เปิดร้านเบเกอรี่

เปิดร้านเบเกอรี่ ไม่ยากอย่างที่คิด แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนที่ฝันไว้ สิ่งที่เจ้าของร้านเบเกอรี่อยากบอกคุณ

 

ใคร ๆ ก็ใฝ่ฝันอยากมีร้านเบเกอรี่เล็ก ๆ เป็นของตัวเอง อบขนมหอม ๆ ต้อนรับลูกค้าในบรรยากาศอบอุ่น แต่ความจริงแล้วการ “เปิดร้านเบเกอรี่” ไม่ใช่แค่เรื่องของความรักในการทำขนมเท่านั้น ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่หลายคนอาจไม่ทันคิด

มีทั้งเรื่องต้นทุน วัตถุดิบ การบริหารเวลา และการตลาด ที่ถ้าคุณไม่เตรียมตัวให้ดี ความฝันอาจกลายเป็นฝันร้ายได้เลยทีเดียว! ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปดู “ความจริงของการเปิดร้านเบเกอรี่” ผ่านประสบการณ์ตรงของเจ้าของร้านตัวจริง ว่ามีอะไรที่คุณต้องรู้ก่อนเริ่มต้นบ้าง

#ไม่ใช่ทุกคนที่อยากซื้อขนมของเราทุกวัน

ขนมอร่อยแค่ไหนก็ไม่ได้หมายความว่าลูกค้าจะมากินทุกวัน คนกินเบเกอรี่ไม่เหมือนคนกินข้าว บางคนซื้อเดือนละครั้ง บางคนแวะมาแค่ช่วงโปรโมชัน การทำร้านให้อยู่รอดเลยต้องคิดเผื่อว่า “ลูกค้าประจำ” จะน้อยกว่าที่คิด ต้องหาลูกค้าใหม่เรื่อย ๆ หรือมีเมนูที่คนกินได้บ่อยขึ้น เพื่อรับกับลูกค้าในส่วนนี้ที่หายไป

#การทำแจกกับการทำขายไม่เหมือนกัน

ตอนทำแจก เราใส่ใจแต่รสชาติ จัดเต็มทุกอย่าง ไม่ต้องคิดเรื่องต้นทุน ไม่ต้องนั่งเครียดเรื่องต้นทุนแฝง แต่พอทำขาย ทุกอย่างต้องถูกต้อง ทั้งสูตร ต้นทุน เวลาทำ และความสม่ำเสมอ ขนมต้องออกมาหน้าตาเหมือนกันทุกชิ้น หวาน เปรี้ยว นุ่ม แน่น ต้องเป๊ะ เพราะลูกค้าไม่ได้จ่ายเงินเพื่อมาลุ้นว่าแต่ละวันรสชาติจะเป็นยังไง ถูกมั้ย

รวมไปถึงการที่ต้องสนใจเรื่องตัวเลขมากกว่าเดิมด้วย การบริหารจัดการต้นทุน รายรับรายจ่าย จะต้องเข้มงวด ไม่งั้นก็เละเทะ

#รอดไม่รอดไม่ได้อยู่ที่ฝีมืออย่างเดียว

ทำขนมอร่อยไม่ได้แปลว่าจะขายดี ไม่งั้นคนเป็นเชฟขนมก็คงรวยกันหมดแล้ว ถูกมั้ยครับ การจะทำร้านเบเกอรี่ก็เหมือนกับร้านอาหารที่ถ้าไม่มีการตลาด ไม่รู้จักบริหารเงินสด หรือจัดสต๊อกไม่เป็น ร้านก็เจ๊งได้ง่าย ๆ เหมือนกัน

เจ้าของร้านต้องทำได้หลายอย่าง ทั้งคุมคุณภาพ ดูต้นทุน คิดโปรโมชัน คุยกับลูกค้า ดูเทรนด์ใหม่ ๆ ถ้าจะรอดต้องเก่งมากกว่าแค่เรื่องขนม

#ต้นทุนสูงกว่าที่คิด

ต้นทุนไม่ได้มีแค่แป้ง ไข่ นม เนย แต่ยังรวมไปถึงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าแรง ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่งวัตถุดิบ ค่าของที่เสียหาย ค่าการตลาด ค่าถุง ค่าหลอด ค่าภาษี ค่าเช่า ทุกอย่างบวกกันแล้วอาจสูงกว่าที่คิด ถ้าไม่คิดราคาขายให้ดี อาจขายดีแต่ไม่เหลือกำไร

#บริหารสต๊อกให้ดีของเสียคือกำไรที่หายไป

แป้ง ครีม ไข่ นม ของสด มีวันหมดอายุ ถ้าซื้อมากไป เสื่อมสภาพก่อนใช้ ก็คือเงินที่หายไป ดังนั้นเรื่องของการบริหารจัดการสต๊อกเป็นเรื่องสำคัญมาก การใช้ระบบ FIFO (ของเก่าหมดก่อน) หรือ FEFO (ของที่หมดอายุก่อนใช้ก่อน) สำคัญมาก รวมถึงการวางแผนเมนูให้ใช้วัตถุดิบซ้ำกันได้ เพื่อลดของเสียและทำให้ต้นทุนคุมง่ายขึ้น

#ร้านสวยไม่ได้แปลว่าขายดี

ร้านสวยช่วยให้คนสนใจก็จริง แต่ไม่ได้การันตีว่ายอดขายจะดี บางร้านลงทุนตกแต่งเยอะ แต่ลืมคิดเรื่องทำเล ลืมวางแผนเมนูที่ขายดีจริง ๆ หรือราคาสูงจนลูกค้าไม่กล้าซื้อ การบาลานซ์ระหว่างภาพลักษณ์ร้านกับความคุ้มค่าทางธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ อย่าหมดเงินไปกับของที่ไม่ได้ช่วยให้ขายดีขึ้น

#อดทนเท่านั้น

เปิดร้านใหม่ ๆ ลูกค้าอาจยังไม่รู้จัก ยอดขายอาจไม่ได้มาทันที และบางทีเราทำเต็มที่แล้วแต่ก็มีวันที่เงียบเป็นป่าช้า อดทนในที่นี้คืออดทนทั้งเรื่องร่างกาย (เพราะงานหนักกว่าที่คิด) อดทนกับยอดขายที่อาจไม่ได้ดีตั้งแต่แรก และอดทนกับคำวิจารณ์ที่อาจเจ็บแต่อาจช่วยให้ร้านเราดีขึ้น

การเริ่มต้นธุรกิจไม่สามารถพิสูจน์ความสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น ต้องใช้เวลา พลังงาน และเงินทุนอย่างมากในการทำให้ดำเนินธุรกิจ อย่ากลัวและสูญเสียความมั่นใจ แม้คุณจะไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ขอให้ทุกคนมีทัศนคติที่ดีอยู่เสมอ และมองให้เป็นเรื่องท้าทายมากกว่าปัญหาที่ได้พบเจอ

“เปิดร้านเบเกอรี่ไม่ยากเกินไป แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนในฝัน” การทำขนมให้อร่อยเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น การบริหารร้านให้รอดต่างหากคือความท้าทายที่แท้จริง

แม้เส้นทางนี้จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ถ้าคุณมี แผนที่ดี ความอดทน และพร้อมเรียนรู้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่คุณจะสามารถยืนระยะอยู่ในธุรกิจนี้ได้นาน 😊

 

หวังว่าบทความที่นำมาฝากกันในวันนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการและคนที่อยากเปิดร้านอาหารทุกท่านนะคะ ฝากติดตาม Torpenguin ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 😊

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin

 

📌 อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