มัดรวมเรื่อง ภาษีร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านต้องรู้

นอกจากการทำบัญชีแล้ว “ ภาษีร้านอาหาร ” ก็นับว่า เป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่สร้างความปวดหัวให้เจ้าของร้านอาหารหลายต่อหลายคน

หากคุณกำลังสับสนว่า ตกลงแล้วต้องเสียภาษีอะไรบ้าง บุคคลธรรมดากับนิติบุคคลจ่ายภาษีต่างกันอย่างไร รายได้เท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี ถ้าขาดทุนจำเป็นต้องยื่นภาษีไหม ขายแบบเดลิเวอรี ไม่มีหน้าร้าน ต้องยื่นภาษีหรือไม่ ฯลฯ … มาหาคำตอบได้ในบทความนี้ เรารวบรวมทุกเรื่องเกี่ยวกับ ภาษีร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านจำเป็นต้องรู้ มาฝากแล้ว

เจ้าของร้านอาหารต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ในกรณีที่ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา) หรือนิติบุคคล (ในกรณีที่ทำธุรกิจในนามนิติบุคคล) โดยยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง คือครึ่งปี และสิ้นปี

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเจ้าของร้านอาหารมีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ภายใน 30 วัน และต้องยื่นภาษีแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน

3. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ได้แก่ ค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าจ้างทำของ รางวัลจากการชิงโชค ค่าโฆษณา ค่าขนส่ง ค่าบริการ เงินปันผล หากร้านเรามีลูกจ้าง และลูกจ้างมีรายได้เกิน 26,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องทำเรื่องหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

4. ภาษีป้าย หากร้านของเราติดป้ายชื่อร้าน ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า หรือการโฆษณาร้าน ที่ประกอบด้วยอักษร ภาพ จะต้องเสียภาษีตามประเภทของป้าย ดังนี้

    • ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน หากเป็นป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนข้อความได้ ต้องเสียภาษี 10 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. หากเป็นป้ายทั่วไป ต้องเสียภาษี 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
    • ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ (รวมถึงเลขอารบิก) หรือปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น หากเป็นป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนข้อความได้ ต้องเสียภาษี 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. หากเป็นป้ายทั่วไป ต้องเสียภาษี 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. 
    • ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือมีเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้ หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ หากเป็นป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนข้อความได้ ต้องเสียภาษี 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. หากเป็นป้ายทั่วไป ต้องเสียภาษี 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. 

5. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของร้านอาหารมีหน้าที่ชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา ดังนี้

    • 0-50 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.3% หรือคิดเป็นล้านละ 3,000 บาท
    • 50-200 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.4% หรือคิดเป็นล้านละ 4,000 บาท
    • 200-1,000 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.5% หรือคิดเป็นล้านละ 5,000 บาท
    • 1,000-5,000 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.6% หรือคิดเป็นล้านละ 6,000 บาท
    • 5,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 0.7% หรือคิดเป็นล้านละ 7,000 บาท

6. ภาษีศุลกากร: หากมีการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการประกอบธุรกิจ เจ้าของร้านอาหารมีหน้าที่ต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้าให้ถูกต้อง

 

บุคคลธรรมดากับบริษัท จ่ายภาษีต่างกันอย่างไร

  • ร้านอาหารแบบบุคคลธรรมดา: เจ้าของร้านอาหารที่จดทะเบียนพาณิชย์ (ทะเบียนการค้า) เอาไว้ และเลือกทำธุรกิจในนาม “บุคคลธรรมดา” จะต้องเสียภาษีเหมือนบุคคลผู้มีเงินได้ทั่วไป โดยรายได้จากกิจการนั้นจะนับว่า เป็นอาชีพเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ เงินได้ 40 (8) ต้องยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ได้แก่
    • ครั้งที่ 1 ยื่นแบบชำระภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ภายในเดือนกันยายน
    • ครั้งที่ 2 ยื่นชำระภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
  • ร้านอาหารแบบจดบริษัท (นิติบุคคล): เจ้าของร้านอาหารที่ทำธุรกิจในนาม “นิติบุคคล” ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องนำกำไรมาคำนวณเพื่อเสียภาษีนิติบุคคล หากมีกำไร 300,000 บาทแรก จะได้รับยกเว้นภาษี หากมีกำไร 300,001 – 3 ล้าน จะต้องเสียภาษี 15% และหากมีกำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษี 20% เจ้าของร้านอาหารจะต้องยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ 
    • ครั้งที่ 1 ยื่นแบบชำระภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
    • ครั้งที่ 2 ยื่นแบบชำระภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) ต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

