วาฟเฟิลไส้ทะลัก by น้องนิ้ง ร้านวาฟเฟิลเล็ก ๆ ที่เชื่อว่าตัวเองมีวันนี้ได้เพราะ ’ฟีดแบค’ จากลูกค้า
พูดคุยกับคุณนิล-จารวี คงไพรสันต์ หนึ่งในเจ้าของร้าน วาฟเฟิลไส้ทะลัก by น้องนิ้ง เป็นอีกหนึ่งร้านที่มีคนรู้จักและมีชื่อเสียงขึ้นมาได้เพราะ TikTok แต่สิ่งที่ดึงดูดลูกค้าไม่ใช่แค่ความน่ากินจากคลิป TikTok เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใส่ใจใน ‘ทุกความคิดเห็น’ ของลูกค้า ในแบบที่ยึดเป็นหลักของร้าน จุดนี้นี่เองที่ยังทำให้ลูกค้ายังคงกลับมาหาเสมอ
ก่อนจะมาทำร้านวาฟเฟิลไส้ทะลัก คุณนิลเรียกได้ว่าเป็นแม่ค้าตัวจริงเลยก็ว่าได้ เพราะเธอขายมาหลายอย่างมาก ตั้งแต่เปิดร้านกาแฟ เปิดร้านบิงซูมาก่อน ต่อมาก็เปลี่ยนมาขายข้าวหมูทอดแต่สถานที่ไม่เอื้ออำนวยเลยต้องมาคิดอีกทีว่าจะขายอะไรดี
ตอนนั้นคุณนิลก็ลองรีเสิร์ชดูในอินเทอร์เน็ตจนกระทั่งมาเจอขนมวาฟเฟิล ซึ่งตอบโจทย์สถานที่ที่คุณนิลจะขายได้ และอุปกรณ์ก็ไม่ยุ่งยากเหมือนร้านหมูทอด ก็เลยศึกษาปรับสูตรวาฟเฟิลมาเรื่อย ๆ อาศัยทำแจกคนที่รู้จักจนกระทั่งหลายคนชมว่าอร่อย แล้วจึงเริ่มทำขาย
เริ่มต้นจากเพียง 6-7 ไส้ โพสต์ขายในคอนโดที่อยู่อาศัยและทำหน้าที่ส่งให้ลูกค้าเอง หลังจากทำอยู่ที่คอนโดอยู่ 2 อาทิตย์ก็มาเจอทำเลขายพอดี เลยมาเริ่มตั้งหน้าร้านที่นี่โดยใช้แค่โต๊ะพับเล็ก ๆ กับเตา 3 เตาทำกัน 2 คนเท่านั้น ซึ่งปัญหาในการทำวาฟเฟิลช่วงแรกก็คือ รสชาติที่ยังไม่ลงตัวเท่าไร ก็อาศัยคำติชมจากลูกค้า ปรับไปเรื่อย ๆ จนได้รสชาติที่โอเค
ส่วนไส้จากที่มีไม่กี่ไส้ ก็เพิ่มขึ้นมาตามที่ลูกค้าถามหา ซึ่งเหตุผลในการเพิ่มไส้เข้ามา คุณนิลมองว่าขนาดตัวเองเป็นคนทำขนมขึ้นมา หยิบจับวัตถุดิบวนซ้ำเดิม ๆ ยังรู้สึกเบื่อ แล้วลูกค้าล่ะก็คงมีเบื่อบ้างเหมือนกัน เลยเพิ่มไส้ให้ลูกค้าได้เลือกเพิ่มมากขึ้น
อีกอย่างช่วงหลัง ๆ กระแสอาหารสุขภาพเริ่มเข้ามา คุณนิลก็เลยเอาวัตถุดิบอย่างเผือกหรือมัน ที่ไม่ต้องเอาไปเชื่อมแต่อาศัยการนึ่งเองมาใช้ เพื่อเป็นตัวเลือกให้คนที่รักสุขภาพแต่อยากทานขนมได้มีโอกาสทานขนมด้วย
ราคาขนม 50 บาทเอาไปซื้อข้าวอิ่มกว่า?
