กฎหมายร้านอาหาร

คนทำร้านอาหารพอจะรู้อยู่แล้วว่า มีรายละเอียดมากมายหลายเรื่องที่เจ้าของร้านต้องศึกษาและเรียนรู้ ไม่ว่าจะหน้าบ้านหรือหลังบ้าน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ เลยก็คือเรื่องของกฎกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ร้านอาหารต้องปฏิบัติตาม แบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ 22 ข้อ ดังนี้

กฎหมายร้านอาหาร ที่ผู้ประกอบการต้องรู้

ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (20 มิ.ย. 2561)

ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้
“อาหารสด” หมายความว่า อาหารที่มีสภาพเป็นของสด เช่น เนื้อสัตว์ ผัก หรือผลไม้

“อาหารประเภทปรุงสําเร็จ” หมายความว่า อาหารที่ได้ผ่านการทํา ประกอบหรือปรุงสําเร็จพร้อมที่จะรับประทานได้ รวมทั้งของหวานและเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ

“อาหารแห้ง” หมายความว่า อาหารที่ผ่านกระบวนการทําให้แห้ง โดยการอบ รมควัน ตากแห้ง หรือวิธีการอื่นใด เพื่อลดปริมาณความชื้นที่มีอยู่ในอาหารลงและเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น

“เครื่องปรุงรส” หมายความว่า สิ่งที่ใช้ในกระบวนการปรุงอาหารให้มีรูปแบบ รสชาติ หรือกลิ่นรสชวนรับประทาน เช่น เกลือ น้ําปลา น้ำส้มสายชู ซอส รวมทั้งเครื่องเทศ สมุนไพร หรือมัสตาร์ด

“วัตถุเจือปนอาหาร” หมายความว่า วัตถุที่ตามปกติมิได้ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบที่สําคัญของอาหาร แต่ใช้เจือปนในอาหารเพื่อประโยชน์ในการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา หรือการขนส่ง และให้หมายความรวมถึงวัตถุที่มิได้เจือปนในอาหาร แต่บรรจุรวมอยู่กับอาหารเพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น เช่น วัตถุกันชื้น วัตถุดูดออกซิเจน

“ผู้ประกอบกิจการ” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรอง การแจ้งจัดตั้งสถานที่จําหน่ายอาหาร และให้หมายความรวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุม กํากับ หรือดูแลการดำเนินการของสถานที่จําหน่ายอาหารนั้น

คราวนี้เรามาเริ่มดูหมวดที่ 1 ที่เกี่ยวกับ กฎหมายร้านอาหาร กันว่ามีอะไรเพิ่มมาอีกบ้าง

📌 หมวด 1 สุขลักษณะของสถานที่จําหน่ายอาหาร

ข้อ 3 สถานที่จําหน่ายอาหารต้องมีพื้นบริเวณที่ใช้ประกอบ หรือปรุงอาหารต้องสะอาด ทําด้วยวัสดุที่แข็งแรง ไม่ชํารุดและทําความสะอาดง่าย / ผนังหรือเพดานต้องสะอาด ทําด้วยวัสดุที่แข็งแรง และไม่ชํารุด / มีการระบายอากาศเพียงพอ / มีแสงสว่างเพียงพอ / ที่ล้างมือและอุปกรณ์สําหรับล้างมือถูกสุขลักษณะ / โต๊ะที่ใช้เตรียมประกอบหรือปรุงอาหาร หรือจําหน่ายอาหาร ต้องสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ทําความสะอาดง่าย สภาพดี / โต๊ะหรือเก้าอี้ที่ต้องสะอาด ต้องแข็งแรง ไม่ชํารุด

ข้อ 4 สถานที่จําหน่ายอาหารต้องมีหรือจัดหาห้องส้วมที่มีสภาพดี พร้อมใช้ จํานวนเพียงพอ สะอาด พื้นระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง มีแสงสว่าง / อ่างล้างมือที่ถูกสุขลักษณะ / ห้องส้วมต้องแยกเป็นสัดส่วน โดยประตูไม่เปิดโดยตรงสู่บริเวณที่เตรียมประกอบอาหาร ที่เก็บ ที่จําหน่าย ที่บริโภคอาหาร

ข้อ 5 สถานที่จําหน่ายอาหารต้องมีการจัดการเกี่ยวกับมูลฝอย มีฝาปิดมิดชิด แยกเศษอาหารจากมูลฝอยประเภทอื่น และต้องดูแลรักษาความสะอาดถัง

ข้อ 6 สถานที่จําหน่ายอาหารต้องมีการจัดการเกี่ยวกับน้ำเสีย มีการแยกไขมันไปกําจัดก่อนระบายน้ำทิ้งออกสู่ระบบระบายน้ำ โดยใช้ถังดักไขมัน หรือบ่อดักไขมันที่ได้มาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ข้อ 7 สถานที่จําหน่ายอาหารต้องมีมาตรการในการป้องกันสัตว์ แมลงนําโรค และสัตว์เลี้ยง