ส่วนภาษีอื่นๆ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีศุลากร ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ต้องเสียภาษีในรูปแบบเดียวกัน

รายได้เท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี

  • ร้านอาหารที่มีรายได้สุทธิ 150,001 บาทต่อปีขึ้นไป ต้องเสียภาษี และสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้
  • ร้านอาหารที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี แต่จำเป็นต้องยื่นภาษี

ถ้ากิจการขาดทุนจำเป็นต้องยื่นภาษีไหม

แม้ว่ากิจการของคุณจะขาดทุน จนต้องปิดร้าน แต่ก็ยังคงต้องยื่นภาษีอยู่ดี หากเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ต้องแจ้งการปิดกิจการ เพียงแค่ยื่นแบบตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หากคุณมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า เงินได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ก็จะไม่ต้องเสียภาษี

ขายอาหารไม่มีหน้าร้าน ต้องยื่นภาษีหรือไม่ 

ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านที่ขายผ่านแพลตฟอร์มดลิเวอรีเพียงอย่างเดียว หรือเป็นร้านขายอาหารเล็กๆ ข้างทาง แบบไม่มีโต๊ะให้นั่ง ก็จำเป็นต้องยื่นภาษีในรูปแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด แม้คุณจะไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ก็ตาม

ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างในการยื่นภาษี

ก่อนยื่นภาษี เจ้าของร้านอาหารต้องเตรียมบัญชีรายรับ-รายจ่าย เอาไว้ให้พร้อม และต้องเก็บเอกสารหลักฐานทางการเงินอย่างถูกต้องเอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี บิลเงินสด และใบสำคัญรับเงิน 

ร้านอาหารสามารถลดหย่อนภาษีได้อย่างไรบ้าง

  • ร้านอาหารแบบบุคคลธรรมดา: สามารถลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำประกัน การลงทุน ค่าลดหย่อนสำหรับครอบครัว รวมไปถึงเงินบริจาค นอกจากนี้หากเข้าร่วมโครงการของรัฐ ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนได้ด้วยเช่นกัน
  • ร้านอาหารแบบจดบริษัท (นิติบุคคล): สามารถลดหย่อนภาษีได้จากค่าใช้จ่ายหลายประเภท ได้แก่ 
    • ค่าเสื่อมและค่าสึกหรอ เช่น ค่าอุปกรณ์ POS ค่าเสื่อมของอาคาร ค่าอุปกรณ์ต่างๆ
    • ค่าจ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ขึ้นไป โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
    • การทำประกันความคุ้มครอง เช่น ประกันวินาศภัย ประกันภัยพิบัติ ประกันอัคคีภัย 
    • ค่าอบรมพนักงาน สามารถนำมาหักรายจ่ายได้ถึง 2 เท่า โดยจะต้องมีใบเสร็จรับเงินของสถานฝึกอบรม และต้องจัดทำรายงานค่าใช้จ่ายด้วย
    • การเข้าร่วมโครงการของรัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการช็อปดีมีคืน

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่ยื่นภาษี

การหลีกเลี่ยงไม่ยื่นภาษี หรือไม่ยอมเสียภาษีตามกำหนดเวลา เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากหากกรมสรรพากรตรวจสอบเจอ อาจถูกเรียกเก็บย้อนหลัง ไม่เพียงเท่านั้นอาจโดนค่าปรับพ่วงมาด้วย 

เมื่อเข้าใจเรื่อง ภาษีร้านอาหาร แล้ว มาเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ ด้วยการจัดเก็บเอกสารการเงินให้เป็นระบบ และทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อถึงเวลา ก็จะสามารถยื่นภาษีได้แบบไร้กังวล

 

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin

Instargram : torpenguin

TikTok : @torpenguin

YouTube: Torpenguin

👉🏻 อ่านต่อบทความอื่น ที่น่าสนใจ

6 ข้อควรระวัง ถ้าไม่อยาก ขายดีจนเจ๊ง

วิธีง่ายๆ ใน การทำงบกำไรขาดทุน (P&L) สำหรับร้านอาหาร

สัญญาณที่บอกว่า ถึงเวลาต้อง ทำบัญชีร้านอาหาร ให้เป็นระบบได้แล้ว

ทำร้านอาหารให้เงินเดือนตัวเองเท่าไหร่ดี? วิธีคิด เงินเดือนเจ้าของกิจการ

ไขคำตอบ เมนูเยอะ ดีจริงหรือไม่? เพราะอะไรจึงทำให้เสี่ยงขาดทุน

 

Image by katemangostar on Freepik