แน่นอนว่าขนมก็คือขนม แต่มีคนมากมายที่ชอบทานขนมแทนอาหารหลักอย่างข้าวที่เราทานกัน คุณนิลเข้าใจถึงหัวใจของลูกค้าที่มีเงินจำนวนเท่านี้แต่ต้องเลือกระหว่างขนมกับจานหลัก คุณนิลเลยเลือกทำขนมที่ลูกค้าจะได้ทั้งความอร่อยและความอิ่มไปด้วย
ร้านวาฟเฟิลไส้ทะลัก By น้องนิ้ง มีชื่อมาจากการทำ TikTok และ Reel เนื่องจากตอนนั้นช่วงโควิดทำให้ร้านเงียบเหงามาก เราก็ต้องมองหาช่องทางใหม่ ๆ คุณนิลเลยปรึกษากับแฟนว่าลองถ่ายขนมลง TikTok ดู แม้ตอนแรกจะลังเลแต่ก็ลองทำดู
ปรากฏว่ามีคนสนใจและกดติดตามเพื่อดูคลิปมากขึ้น ทำให้คนที่อยู่นอกจากบริเวณร้านที่คุณนิลตั้งขายอยู่รู้จักร้านมากขึ้น ประกอบกับร้านเข้าระบบเดลิเวอรีทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จากนั้นก็ต่อยอดไปเป็นการขายสูตรขนมด้วยนั่นเอง
ตอนที่ร้านเป็นที่รู้จักมาก ๆ มีลูกค้ามายืนรอเกือบ 2 ชั่วโมง เพราะร้านที่ขนาดจำกัดทำให้วางเตาได้เพียงไม่กี่ตัว ประกอบกับทำกันเองสองคนกับแฟนทำให้แต่ละออเดอร์ใช้เวลานาน ซึ่งไม่สามารถเร่งได้ด้วยเพราะรสชาติจะไม่อร่อย ตอนนั้นคุณนิลต้องปิดระบบเดลิเวอรีออกไปเลยเพราะไม่งั้นลูกค้าจะรอนานยิ่งกว่าเดิม
พอถึงเวลาขยับขยายบางร้านจะเลือกการเปิดแฟรนไชส์เป็นอันดับแรก ๆ แต่ทำไมคุณนิลถึงเลือกขายสูตรแทน? ทั้ง ๆ ที่เรื่องของสูตรเป็นอะไรที่หลาย ๆ ร้านหวงมาก
คุณนิลบอกกับเราว่าตอนแรกก็หวงเหมือนกับร้านทั่วไปนั่นแหละ จนได้ไปเจอคลิป ๆ นึง ตอนกำลังหาความรู้เพื่อมาพัฒนาร้าน นั่นทำให้ความคิดของคุณนิลเปลี่ยนไปเลย คุณนิลมองว่าการพัฒนาตัวเองให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำกับร้านตัวเอง
การเป็นร้านที่พัฒนาตัวเองไม่หยุดทำให้ลูกค้ายังเป็นลูกค้าประจำกับเราได้ แม้จะมีร้านที่ขายเหมือนกัน ราคาถูกกว่า เราก็ยังสามารถอยู่ได้
จากวันนั้นทำให้คุณนิลเลิกหวงสูตรแล้วเปลี่ยนมาขายสูตรแทน เพราะคนที่ซื้อไปก็ได้ประโยชน์ คุณนิลเองก็ยังใส่ใจทำขนมพร้อมพัฒนาต่อยอดร้านเสมอ เลยเลิกกลัวว่าคนอื่นจะมาขายแข่งกับตัวเอง
ขายสูตรพร้อมคำแนะนำ คนที่มาซื้อสูตรขนมของคุณนิลนอกจากจะได้สูตรขนมไปแล้ว คุณนิลจะแนะนำอุปกรณ์ว่าใช้ยี่ห้ออะไร ไส้ต้องซื้อแบบไหน สอนเทคนิคในการทำขนม ซึ่งการขายสูตรไม่จำเป็นต้องทำเรื่องพวกนี้ก็ได้ แต่คุณนิลเลือกที่จะทำเพราะอยากให้คนที่ซื้อสูตรขนมไปทำขนมได้จริง ขายได้เงินจริง จะไปขายตรงไหนก็ได้ ขายที่บ้าน ไม่ต้องมีหน้าร้านก็สามารถทำได้
แม้เมื่อก่อนการขายสูตรขนมจะเคยเป็นกำแพงในใจของคุณนิล แต่ตอนนี้มันกลายเป็นความสุขที่คุณนิลได้รับจากการ ‘เป็นผู้ให้’ ได้ทำให้คนอื่นมีรายได้
การมุ่งมั่นตั้งใจในการทำร้านนี้ด้วยความใส่ใจ ค่อย ๆ เริ่มจากสิ่งที่มี เรียนรู้ศึกษา และรับฟังคำติชมจากลูกค้า จนสามารถพัฒนาร้านให้กลายเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ จากวันแรกที่ขายได้ 739 บาท วันนี้คุณนิลสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับตัวเอง
