ร้านเจ๊งจากอะไร ? 9 จุดเล็ก ๆ ที่คาดไม่ถึงแต่พาหลายร้านเจ๊งมาแล้ว
จุดเล็กหลายจุดรวมกันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ รวบรวมบทเรียนจากคนเคยเจ๊ง และไม่อยากให้คุณเจ๊งเหมือนกัน
1.เล่นใหญ่เกิน
การตกแต่งร้านด้วยทุนจำนวนมากส่งผลดีต่อลูกค้า เพราะช่วยสร้างความประทับใจ และความรู้สึกดีในการใช้บริการ แต่ยิ่งลงทุนมากการคืนทุนยิ่งช้า ทำให้เราต้องมีเงินสำรองจำนวนมาก ซึ่งหากลงทุนทั้งหมดโดยไม่มีเงินสำรอง ก็มีโอกาสที่ร้านจะเสี่ยงเจ๊งสูง
สิ่งที่ควรใช้เป็นหลักในการตัดสินใจในการลงทุน ควรจะเป็นแบรนด์และช่วงราคาขายของเรามากกว่า เราวางแบรนด์ไว้ในระดับไหน ก็ควรแต่งร้าน เลือกใช้เครื่องมืออุปกรณ์ให้อยู่ในระดับนั้น ไม่จำเป็นต้องลงทุนเกินตัว
หากต้องการแต่งร้านให้สวย ให้วางแผนหารายได้จากการให้ร้านใช้เป็นสถานที่ถ่ายงาน เพื่อช่วยได้ค่าแต่งร้านกลับมาอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งรายได้อื่นนั้นอาจจะได้ง่าย และทำให้คืนที่ได้ไวกว่าขายอาหาร เครื่องดื่ม แค่อย่างเดียว
ทำธุรกิจต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองมีรายได้ทางเดียว แต่ให้พยายามใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ลงทุนไปแล้วให้มากที่สุด
2. รู้ตัวช้าปรับตัวไม่ทัน
ไม่มีร้านไหนที่อยู่รอดได้โดยไม่มีการปรับตัวไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กหรือร้านใหญ่ ตัวอย่างมีให้เราเห็นได้เรื่อย ๆ อย่ารอให้ถึงคิวของร้านเราเลย การที่เราจะสามารถหาวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ในธุรกิจได้ มันต้องเริ่มจากการมีวิธีคิดที่ดีที่ถูกต้องก่อน อย่าคิดว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างมันมีทางของมันเสมอขอแค่หมั่นสังเกต ตั้งคำถาม อยู่ตลอด
เรื่องของเทคโนโลยีในวงการธุรกิจร้านอาหารยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก อย่าปฏิเสธยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงเลยครับ ทั้งในเรื่องรูปแบบเมนู การตลาด หรือ พฤติกรรมลูกค้า ซึ่งการที่เราจะปรับตัวได้ทันกับตลาดการมีข้อมูลย้อนหลังที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะหากเราไม่มีการเก็บข้อมูลย้อนหลังเราก็จะไม่สามารถบริหารจัดการอะไรได้เลย
3. ทำงานกับครอบครัวหรือคนรู้จัก
เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วก็มักจะปล่อยปละละเลยถือว่าไม่เป็นไร การธุรกิจกับครอบครัวหรือคนสนิทมักเป็นแบบนี้เสมอครับ ปัญหาก็ซุกอยู่ใต้พรมไปเรื่อย ๆ จะมารู้ตัวอีกทีก็ใหญ่โตจนปิดไม่มิด จะแก้ก็แก้ไม่ทัน เจ๊งไปตามระเบียบ
อีกเรื่องคือ ‘วิธีการทำงาน’ ของทุกคนก็ทำให้ธุรกิจมีปัญหาได้เหมือนกัน เมื่อก้าวเข้าสู่ที่ทำงาน ก็ควรแยกแยะครับ จะไม่มีใครเป็น พ่อ แม่ ลูก แต่ทุกคนจะสวมหมวกของตำแหน่งและรับผิดชอบงานตามหน้าที่ของตน และที่สำคัญ ทำทุกอย่างอยู่บนเอกสารไม่ใช่ปากเปล่า
4. คุมค่าใช้จ่ายไม่อยู่
Hard Costs, Soft Costs ไม่รู้จัก ค่าใช้จ่ายบานปลาย ไม่ว่าจะจากวัตถุดิบ หรือจากการเอาเงินหน้าร้านไปจ่ายจิปาถะโดยขาดการวางแผนเรื่องการเงิน ดังนั้นเราจึงควรควบคุมค่าใช้จ่ายภายในร้านให้ได้ และทำการแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายให้เป็น สำคัญคืออย่าเอาเงินร้านมาเป็นเงินเราทั้งก้อน แต่ควรแบ่งสัดส่วนเงินเดือนของเราเอาไว้ตั้งแต่เริ่ม
5. เลือกทำเลผิดตั้งแต่เริ่ม
บางคนเลือกทำเลเปิดร้านอาหารในพื้นที่ที่มีคนมาก เพราะคิดว่ายังไงก็มือลูกค้าแน่นอน แต่บางครั้งเขาอาจไม่ใช่กลุ่มลูกค้าของร้านคุณ มันก็จะทำให้ร้านคุณขายไม่ค่อยได้ ถ้าหากคุณเปิดร้านมาสักพักแล้ว การจะเปลี่ยนทำเลไปหากลุ่มลูกค้าจริง ๆ อาจเป็นเรื่องยากเพราะในการเปิดร้านใหม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนที่สูง ซึ่งสิ่งที่คุณจะทำได้เลยคือ อาจต้องลองเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า ปรับร้านให้เข้ากับทำเล และพฤติกรรมของลูกค้าแถวนั้นมากขึ้น
