เก็บผักให้อยู่ได้นาน

เก็บผักให้อยู่ได้นาน กับ 3 เทคนิคเก็บผักง่าย ๆ สำหรับร้านอาหาร ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ สู้ต้นทุนผักพุ่ง!

 

ปัญหาที่เชื่อว่าหลาย ๆ ร้านต้องเคยเจอนั่นคือการจัดการวัตถุดิบ โดยเฉพาะผักสดที่ซื้อมาใน ปริมาณมาก ๆ ถ้าเราจัดการวัตถุดิบหรือจัดเก็บได้ไม่ดีพอก็มีโอกาสทำให้เกิดการเน่าเสียง่ายยิ่งขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบ ยิ่งโดยเฉพาะช่วงที่ราคาผักสดตามท้องตลาดแพง ก็ยิ่งต้องระมัดระวังเรื่องการจัดการวัตถุดิบให้มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

 

วันนี้ Cook วงใน มีวิธีเก็บผักให้คงความสดอยู่ได้นานมากกว่า 20 วัน มาฝากให้ไปลองทำกัน ซึ่งนอกจากจะนำเทคนิคนี้มาใช้ในร้านอาหารแล้วยังสามารถนำมาปรับใช้ในบ้านได้ด้วยวิธีง่าย ๆ อีกด้วย

 

แต่ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ก่อนว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ผักเน่าเสีย เพื่อจะได้ป้องกันและระวัง เนื่องจากผักเป็นพืชอวบน้ำ มีการเน่าเสียจากจุลินทรีย์ แบคทีเรียและเอนไซม์ ดังนั้นพืชผักจะเน่าเสียได้ง่ายยิ่งขึ้น จากความแรงกระแทก การกดทับ การกัดกินของแมลง รวมไปถึงความร้อนและออกซิเจนด้วย

 

ดังนั้นเวลาที่เราได้ผักสดมาจากตลาด อันดับแรกให้แกะออกจากถุงแล้วพึ่งในที่ซึ่งมีอากาศถ่ายเท หลังจากนั้นให้เลือกใบผักช้ำ ๆ และใบที่เน่าเสียทิ้ง ล้างทำความสะอาดอย่างเบามือ แล้วพักให้ผักสะเด็ดน้ำ ก่อนเลือกจัดเก็บด้วยวิธีง่าย ๆ 3 วิธี ดังนี้

 

#แช่ผักในภาชนะทรงสูง
เหมาะสำหรับเก็บผักที่มีรากเช่น ต้นหอม,ผักชี หรือผักที่มีก้านอย่างสะระแหน่,โหระพา โดยหลังจากทำความสะอาด ให้แช่ผักในภาชนะทรงสูง เติมน้ำจนท่วมราก แล้วนำไปแช่ในตู้เย็น วิธีนี้จะสามารถเก็บผักให้สดได้นาน 1-2 วัน

 

#เก็บผักใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิท
เหมาะสำหรับเก็บผักใบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักสลัด,ต้นหอม , ผักชี ,พริก หลังจากล้างทำความสะอาด ผึ่งผักให้พอหมาด หรือซับด้วยกระดาษอเนกประสงค์ ก่อนเรียงผักลงกล่องพลาสติกที่ปูกระดาษอเนกประสงค์ไว้ วางทับด้านบนด้วยกระดาษอเนกประสงค์อีกครั้ง ก่อนปิดฝาและนำเข้าตู้เย็นที่อุณหภูมิ ประมาณ 4-10 องศาเซลเซียส สามารถเก็บผักได้นาน 10 วัน

 

#การเก็บผักแบบสูญญากาศ

เหมาะสำหรับเก็บผักใบ หรือผักสลัด หลังจากล้างทำความสะอาด ผึ่งผักให้พอหมาด หรือซับด้วยกระดาษอเนกประสงค์ ให้นำผักใส่ถุงและเข้าเครื่อง Vacuum หรือ เครื่องซีลแบบสูญญากาศ

