4 ปัญหาแฟรนไชส์ ที่หลายคนเจอ พร้อมวิธีรับมือ

หลายคนอยากลงทุนเปิดร้านอาหาร แต่ไม่กล้าเริ่มต้นทำร้านด้วยตัวเอง เพราะไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน จึงเลือกที่จะซื้อแฟรนไซส์ เพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เสี่ยงน้อยกว่า ทำการตลาดง่ายกว่า และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงกว่าเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยตัวเอง แต่เมื่อลงมือทำไปแล้ว ก็ต้องพบกับ ปัญหาแฟรนไชส์ หลายอย่างที่แก้ไม่ตก

บทความนี้จึงรวบรวมเอา ปัญหาแฟรนไชส์ ที่หลายคนมักจะเจอ พร้อมวิธีรับมือมาฝาก เพื่อให้แฟรนไชส์ซีมือใหม่ หรือคนที่วางแผนจะซื้อแฟรนไชส์ เตรียมตัวให้พร้อม

คำศัพท์เกี่ยวกับแฟรนไชส์

  • แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) คือ ผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจ หรือเจ้าของแบรนด์
  • แฟรนไชส์ซี (Franchisee) คือ ผู้รับ สิทธิในการประกอบธุรกิจ หรือผู้ซื้อแฟรนไชส์
  • แฟรนไชส์ฟี (Franchise Fee) คือ ค่าธรรมเนียมแรกเข้าก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ ที่แฟรนไชส์ซีต้องจ่ายให้กับแฟรนไชส์ซอร์
  • รอยัลตี้ฟี (Royalty Fee) คือ ค่าธรรมเนียมที่แฟรนไชส์ซีต้องจ่ายให้กับแฟรนไชส์ซอร์อย่างต่อเนื่อง เช่น รายเดือน รายปี ส่วนใหญ่มักจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายรายเดือน

ปัญหาแฟรนไชส์ ที่หลายคนเจอ พร้อมวิธีรับมือ

1. กำไรน้อย เพราะต้นทุนอาหารสูง

ก่อนที่จะซื้อแฟรนไชส์ นอกจากจะต้องสำรวจทำเล ดูความต้องการของตลาด ดูเงินลงทุน และสัญญาแล้ว ต้องไม่ลืมดูราคาวัตถุดิบที่เราต้องซื้อจากแฟรนไซส์ซอร์ด้วย หลายเจ้าขายแฟรนไชส์ในราคาถูกก็จริง แต่ก็มาพร้อมราคาวัตถุดิบที่แสนแพง แม้ว่าจะขายดีแค่ไหน แต่กำไรก็แทบไม่เหลือ 

ทางออกของปัญหานี้คือ ลองพูดคุยกับแฟรนไชส์ซอร์เพื่อขอซื้อวัตถุดิบกับแหล่งอื่น ที่ราคาถูกกว่า แต่ยังได้คุณภาพเท่าเดิม และไม่ทำให้สูตรและรสขาติผิดเพี้ยนไป หรือไม่ก็ลองขอเพิ่มเมนูใหม่ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าและมีกำไรสูงขึ้น มาขายควบคู่กัน แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่ผิดเงื่อนไขในคู่มือหรือสัญญาที่ตกลงกันไว้ด้วย

2. เลือกทำเลผิด ชีวิตเปลี่ยน

การเลือกทำเลมีส่วนสำคัญมากๆ ต่อความอยู่รอดของร้านอาหาร แม้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่เราซื้อมานั้นจะมีชื่อเสียงโด่งดังแค่ไหน แต่ถ้าเลือกทำเลพลาด ก็มีโอกาสเจ๊งได้เหมือนกัน เช่น เปิดร้านในต่างจังหวัด โซนนอกเมือง แม้ว่าคู่แข่งจะน้อย แต่ลูกค้าเป็นกลุ่มที่ไม่มีกำลังซื้อ สุดท้ายก็ขาดทุน หรือเปิดร้านในทำเลที่ลูกค้ามีกำลังซื้อ แต่มีคู่แข่งที่แข็งแรงกว่าเปิดร้านอยู่ใกล้ๆ สุดท้ายก็ทำยอดขายได้ไม่ตรงตามเป้าที่วางไว้

ดังนั้น ทางที่ดีแฟรนไซส์ซีมือใหม่ควรศึกษาทำเลให้ดีก่อนจะตัดสินใจลงทุน ดูความหนาแน่นของลูกค้า ดูช่วงเวลาที่มีโอกาสขายได้ ดูกำลังซื้อ ดูคู่แข่งที่อยู่ใกล้กัน ดูต้นทุนทำเล และดูเงื่อนไขของสถานที่นั้นๆ เช่น เวลาเปิด-ปิด (ในกรณีเช่าพื้นที่สำนักงานอาคาร หรือพื้นที่ห้างฯ)