ฉะนั้น ก่อนจะเปิดร้านต้องศึกษาทำเล และพฤติกรรมของลูกค้าให้ดีก่อน เพราะทำเลถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ร้านอาหารประสบความสำเร็จอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้
6. ไม่มีจุดขาย
ใครว่าดีขาย ใครว่าทำอันนี้รวยเอาบ้าง Core Product ไม่มี เพราะไม่คิดตั้งแต่เริ่มทำ ซึ่งมันควรเป็นสิ่งแรกด้วยซ้ำ ที่เราต้องหาจุดต่างของร้านเราให้เจอ พร้อมกับตอบให้ได้ว่าทำไมลูกค้าจึงต้องซื้อสินค้าจากร้านของเรา แทนการซื้อจากร้านของคู่แข่ง
7. อยากรีบรวยเกินเหตุ
การเร่งเปิดสาขาเป็นจำนวนมาก แต่ลูกค้าไม่ขยายตามจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งระบบยังไม่แข็งแรงพอก็อาจทำให้ร้านของเราเจ๊งได้เช่นกัน สิ่งสำคัญที่ต้องคิดตอนขยายสาขาคือถ้าเปิด ต่อให้สาขานั้นเจ๊ง ต้องไม่กระทบกับร้านอื่น ๆ แบรนด์ดิ้งต้องแข็งแกร่ง ฐานลูกค้าต้องมากพอ ที่สำคัญคือทีมต้องพร้อม
8. ทุจริตในร้านอาหาร
เป็นเรื่องที่เกิดได้กับร้านใหญ่ ๆ เป็นส่วนใหญ่ (แต่ร้านเล็กก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี) อาจจะเป็นการทุจริตกันเเค่เล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้เกิดการตรวจสอบได้ยากขึ้น แต่ไอเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เนี่ยแหละ ทำให้หลายร้านเจ๊งแบบไม่รู้ตัวมาแล้ว เลยต้องมีกฏเกณฑ์ในการรับพนักงานเข้ามาทำงาน เเละมีระบบรักษาความป้องกันอย่างเข้มงวดเสมอ
9. ขาคความรู้เรื่องของการบริหารจัดการ
การทำร้านอาหาร เจ้าของร้านไม่จำเป็นต้องลงสนามทำเองทุกอย่างเสมอไป แต่ต้องบริหารจัดการเป็น เรื่องนี้สำคัญที่สุดแล้วสำหรับการเป็นเจ้าของร้านทั้งแบบคุมเองและแบบมีผู้จัดการ การจัดการไม่ต่างจากแขนขาที่ใช้พยุงร้านเอาไว้
คุณจำเป็นที่จะต้องเข้าใจทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นระบบครัว ระบบการบริการ Staff Training Coaching และส่วนซัพพอร์ต ตั้งแต่การทำการตลาด ดูแลเอกสาร รวมไปถึงการบริหารวิกฤตและความเสี่ยงของธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่มักใส่ใจแค่เรื่องที่ตัวเองถนัด อย่างการทำอาหาร ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็เอาตัวรอดไปแบบวันต่อวัน ไม่อยากเจ๊งอย่าปล่อยเบลอเรื่องพวกนี้เลย
หวังว่าบทความที่นำมาฝากกันในวันนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการและคนที่อยากเปิดร้านอาหารทุกท่านนะคะ ฝากติดตาม Torpenguin ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 😊
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ
- รู้จัก COGS ต้นทุนก้อนใหญ่ที่สุดของคนทำร้านอาหาร ร้านเจ๊งไม่เจ๊ง ดูกันตรงนี้
- เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวทำไมถึงเจ๊ง ? เปิด 5 สาเหตุที่ทำให้ร้านเจ๊งไม่เป็นท่า แม้จะอร่อยก็ตาม
- ต้นทุนแฝงร้านอาหาร ภัยเงียบที่ทำให้ร้านเราเจ๊งได้
- จุดตายเรื่อง ‘เงิน’ ที่ทำให้หลายธุรกิจเจ๊งมานักต่อนัก
- กำไรเยอะ ก็เจ๊งได้ นะ 5 ทริคง่าย ๆ ในบริหารกระแสเงินสดให้คล่องสำหรับเจ้าของร้านอาหาร
- ธุรกิจใกล้เจ๊ง ทำยังไงดี ? 3 สิ่งที่ควรทำเมื่อกำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้
- ทำไมร้านกาแฟเจ๊งเยอะ? รวมปัญหาที่คนอยากเปิดร้านกาแฟควรรู้
- รับช่วงต่อกิจการ อย่างไรไม่ให้เจ๊ง!
- กลัวร้านเจ๊ง ต้องอ่าน 5 สิ่งอย่าทำ! ถ้าไม่อยากให้ร้านเจ๊งก่อนเวลาอันควร