หลังจากที่มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหมายการค้าเกิดขึ้น เชื่อว่าทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายคน หรือแม้แต่เจ้าของร้านอาหารหน้าใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่วงการธุรกิจอาหารให้ความสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น และเชื่อว่ายังมีอีกหลายผู้ประกอบการที่อาจจะยังไม่เข้าใจและสับสนอยู่บ้าง ถึงเรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ถ้าต้องการทำบ้างมีขั้นตอนอย่างไร วันนี้เราจะมาทำความใจเรื่อง ขั้นตอนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กันอีกครั้ง และที่สำคัญตรวจสอบอย่างไรให้ไม่ซ้ำกับร้านอื่น จนกลายเป็นปัญหาน่าปวดหัว
ขั้นตอนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
พร้อมวิธีตรวจสอบ
> เครื่องหมายการค้า คืออะไร
อย่างแรกที่ต้องรู้คือความหมาย เครื่องหมายการค้า คือเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุไว้ว่า “เครื่องหมายการค้า” เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการระบุ และจําแนกความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ โดยจะเป็นสินค้าหรือบริการก็ได้ ในบางประเทศรวมถึงประเทศไทย ใช้คำว่า “เครื่องหมายการค้า” สำหรับสินค้า และ “เครื่องหมายบริการ” สำหรับบริการ
> เครื่องหมายการค้า แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1. เครื่องหมายการค้า (TRADE MARK)
เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้น แตกต่างจากสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น บรีส มาม่า กระทิงแดง Apple Samsung เป็นต้น
2. เครื่องหมายบริการ (SERVICE MARK)
เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้น แตกต่างจากบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของสายการบิน โรงแรม ธนาคาร เป็นต้น
3. เครื่องหมายรับรอง (CERTIFICATION MARK)
คือเครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองหรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้า หรือบริการนั้น ๆ เช่น ISO เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ เครื่องหมายฮาลาล เป็นต้น
4. เครื่องหมายร่วม (COLLECTIVE MARK)
เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ ที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน โดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มปูนซีเมนต์ เป็นต้น
> องค์ประกอบที่สามารถใช้เป็นเครื่องหมายการค้าได้
คือ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ประกอบด้วย คำ, ชื่อ, ตัวอักษร, ตัวเลข, ภาพวาด, รูปภาพ, รูปร่าง, สี, สัญลักษณ์ หรือการนำสัญลักษณ์มารวมกันเป็น ชุดคำ หรือ ประโยค สโลแกนโฆษณา และชื่อเรื่อง รวมถึงภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน
และต้องมี “ลักษณะบ่งเฉพาะ” คือมีลักษณะพิเศษที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว และต้องไม่เป็นคำหรือสิ่งที่ใช้กันสามัญทั่วไป หรือเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าหรือบริการอื่น ไม่เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย
> ขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
1. ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ที่ ศูนย์บริการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา จ.นนทบุรี
2. สามารถยื่นคำขอผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ทุกจังหวัด
3. ยื่นคำขอผ่านทางเว็บไซต์ https://www.ipthailand.go.th/th/
4. ยื่นคำขอทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วจะมีอายุการให้ความคุ้มครอง 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน และสามารถต่ออายุได้คราวละ 10 ปี โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งแต่การยื่นคำขอต่ออายุต้องดำเนินการภายใน 90 วัน ก่อนวันที่เครื่องหมายการค้านั้นสิ้นอายุในกรณีที่เครื่องหมายการค้ามิได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในเวลาที่กำหนดถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน
> วิธีตรวจสอบเครื่องหมายการค้า ป้องกันเกิดกรณีพิพาท ใช้ซ้ำกับร้านอื่น
1. สืบค้นด้วยตนเองที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา
2. สืบค้นทางอินเตอร์เน็ต โดยผู้ขอจะต้องเข้าเว็บไซต์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา https://www.ipthailand.go.th/th/ ไม่มีค่าใช้จ่าย และทำตามขั้นตอน ดังนี้
เลือกบริการออนไลน์ เมนูระบบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (e-Filing)
เลือกตรวจสอบความเหมือนคล้ายของเครื่องหมาย
ต้องบอกก่อนว่า การตรวจค้นยตามข้อ (1) และ (2) เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าใดจะได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ นายทะเบียนจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว โดยการพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าอีกครั้ง
> ประโยชน์ที่ได้รับหลังจากที่ผู้ประกอบการร้านอาหารได้รับสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้
– สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายสำหรับสินค้าที่อยู่ในรายการขอจดทะเบียนไว้ รวมถึงการโอนหรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายสินค้าที่จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยจะเรียกค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้
– สิทธิป้องกันไม่ให้ผู้อื่นจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน จนทำให้ผู้บริโภคสับสนหรือหลงผิด รวมทั้งมีสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้าของตน หรือฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับ เครื่องหมายการค้าของตนได้
– สิทธิที่จะโอนหรือรับมรดกสิทธิกัน โดยการโอนหรือรับมรดกพร้อมกิจการที่เกี่ยวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ได้ โดยจะต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน และในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุดจะต้องโอนหรือรับ มรดกสิทธิกันทั้งชุด
– สิทธิในการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้า
อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องหมายการค้าจะได้รับการคุ้มครองโดยการจดทะเบียน แต่กฎหมายไม่ได้บังคับให้ผู้ประสงค์จะประกอบการธุรกิจต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของร้านหรือธุรกิจอาหารแน่ใจว่าเครื่องหมายการค้าของร้านคุณจะไม่ถูกลอกเลียนแบบ ผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนก็ได้ แต่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนจะมีเพียงสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายทางการค้านั้นเท่านั้น จะฟ้องร้องคดีกับผู้ทำการละเมิดเครื่องหมายการค้า หรือเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายเครื่องหมายการค้าไม่ได้ เว้นแต่กรณีลวงขาย นั่นเอง เพราะฉะนั้นสำคัญมากที่เจ้าของร้านควรศึกษา ขั้นตอนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า อย่างละเอียดรอบคอบ
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
กำจัดขยะอาหาร อย่างถูกวิธี ลดต้นทุน เพิ่มกำไรให้ร้านอาหาร
คาถารักษาธุรกิจครอบครัว สืบทอดกิจการร้าน อย่างไรให้สำเร็จ
เช็กลิสต์ แนวโน้มธุรกิจอาหาร ของคุณยังมีอนาคตไหม
7 วิธีสู้กลับเมื่อเจอ คู่แข่งขายตัดราคา
Toxic Customer 6 ประเภท ที่เจ้าของร้านเจอบ่อย ต้องรับมือยังไง
7 วันก่อนเปิดร้าน แชร์เทคนิค เทรนพนักงานครัว ให้เป๊ะ เป็นงานไว
ร้านอาหารต้องรู้ บาลานซ์เมนู ร้านอาหาร ให้ดี เสิร์ฟได้ไว ไม่ติดขัด
สารพัด กลโกงในร้านอาหาร ปัญหายอดฮิตที่เจ้าของร้านอาจต้องเจอ
น้ำเต้าหู้ปูปลา ร้านน้ำเต้าหู้แนวใหม่ ส่งมอบความสุขในความทรงจำแบบครบเครื่อง
Yield คืออะไร สำคัญแค่ไหน เรื่องต้องรู้ก่อนตั้งราคาอาหาร
กฎหมาย PDPA ร้านอาหาร ที่ผู้ประกอบการต้องรู้