ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มปี 2568 ศูนย์วิจัยกสิกรคาดขยายตัว 4.6% มูลค่าตลาด 657,000 ล้านบาท
วันนี้มีสรุปภาพรวมที่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยออกมาในส่วนของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมาฝากกันค่ะ ปีหน้าธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มจะเป็นอย่างไรไปดูบทวิเคราะห์นี้กันเลย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ในปี 2568 เติบโต 4.6% จาก ปี 2567 จากภาคการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังเติบโต การขยายสาขาของผู้ประกอบการไปยังภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและความต้องการอาหารและเครื่องดื่มใหม่ที่เพิ่มขึ้นช่วยหนุนการเติบโตของตลาด แต่ธุรกิจมีการแข่งขันสูงทำให้การลงทุนยังต้องระวัง
แยกเป็น ธุรกิจร้านอาหาร (รวมร้านอาหารประเภทร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด และร้านอาหารข้างทางหรือ Street Food ที่มีหน้าร้าน) ในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ 572,000 ล้านบาท เติบโต 4.8% จากปี 2567 กลุ่มร้านอาหารข้างทาง (Street Food) มีอัตราการเติบโตดีกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากได้รับความนิยมจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurants)
คาดว่าจะเติบโต 2.9% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 213,000 ล้านบาท โดยร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่มองเรื่องความคุ้มค่าและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป สำหรับกลุ่มร้านอาหารประเภทอะลาคาร์ท (A La Carte) อย่างกลุ่ม Casual Dining อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ไทยและตะวันตก ในกลุ่มราคาระดับกลางจะเจอกับความท้าทายจากกำลังซื้อและการแข่งขันจากร้านที่เปิดให้บริการจำนวนมาก
ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service Restaurants)
คาดว่าจะเติบโต 3.8% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 93,000 ล้านบาท การขยายตัวจะมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการอย่างกลุ่มพิซซ่า และไก่ทอด และจากผู้ประกอบการที่ให้บริการในรูปแบบ Full Service ได้ปรับรูปแบบร้านอาหารมาเป็นแบบ Quick service มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้นและเป็นการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ
ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) ที่มีหน้าร้าน
คาดว่าจะเติบโต 6.8% จากปี 2567 หรือมีมูลค่า 266,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่ายและราคาไม่สูง ทำให้ร้านอาหารกลุ่มนี้ยังขยายตัวดี กอปรกับร้านอาหารแนว Street Food ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติ
ขณะที่ ธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) ในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ 85,320 ล้านบาท เติบโต 3.2% จากปี 2567
การเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายเล็ก (บุคคล) ยังมีการเปิดร้านใหม่ รวมถึงการขยายแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มของชาวต่างชาติที่น่าจะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น นอกจากนี้ เครื่องดื่มและเบเกอรี่ใหม่ๆ จากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาด มีส่วนกระตุ้นความต้องการบริโภคเครื่องดื่มและเบเกอรี่มากขึ้น
ด้านการแข่งขัน
ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศมีการแข่งขันรุนแรงในทุกระดับราคาและประเภทของอาหาร
ทิศทางลงทุนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวสูง อาทิ ชลบุรี เชียงใหม่และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพ โดยจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วประเทศ
นอกจากนี้ การแข่งขันในธุรกิจยังมาจากการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้น
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มูลค่าทุนจดทะเบียนร้านอาหารและเครื่องดื่มจำแนกตามสัญชาติ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 กลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มจากจีนมีมูลค่าการลงทุนที่เร่งตัวขึ้น และแนวโน้มการเข้ามาลงทุนน่าจะเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ การแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงก็ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปิด-ปิดกิจการของผู้ประกอบการใหม่และเก่าเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ร้านอาหารปิดตัวเร่งขึ้น โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ร้านอาหารมีการจดทะเบียนยกเลิกธุรกิจสูงถึง 89% (YoY) ขณะที่การเปิดตัวใหม่ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ความเสี่ยงในธุรกิจ
ส่วนเรื่องของความเสี่ยงในธุรกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อภาวะการมีงานทำและกำลังซื้อของผู้บริโภค
ต้นทุนการดำเนินธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ในปี 2568 ต้นทุนรอบด้านของธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่า รวมถึงต้นทุนสำคัญอย่างค่าแรง และต้นทุนวัตถุดิบ จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและความผันผวนทางเศรษฐกิจ
รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจบริการ โดย “ความแปลกใหม่+ประสบการณ์+สุขภาพ+ราคาสมเหตุสมผล” ได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้บริโภคในปัจจุบัน และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำและเปลี่ยนแปลงตามกระแสอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
ปีหน้าจะเป็นปีที่ไม่ง่ายเลยอีกปีของผู้ประกอบการ (จะกี่ปีก็ไม่เคยง่าย 🥲) การดูตลาดและปรับตัวไปตามแนวโน้มนั้น ๆ เป็นสิ่งที่เราพอได้ในยุคนี้ ใกล้สิ้นปีแล้วอย่าลืมวางแผนสำหรับปีหน้าเพื่อความไม่ประมาทกันด้วยนะคะ
หวังว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มปี 2568 นี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทุกท่านนะคะฝากติดตาม Torpenguin ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 😊
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ
- สีแห่งปี 2025 Pantone ประกาศให้ ‘สี Mocha Mousse’ เป็น Color of the year ประจำปี 2025 นี้
- ประกาศแล้ว! ร้านที่ได้คว้า ‘บิบ กูร์มองด์’ ใน ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทย ประจำปี 2025
- สีแห่งปี 2025 มาแล้ว! กับ 7 สีที่มาแรงแน่ในปีหน้า โดย Creative Thailand
- Consumer Profile 2025 เปิด 4 เทรนด์ผู้บริโภคน่าจับตามองในปี 2025 จาก Creative Thailand
- ทำ Real Time คอนเทนต์ ยังไงให้ได้ผล สรุป 15 บทเรียนที่เจ้าของธุรกิจควรรู้