เจ้าของร้านอาหารมือใหม่หลายคน มักจะมีข้อสงสัยว่า วิธีคิดค่าจ้างพนักงานร้านอาหาร ควรจะเป็นอย่างไร ค่าแรงที่เหมาะสมสำหรับพนักงานแผนกต่างๆ ในร้านอาหารควรจะเป็นเท่าไหร่ดี ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเสิร์ฟ พนักงานล้างจาน กุ๊ก ผู้ช่วยกุ๊ก ฯลฯ
หลายคนกังวลว่า หากจะจ่ายตามฐานค่าแรงขั้นต่ำ ก็จะไม่สามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงานได้ รวมทั้งส่งผลให้หาพนักงานใหม่ๆ ได้ยาก หรือแม้แต่พนักงานเก่าเอง หากวันไหนเห็นว่า ร้านอื่นจ่ายค่าแรงให้มากกว่า ก็พร้อมจะลาออกไปทำร้านใหม่ทันที ส่งผลให้ร้านของคุณสูญเสียพนักงานฝีมือดีไปอย่างน่าเสียดาย
แต่หากจ่ายค่าแรงเริ่มต้นสูง เมื่อถึงเวลาต้องปรับเงินเดือนในแต่ละปี ก็กลายเป็นว่าร้านต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงที่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าจะไม่ยอมปรับเงินเดือนขึ้นก็ไม่ได้ เพราะอาจทำให้พนักงานเกิดความไม่พอใจ จนลาออกได้เหมือนกัน
บทความนี้จึงนำ วิธีคิดค่าจ้างพนักงานร้านอาหาร ที่เหมาะสมมาแนะนำให้กับเจ้าของร้านมือใหม่ เพื่อให้ร้านของคุณสามารถรักษาพนักงานไว้ได้นานๆ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ร้านยังมีกำไรอยู่ได้
ต้นทุนแรงงานที่เจ้าของร้านอาหารต้องรู้
ก่อนจะไปดูวิธีคิดค่าจ้างพนักงานร้านอาหาร เจ้าของร้านต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นอกเหนือจากเงินค่าแรงหรือค่าจ้างแล้ว เรายังต้องวางแผนสำหรับค่าใช้จ่ายก้อนอื่นๆ ที่รวมอยู่ในต้นทุนแรงงานด้วย
ค่าใช้จ่ายที่ถือเป็นต้นทุนแรงงาน นอกเหนือจากค่าแรงหรือค่าจ้าง ได้แก่ ค่าล่วงเวลา (OT) ค่ายูนิฟอร์ม ค่าเบี้ยขยัน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าคอมมิชชั่น/Incentive เงินโบนัสประจำปี ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถือเป็นสวัสดิการที่ร้านอาหารส่วนใหญ่มักจะมีให้กับพนักงานเป็นพื้นฐาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานทุกคน ยังไม่รวมเงินที่ต้องใช้จ่ายในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น จัดเลี้ยงปีใหม่ ซื้อของขวัญวันเกิดให้พนักงาน เป็นต้น
คิดค่าจ้างพนักงานร้านอาหารจาก P&L
วิธีคิดหนึ่งในการคิดค่าจ้างพนักงานร้านอาหาร คือการนำ P&L หรืองบกำไรขาดทุนของร้านมาเป็นตัวตั้งต้นในการคำนวณ
โดยเจ้าของร้านต้องรู้ว่า ยอดขายของร้านเราอยู่ที่เท่าไหร่ จากนั้นจึงนำค่าแรงมาคำนวณ เช่น ร้านของเรามียอดขายเดือนละ 300,000 บาท กำหนดให้ค่าแรงอยู่ที่ 20% (โดยทั่วไปแล้วร้านอาหารควรกำหนดให้ค่าแรงของพนักงานอยู่ที่ประมาณ 15-20% ของยอดขาย) เท่ากับว่า ร้านของเรามีงบสำหรับจ้างพนักงานทั้งร้านไม่เกิน 60,000 บาท