ข้อ 8 สถานที่จําหน่ายอาหารต้องมีมาตรการอุปกรณ์ หรือเครื่องมือสําหรับป้องกันอัคคีภัยจากการใช้เชื้อเพลิงในการทํา ประกอบ หรือปรุงอาหาร

📌 หมวด 2 สุขลักษณะของกรรมวิธีการประกอบ
การเก็บรักษา และการจําหน่ายอาหาร

ข้อ 9 อาหารสดที่มาปรุง ต้องคุณภาพดี สะอาด ปลอดภัย เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นสัดส่วน ไม่วางบนพื้นหรือที่อาจทำให้อาหารเปื้อน

ข้อ 10 อาหารแห้งต้องไม่มีการปนเปื้อน ในภาชนะที่บรรจุปิดสนิท เครื่องปรุงรส ต้องได้มาตรฐาน

ข้อ 11 อาหารปรุงสำเร็จต้องเก็บในภาชนะที่สะอาด วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร

ข้อ 12 น้ำดื่ม เครื่องดื่มที่ปิดสนิท วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ต้องทำความสะอาดภายนอกภาชนะก่อนให้บริการ ถ้าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ได้อยู่ในภาชนะปิดสนิท ต้องวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร

ข้อ 13 ต้องใช้น้ำที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ของกรมอนามัย

ข้อ 14 ต้องจัดการเกี่ยวกับน้ำแข็งให้สะอาด เก็บในภาชนะที่สะอาดมีฝาปิด วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ปากขอบภาชนะสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ไม่ระบายน้ำจากถังสู่พื้นที่วางภาชนะ ใช้อุปกรณ์คีบหรือตักน้ำแข็ง สะอาดมีด้ามจับ ห้ามนำอาหารหรือสิ่งของไปแช่รวมกับน้ำแข็งสำหรับบริโภค

ข้อ 15 เกี่ยวกับน้ำใช้ ต้องเป็นน้ำประปา ถ้าไม่มีให้ใช้น้ำคุณภาพเทียบเท่า

ข้อ 16 สารเคมี สารทำความสะอาด วัตถุมีพิษ ต้องติดฉลาก ป้ายให้เห็นชัดเจน แยกเป็นสัดส่วนจากบริเวณที่ใช้ทำ หรือ จำหน่ายอาหาร ห้ามนำภาชนะบรรจุอาหารมาใช้บรรจุสารเคมี

ข้อ 17 ห้ามใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการประกอบหรือปรุงอาหารบนโต๊ะ หรือที่รับประทานในสถานที่จำหน่ายอาหาร

ข้อ 18 ห้ามใช้เมทานอล หรือเมทิลแอลกอฮอลล์ เป็นเชื้อเพลงในการประกอบ ปรุง หรืออุ่นอาหาร เว้นแต่เป็นแอลกอฮอล์แข็ง

📌 หมวด 3 สุขลักษณะของภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้อื่น ๆ

ข้อ 19 ต้องใช้วัสดุปลอดภัย สภาพดี เก็บวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ปกปิดป้องกันการปนเปื้อน ให้มีช้อนกลาง ตู้เย็น ตู้แช่ ตู้อบ เตาอบ ไมโครเวฟ ต้องสภาพดี ไม่ชำรุด

ข้อ 20 เก็บอุปกรณ์ที่สามารถป้องกันสัตว์และแมลงนำโรคได้ ฆ่าเชื้อภาชนะ หลังทำความสะอาด

📌 หมวด 4 สุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร

ข้อ 21 ต้องสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ หรือพาหะนำโรคติดต่อ โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ ผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ผู้สัมผัสอาหารต้องสวมใส่เสื้อผ้า อุปกรณ์ป้องกันที่สะอาด ป้องกันปนเปื้อนสู่อาหารได้ ต้องล้างมือ ไม่กระทำการใด ๆ ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนต่ออาหาร หรือเกิดโรค

ข้อ 22 สถานที่จำหน่ายอาหารที่ได้รับใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้แก้ไขปรับปรุงภายใน 180 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ เว้นแต่ ถ้าสถานที่นั้นมีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตรให้แก้ไขภายใน 1 ปี ส่วนการดำเนินการตามข้อ 21 ในส่วนการอบรมตามเกณฑ์ฯนั้นให้ดำเนินการภายใน 2 ปี

ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin

👉 อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ต้นทุนวัตถุดิบสูง ปัญหาใหญ่เจ้าของร้านอาหาร หาทางออกอย่างไร ให้ลูกค้าไม่หนี
มีครบมั้ย? 4 ปัจจัยหลักที่ทำให้คุณ สร้างยอดขาย แบบฉบับเร่งด่วนได้
คิดแบบ Sushiro ร้านซูชิสายพานที่ใช้ทุกอย่างในร้านเก็บข้อมูลลูกค้า ยันทำคอนเทนต์