3. ไม่ได้รับการดูแลจากแฟรนไชส์ซอร์

บางคนเมื่อซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว กลับไม่ได้รับการดูแลจากแฟรนไชส์ซอร์เท่าที่ควร โดยเฉพาะด้านการตลาด ทำให้รู้สึกเหมือนกับถูกทอดทิ้ง และไปต่อไม่ได้ ส่วนใหญ่คนที่มักเจอปัญหานี้ คือ แฟรนไชส์ซีที่ซื้อแฟรนไชส์แบบที่ไม่ต้องจ่ายค่า Royalty fee ซึ่งก็คือค่าสิทธิ์ หรือ ค่าธรรมเนียมการจัดการรายเดือน ที่เรียกเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย 

การที่แฟรนไชส์ซอร์ไม่เรียกเก็บค่า Royalty fee นั้นเป็นวิธีที่ทำให้คนสนใจซื้อแฟรนไชส์เป็นจำนวนมาก เพราะมีต้นทุนน้อยก็จริง แต่ในทางกลับกัน ก็ทำให้แฟรนไชส์ซอร์ไม่มีเงินสำหรับนำไปสนับสนุนแฟรนไชส์ซีด้วย 

เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ แนะนำให้ลองพูดคุยกับแฟรนไชส์ซอร์ และอธิบายถึงความคาดหวังของคุณ และบอกว่า การดูแลด้านการตลาดที่ดี จะมีผลต่อการสร้างยอดขายและภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ และสอบถามว่า มีวิธีใดที่คุณสามารถร่วมมือกันได้ในการสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาดได้บ้าง แต่หากแฟรนไชส์ซอร์ยังไม่ให้การซัพพอร์ต คุณอาจต้องพัฒนาแผนการตลาดด้วยตัวเอง โดยศึกษาวิธีการทำโฆษณาทางออนไลน์ และสื่อหน้าร้าน นอกจากนี้อาจขอคำแนะนำจากคนอื่น หรือศึกษาวิธีทำการตลาดจากแฟรนไชส์เจ้าอื่นๆ เป็นตัวอย่าง

4. พลาดสาขาเดียว กระทบทั้งแบรนด์

ปัญหาที่น่าหนักใจอีกอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจแฟรนไชส์ คือเมื่อทางแบรนด์ใหญ่ หรือแฟรนไชส์ซีบางเจ้าเกิดปัญหา หรือทำเรื่องที่เสื่อมเสียชื่อเสียง ก็มักจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแฟรนไชส์สาขาอื่นๆ ทำให้ถูกมองในทางลบตามไปด้วย 

วิธีรับมือกับปัญหานี้คือ สื่อสารกับลูกค้าของคุณอย่างตรงไปตรงมา เพื่อชี้แจงสถานการณ์ และอธิบายว่า ทางแบรนด์กำลังพยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้ ในขณะเดียวกันคุณต้องรักษามาตรฐานของร้านให้ดีเหมือนเดิมให้ได้ ทั้งคุณภาพของอาหารและการบริการ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า และเสริมสร้างภาพลักษณ์ จนกลับมาเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าอีกครั้ง

เชื่อว่า ไม่มีใครอยากเจอ ปัญหาแฟรนไชส์ ทั้ง 4 ข้อที่ว่ามาข้างต้น ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจลงทุนกับธุรกิจแฟรนไชส์ ควรประเมินธุรกิจให้รอบคอบ เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาตามมา

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin

Instargram : torpenguin

TikTok : @torpenguin

YouTube: Torpenguin

👉🏻 อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ทำความเข้าใจเรื่อง SOP ร้านอาหาร สิ่งสำคัญที่ทุกร้านต้องมี

ออร์เดอร์ล้น ออกอาหารช้า ลูกค้ารอนาน ควรรับมืออย่างไร

9 เทคนิค วางผังครัวร้านอาหาร ให้ทำงานราบรื่น แถมประหยัดต้นทุน

สูตรซอสผัดอเนกประสงค์ ใช้ได้ครอบจักรวาล พร้อมวิธีการคำนวณต้นทุน

เทคนิคเก็บ เซอร์วิสชาร์จร้านอาหาร ทำอย่างไรให้ลูกค้าพอใจที่ต้องจ่าย

ไขคำตอบ เมนูเยอะ ดีจริงหรือไม่? เพราะอะไรจึงทำให้เสี่ยงขาดทุน