เทคนิคหุงข้าวญี่ปุ่น

เทคนิคหุงข้าวญี่ปุ่น เหนียวนุ่ม เรียงเม็ดสวย ไม่แฉะ ลด Food Waste คุมต้นทุนง่าย ได้มาตรฐาน

 

ข้าวญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่หลาย ๆ ร้านเลือกใช้โดยเฉพาะร้านที่ขายอาหารญี่ปุ่น ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของข้าว ที่มีเมล็ดสั้นกลม เหนียวนุ่ม เกาะตัวกันเป็นก้อน สามารถใช้ตะเกียบคีบได้

แต่ในความโดดเด่นเฉพาะตัวของข้าวญี่ปุ่นนั้น ก็มีข้อควรระวังในขั้นตอนการหุงด้วยเช่นกัน เพราะข้าวญี่ปุ่นถ้าเราหุงไม่ดี เมล็ดข้าวจะบานแฉะเกาะกันเป็นก้อนเหมือนก้อนแป้ง นำมากินกับอะไรก็ไม่อร่อย

เทคนิคในการหุงข้าวญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนทำร้านอาหารญี่ปุ่น หรือร้านอาหารที่ใช้ข้าวญี่ปุ่นจะต้องรู้ เพราะถ้าเราหุงข้าวแฉะหรือแข็งกระด้างนั่นหมายถึง Food Waste ที่เราจะต้องสูญเสียไปในแต่ละครั้ง เพราะคงไม่มีใครเอาข้าวแฉะ ๆหรือข้าวที่แข็งกระด้างไปเสิร์ฟ เพื่อสร้างภาพลักษณ์และภาพจำที่ไม่ดีให้ลูกค้าอย่างแน่นอน

วันนี้เราเอาสูตรและเทคนิคการหุงข้าวให้สุกนุ่มกำลังดี มาฝากให้ไปปรับใช้ในร้านอาหาร หุงกี่ครั้งก็สุกนุ่ม สม่ำเสมอ ด้วยเคล็ดลับง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

 

1. ซาวข้าวในน้ำเย็น หรือน้ำอุณหภูมิห้อง

นานประมาณ 1-2 นาที เปลี่ยนน้ำซาว 3-4 รอบ หรือจนกว่าน้ำจะใส รินน้ำทิ้ง พักบนกระชอนให้สะเด็ดน้ำ ระหว่างที่ซาวข้าว ให้ใช้ผ่ามือถูเมล็ดข้าวเบาๆเพื่อล้างฝุ่นและสิ่งสกปรกออกและทำให้เมล็ดข้าวใสเมื่อหุงสุก

 

2. ใส่ข้าวลงในหม้อที่ใช้สำหรับหุง

เติมน้ำลงไป 1.3 ส่วนของข้าว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้ข้าวสาร 1000 กรัม นั่นหมายถึง เราจะต้องเติมน้ำเปล่าสำหรับหุงลงไป 1300 กรัม ถ้าเราใช้ข้าวญี่ปุ่นไม่ถึง 1 กิโลกรัม หรือมากกว่านั้น ให้นำน้ำหนักของข้าว มาคูณด้วย 1.3 ก็จะได้ปริมาณของน้ำที่ใช้ในการหุงให้ข้าวออกสุกนุ่มมาพอดี

 

3. แช่ข้าวในน้ำสำหรับหุง

ประมาณ 15-20 นาที จะทำให้เมล็ดข้าวดูดซับน้ำเข้าไปในเมล็ดทำให้ข้าวเหนียวนุ่มและสุกเสมอกันทุกเมล็ด

 

4. หุงข้าวด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ

เมื่อครบเวลาให้พักไว้ประมาณ 15 นาที ก่อนเปิดฝาหม้อออกแล้วใช้ไม้พายหรือช้อนไม้ ซุยข้าวเบาๆให้ทั่ว เพื่อให้ความร้อนระอุทั่ว ไม่ควรเปิดฝาหม้อในระหว่างที่เราหุงข้าว เพราะไอน้ำไหลออกมาข้างนอก ทำให้สัดส่วนของน้ำหายไป เมล็ดข้าวจึงสุกไม่ทั่ว และข้อควรระวังคือไม่ควรคนข้าวทันทีหลังจากหุงสุกเพราะจะทำให้เมล็ดข้าวหักเละ

 

นอกจากเราจะมีสูตรและเคล็ดลับที่ดีในการหุงข้าวญี่ปุ่นแล้ว การทำ SOP ขั้นตอนการหุงข้าวที่ละเอียดก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถระบุได้ว่าพนักงานคนใดคนหนึ่งในร้าน จะต้องรับหน้าที่ในการหุงข้าว ในทุก ๆ วัน หรือทุก ๆ ครั้ง

ถ้าเราวางระบบในการจัดการที่ดี มี SOP ที่ละเอียด ในทุกขั้นตอนการหุงข้าว ก็จะทำให้เราสามารถผลัดเปลี่ยนพนักงานหลังร้านในการทำหน้าที่แทนกันได้ และยังควบคุมคุณภาพของข้าวญี่ปุ่นให้เป็นไปตามมารตรฐานของร้านได้ในทุก ๆ ครั้งที่หุงอีกด้วย

 

หวังว่า เทคนิคหุงข้าวญี่ปุ่น ที่ทางเชฟหมีจาก Cook วงใน นำมาฝากกันวันนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทุกท่านนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 😊

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : @torpenguin
YouTube: Torpenguin

👉🏻 อ่านบทความ Cookวงใน อะไรต่อดี?