เมื่อได้เงินค่าจ้างต่อเดือนแล้ว ก็นำมาคำนวณว่า ในร้านของเราจำเป็นต้องมีพนักงานกี่คน ตกแล้วสามารถจ่ายให้ได้คนละกี่บาท อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่จ่ายให้กับพนักงานนั้น ต้องยึดตามค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลัก และมีความเหมาะสมกับภาระหน้าที่และตำแหน่งของพนักงาน รวมทั้งอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ไม่เช่นนั้นพนักงานอาจโบกมือลาเราไปสักวันหนึ่ง
ร้านอาหารของเราควรมีพนักงานกี่คน
จากหัวข้อด้านบนนี้ หลายคนเกิดคำถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ร้านของเราควรมีพนักงานกี่คนถึงจะเหมาะสม ในประเด็นนี้มีหลายปัจจัยให้ต้องพิจารณา
แนะนำให้คุณเริ่มต้นจากการพิจารณาขนาดร้านและประเภทร้านของตัวเองก่อน เพื่อดูถึงความจำเป็นในการใช้พนักงาน ดูว่าสเตชั่นการทำงานมีจุดไหนบ้าง หากร้านมีขนาดกว้างมาก ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า ควรจะกำหนดให้มีพนักงานเฉพาะโซนนั้นๆ ด้วยหรือไม่ จากนั้นพิจารณาช่วงเวลาที่เปิดร้าน เพื่อกำหนดว่า จำเป็นต้องใช้พนักงานกี่กะ
นอกจากนี้ควรวางแผนด้วยว่า ร้านของเราจะใช้พนักงาน Full Time กี่คน PartTime กี่คน หากร้านของเรามีคนแน่นเป็นบางช่วงเวลา อาจไม่จำเป้นต้องจ้างทุกตำแหน่งเป็น Full Time ก็ได้ อาจจ้างพนักงาน PartTime มาช่วยเสริมก็เพียงพอแล้ว
หรือหากร้านไหนจำเป็นต้องจ้างพนักงานมาทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมง ก็ควรพิจารณาว่า ระหว่างจ้างพนักงานแบ่งเป็น 2 กะ กับจ่ายเงินให้พนักงานกะเดียว แต่เพิ่ม OT ให้ด้วย แบบไหนจะคุ้มค่ากับร้านกว่ากัน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมพิจารณาด้วยว่า หากจ้างพนักงานทำงานหลายๆ ชั่วโมงติดกัน จะเกิดข้อผิดพลาดในการเสิร์ฟ หรือการบริการจะขาดตกบกพร่องเพราะความเหนื่อยล้าของพนักงานหรือไม่
วิธีคิดค่าจ้างพนักงานร้านอาหาร ที่แนะนำมาข้างต้น น่าจะช่วยเป็นแนวทางให้กับเจ้าของร้านอาหารมือใหม่นำไปพิจารณาและวางแผนต่อได้ไม่ยาก
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คุณสมบัติสำคัญ 7 ข้อ ที่ ผู้จัดการร้านอาหาร ควรมี
วิธีจัดการ Front of House (หน้าร้านอาหาร) ที่เจ้าของร้านอาหารควรรู้
เทรนพนักงานต้อนรับ ให้เป๊ะ ต้อนรับลูกค้าอย่างไร ให้ประทับใจตั้งแต่เข้าร้าน
เจ้าของร้านควรแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อพนักงานไม่ยอมรับ เทคโนโลยีร้านอาหาร
วิธีดับกลิ่นคาวปลา และหลักการเก็บให้คงความสดใหม่ ได้นานกว่า 10 วัน
กานเวลา คราฟต์ช็อกโกแลตเชียงใหม่ ผลผลิตของเกษตรกรไทย ไปไกลถึงระดับโลก
Cafe Cococano ร้านกาแฟคิดต่าง โดดเด่นและมีจุดยืน จนลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ
ข้าวแกงตี๋น้อย ปันสุข โปรเจคใหม่จากสุกี้ตี๋น้อย ปรุงกับข้าวโดยใช้วัตถุดิบตัดแต่งจากไลน์สุกี้
ลาบเสียบ อิซากายะสไตล์อีสานแซ่บ ๆ กับการปลุกปั้นร้านให้เป็นคอมมูนิตี้ของมิตรรักนักดื่ม
Image by boyarkinamarina on Freepik