แต่ถ้าใครไม่มีเครื่องนี้ให้ใช้วิธีวางผักลงบนกระดาษอเนกประสงค์ม้วนให้พอแน่น ก่อนห่อทับด้วยพลาสติกแร๊ป ปิดให้สนิทไม่ให้ผักสัมผัสอากาศ แล้วเรียงใส่กล่องปิดฝา ก่อนแช่ในตู้เย็น วิธีนี้จะสามารถเก็บผักได้นานถึง 20 วันเลยทีเดียว

 

นอกจากผักใบที่นิยมกินสด ยังมีผักประเภทอื่นๆ ที่มีวิธีการจัดเก็บที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

 

🥦 ผักที่มีลักษณะเป็นหัว

เช่น กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ นำมาห่อด้วยอลูมิเนียมฟอยล์ จะช่วยให้ผักคงความสดกรอบ และยืดอายุได้หลายสัปดาห์

 

🍄‍🟫 เห็ดต่างๆ

มีอายุการเก็บรักษาสั้น ไม่ควรนำไปล้างน้ำก่อนแช่ตู้เย็นเพราะเห็ดซึมซับน้ำได้ง่าย ยิ่งมีความชื้นเยอะจะยิ่งเน่าเสียได้เร็ว หรือสามารถนำไปลวกก่อนแช่เย็นช่วยยืดอายุได้ไม่เกิน 3 วัน

 

🌶️ พริก

เด็ดขั้วออก เก็บในถุงซิปหรือภาชนะที่ปิดสนิทแล้วแช่ตู้เย็น

🧄 รากผักชี กระเทียม พริกไทย

เป็นเครื่องเทศที่ใช้ในเมนูอาหารไทยหลายชนิด สามารถนำไปโขลกรวมกันและแช่แข็งเก็บไว้ได้นาน โดยอาจจะแบ่งใส่ถาดทำน้ำแข็งเพื่อให้ง่ายต่อการนำออกมาใช้ในแต่ละครั้ง 

🍋‍🟩 มะนาว

นำไปคั้นน้ำ และแช่แข็งในถาดทำน้ำแข็ง สามารถเก็บได้นานถึง 3 เดือน แบ่งมาผักบางชนิดไม่ควรนำเข้าไปแช่ในตู้เย็น เช่น มันฝรั่ง หอมใหญ่ กระเทียม หอมแดง มะเขือเทศ ให้เก็บในที่แห้งและมีอากาศถ่ายเทสะดวก

 

แถม! วิธีทำให้ผักที่เหี่ยวเฉา กลับมาสดกรอบเหมือนใหม่

ซึ่งสาเหตุที่ผักเหี่ยว เกิดจากผักสูญเสียน้ำและความชุ่มชื้น วิธีทำให้ผักกลับมาสดกรอบเหมือนเดิม สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงนำผักมาแช่ในน้ำเย็นจัด หรือน้ำผสมน้ำแข็ง ประมาณ 5-10 นาที เพียงเท่านี้ผักก็สดกรอบเหมือนซื้อมาใหม่ ๆ

เพียงแค่เรารู้วิธีการจัดการวัตถุดิบที่ถูกต้อง ก็ทำให้เราได้วัตถุดิบที่สดใหม่ในทุกครั้งที่เราทำอาหาร ประหยัดเวลาในการจัดหาวัตถุดิบทดแทนในกรณีที่เกิดการเน่าเสียระหว่างทางเนื่องจากการจัดเก็บไม่ดี แถมยังลดต้นทุนวัตถุดิบได้อีกด้วย

 

และทั้งหมดนี้ก็คือเทคนิค เก็บผักให้อยู่ได้นาน สำหรับร้านอาหารค่ะ หวังว่าเคล็ดลับหลังครัวร้านอาหารจากเชฟหมีที่นำมาฝากกันในวันนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทุกคนนะคะ ฝากติดตาม Cook วงใน ทั้งใน Facebook Youtube และ TikTok ด้วยนะคะ ไว้เจอกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 🥰

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : @torpenguin
YouTube: Torpenguin

👉🏻 อ่านบทความ Cookวงใน อะไรต่อดี?