป็นต้องมีเครดิตที่ดี เพื่ออนาคตอาจเป็นใบเบิกทางให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และสำหรับในปัจจุบันสามารถเช็คข้อมูลเครดิตออนไลน์ได้ที่ Mobile Application Bureau OK (บูโรโอเค) หรือของธนาคารพาณิชย์

3. ต้องมีการตรวจตลาดสินเชื่อ
ในปัจจุบันมีแหล่งเงินทุนที่ปล่อยสินเชื่อจำนวนมาก แต่คุณควรศึกษารายละเอียดของสินเชื่อแต่ละที่ให้ดีเสียก่อน เพราะแต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีเงื่อนไขรายละเอียดยิบย่อยที่ต่างกัน ฉะนั้นควรมีการเปรียบเทียบหลาย ๆ ที่ก่อนตัดสินใจ หรือหาที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำได้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

4. เลือกสินเชื่อที่เหมาะกับธุรกิจของคุณที่สุด
อย่างที่บอกว่าก่อนตัดสินใจคุณมีสิทธิ์ที่จะเปรียบเทียบเงื่อนไขของแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ได้ เพราะแหล่งเงินทุนนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นธนาคคารอย่างเดียว แต่ยังมีแหล่งเงินทุนอื่น ๆ อีกมากมายในยุคนี้ และเมื่อมีแหล่งเงินกู้ที่คุณโอเค อาจจะมากกว่า 1 แห่ง คุณสามารถที่จะยื่นกู้ขอสินเชื่อจากหลาย ๆ แห่งพร้อมกันได้ ก็จะช่วยให้คุณไม่เสียเวลาในการรอ หากไม่ได้รับการอนุมัติที่ใดที่หนึ่ง

5. เตรียมเอกสารขอสินเชื่อ
สำหรับเอกสารในการยื่นขอสินเชื่อสำหรับทำธุรกิจนั้น จะมีหลัก ๆ ประมาณนี้คือ
> บุคคลธรรมดา <
– สำเนาบัตรประชาชนของผู้สมัคร
– สำเนาใบเปลี่ยน ชื่อ-นามสกุล ของผู้สมัคร (กรณีเปลี่ยน ชื่อ-นามสกุล)
– สำเนาทะเบียนพาณิชย์/ทะเบียนการค้า (ถ้ามี)
– เอกสารแสดงรายได้ เช่น Statement ย้อนหลัง 6 เดือน หรือ สำเนาภ.พ.30 (ย้อนหลัง 6 เดือน)
– รูปถ่ายกิจการ (ไม่เกิน 3 เดือน)
– สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน เช่น โฉนด (กรณีกู้แบบใช้หลักประกัน)
– เอกสารอื่น ๆ ตามที่ธนาคารกำหนด

> นิติบุคคล <
– สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือ สำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด (ไม่เกิน 3 เดือน)
– สำเนาวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล (ไม่เกิน 3 เดือน)
– สำเนาบัตรประชาชนของ ผู้มีอำนาจลงนาม
**เอกสารการขอสินเชื่ออาจมีเพิ่มเติมได้มากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงิน แนะนำว่าให้คุณสอบถามโดยตรงกับสถาบันการเงินแต่ละที่อีกครั้ง

6. ขั้นตอนเซ็นสัญญา
ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ๆ ก่อนเซ็นสัญญาคุณควรอ่านรายละเอียดให้ถี่ถ้วน ก่อนเซ็นเอกสารทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับภาระการผ่อนชำระรวมถึงการคำนวณดอกเบี้ยและเงื่อนไขหากผิดนัดชำระ และหากมีส่วนไหนที่รู้สึกไมเข้าใจ จะได้สอบถามให้ชัดเจนก่อนตกลงเซ็นสัญญา

การเปิดร้านอาหาร แทบจะเป็นความฝันของใครหลายคน เพราะฉะนั้นเมื่อคุณรู้ทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้แล้ว ก็อย่าลืมที่จะเตรียมตัว เตรียมความพร้อมต่าง ๆ และความมั่นใจเพื่อให้การขอสินเชื่อผ่านไปได้ด้วย แล้วหวังว่า ว่าที่เจ้าของร้านคนใหม่ต่อไปในอนาคตต้องเป็นคุณ

ที่มา kasikornbank

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin

👉 อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
7 วันก่อนเปิดร้าน แชร์เทคนิค เทรนพนักงานครัว ให้เป๊ะ เป็นงานไว
ร้านอาหารต้องรู้ บาลานซ์เมนู ร้านอาหาร ให้ดี เสิร์ฟได้ไว ไม่ติดขัด
สารพัด กลโกงในร้านอาหาร ปัญหายอดฮิตที่เจ้าของร้านอาจต้องเจอ
น้ำเต้าหู้ปูปลา ร้านน้ำเต้าหู้แนวใหม่ ส่งมอบความสุขในความทรงจำแบบครบเครื่อง
Yield คืออะไร สำคัญแค่ไหน เรื่องต้องรู้ก่อนตั้งราคาอาหาร
กฎหมาย PDPA ร้านอาหาร ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
เคล็ดลับ นับสต๊อกร้านอาหาร และจัดการวัตถุดิบ ทำเป็นเห็นกำไร
สร้างเมนูใหม่กำไรเข้าร้าน ด้วยไอเดีย จัดการ Food Waste สไตล์ตะวันตก
รวมสารพัดวิธีแก้ ปัญหาลูกค้าแน่นร้าน จัดการดีไม่มีสะดุด