แพลนในอนาคตของวาฟเฟิลไส้ทะลักคือ การขยายสาขาไปขายบนห้างสรรพสินค้าได้ คุณนิลมีไอเดียอยากจะให้คนได้รู้จักวาฟเฟิลของตัวเองมากขึ้น ซึ่งห้างสรรพสินค้าน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี และเธอกำลังศึกษาว่าจะนำขนมวาฟเฟิลเข้าไปตรงจุดนั้นได้อย่างไร
“ร้านนี้เติบโตได้ก็เพราะคำแนะนำจากลูกค้า“
แม้จะเป็นร้านเล็ก ๆ แต่คุณนิลไม่ได้ปิดใจในการฟังความเห็น ปรับปรุงตามที่ลูกค้าขอ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ดีที่สุด เพราะหากไปทำเอง พัฒนาตามที่ตัวเองคิดบางทีก็ไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ ร้านก็จะเติบโตไม่ได้
ถึงคนที่อยากจะเริ่มทำร้านอาหาร “ความมั่นใจ” เป็นสิ่งคุณนิลอยากฝาก
อย่ากลัวที่จะลงมือทำ หากไม่มีความมั่นใจในตัวเอง แล้วใครกันจะมามั่นใจในตัวเรา ถ้าเราอยากเปิดร้านเราเพียงแค่ต้องใส่ใจ ให้ความรู้ แล้วเริ่มลงมือทำเลย แม้มันจะออกมาไม่ดีตั้งแต่แรก แต่ถ้าไม่เริ่มต้นเราก็จะไม่มีทางรู้ว่ามันจะออกมาดีหรือไม่ดี เราจะไม่ได้เรียนรู้ความสำเร็จหรือความผิดพลาดอะไรเลย ถ้าวันนี้เราไม่กล้าที่จะเริ่มต้นจะทำมัน
นี่เป็นตัวอย่างของร้านไซส์เล็กที่ไม่มีกำแพงในใจเลยแม้แต่น้อย การพร้อมที่จะเรียนรู้ พัฒนาตัวเองและโปรดักซ์ รวมไปถึงการเป็นธุรกิจที่ไม่เอาแต่ได้อยู่คนเดียว แต่พร้อมที่จะพาผู้คนเติบโตไปพร้อม ๆ กัน หวังว่าเรื่องราวของคุณนิลจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ไว้พบกันใหม่ในบทความหน้า ฝากติดตาม Torpenguin 🐧 ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะคะ
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านบทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ
- ชื่อโคตรปั่น การตลาดสุดแหวก “อนันต์จะปั่นชาเย็น” ร้านชาที่มัดใจลูกค้า ด้วยความฮา
- SYNOVA ตัวละครลับเบื้องหลังความสำเร็จของร้านขนมชื่อดังระดับโลก ที่เกิดจากคนเรียนจบหมอที่หลงใหลในขนม
- Dots Coffee กับความตั้งใจที่จะเปลี่ยนภาพจำของสังคมที่มีต่อผู้พิการทางสายตา ผ่านธุรกิจกาแฟ
- Phed Phed อาณาจักรความแซ่บ ร้านอาหารอีสานที่ยืนหยัดในความเป็นตัวเอง อาศัยปากต่อปากจนเปิด 6 สาขาได้ใน 6 ปี
- ลุงหนวดหมูทอด ร้านข้าวเหนียวหมูขวัญใจเด็ก ม.กรุงเทพ ผู้เชื่อมั่นในแนวคิด “เราอยากกินของอร่อยแบบไหน ลูกค้าต้องได้กินแบบนั้น” มาตลอด 26 ปี
- เสน่ห์ ร้านขนมไทย ที่เชื่อว่าขนมไทยไม่ได้อยู่ได้เพราะกระแส แต่ต้องอยู่ได้ด้วยรสชาติ
- ผงชูรส ร้านอาหารไทย-อีสาน กับเส้นทางสุดจัดจ้านที่ไม่ได้โรยด้วยผงชูรสแม้แต่นิดเดียว
- Chomcha ร้านชาโอมากาเสะที่ตั้งใจให้ลูกค้ารู้สึก ‘เหมือนมาบ้านเพื่อนมากกว่ามาร้านชา’
- B:A:S Beef Alternative Service จากธุรกิจจักรยานสู่ธุรกิจเนื้อ เพราะวิกฤตมันบังคับให้เราต้องเปลี่ยน
- เพราะ ‘ความแปลก’ คือจุดขายที่ตั้งใจ 10010bar ร้านคราฟต์ไอศกรีมที่เชื่อว่า ไอศกรีมเป็นได้ทุกรสชาติ
- หมูทอดติดฟัน จากร้านหมูทอดข้างถนน สู่การเป็นแบรนด์แฟรนไชส์หมูทอด
- รำไพขนมไทย ขนมบ้าบิ่นคิวยาว ที่มีวันนี้ได้เพราะคว้าทุกโอกาสที่เข้ามา