“พนักงาน” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของร้านอาหาร และยังเป็นตัวแปรที่ทำให้ร้านอาหารเกิดความเสียหายได้เช่นเดียวกัน จริงอยู่ว่า คงจะไม่มีใครอยากเจอกับ ปัญหาพนักงานร้านอาหาร แต่ในความเป็นจริงนั้น มักจะหลีกเลี่ยงได้ยาก
ปัญหาพนักงานร้านอาหาร ถือเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของการทำร้านอาหาร ที่สร้างความหนักใจให้เจ้าของร้านหลายต่อหลายคน บทความนี้เราจึงรวบรวมปัญหาสุดฮิตที่เจ้าของร้านส่วนใหญ่มักจะเจอมาฝาก หากรู้และเตรียมตัวรับมือเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจช่วยให้คุณบริหารจัดการพนักงานได้ง่ายยิ่งขึ้น
1. หาพนักงานยาก โดยเฉพาะพนักงานมือดี
เจ้าของร้านอาหารหลายคนมักจะเจอเรื่องปวดหัวตั้งแต่เริ่มต้นเปิดร้าน เพราะหาพนักงานที่ตรงใจไม่ได้สักที แม้ว่าจะปิดประกาศรับสมัครงานไว้ตามที่ต่างๆ ก็แล้ว โพสต์ลงในเว็บไซต์หางานก็แล้ว แจกใบปลิวก็แล้ว แต่ก็ยังเงียบกริบ หรือไม่ก็เจอแต่คนที่ไม่ตรงสเปก ไม่มีทักษะตามที่ต้องการ
หากเจอปัญหาเหล่านี้ เจ้าของร้านอาหารต้องย้อนกลับมาสำรวจตัวเองอีกทีว่า มีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้พนักงานไม่อยากมาร่วมงานกับเรา เช่น
- ข้อความที่ใช้ในการสมัครงานยังไม่สะดุดตา ทางแก้คือ ออกแบบประกาศรับสมัครงานที่สวยงาม เข้าใจง่าย อะไรที่เป็นจุดเด่นของเรา ก็เน้นให้ชัดเจน นอกจากนี้ควรใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน ทั้งชื่อตำแหน่ง เงินเดือน สวัสดิการ สถานที่ตั้งร้าน และช่องทางการติดต่อ
- ฐานเงินเดือนต่ำกว่ามาตรฐาน ทางแก้คือ สำรวจฐานเงินเดือนในท้องตลาด หากเงินเดือนของคุณต่ำกว่าคู่แข่ง ควรปรับให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
- สวัสดิการสู้ร้านอื่นไม่ได้ ทางแก้คือ เพิ่มสวัสดิการที่ดึงดูดใจ เช่น มีเงินทิป มีเบี้ยขยัน ปรับเงินเดือนประจำปี มีที่พักฟรี มีวันหยุดที่เหมาะสม
- ทำเลไม่สะดวกต่อการเดินทาง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะช่วงหลังเลิกงาน ที่ไม่มีรถโดยสารประจำทางวิ่ง ทางแก้คือ ซัพพอร์ตค่าเดินทางในรอบปิดร้าน หรือให้ที่พักสำหรับพนักงานบ้านไกล
2. พนักงานลาออกบ่อย ทำงานไม่กี่วันก็หายไป
นอกจากจากจะหาพนักงานยากแล้ว การรักษาพนักงานให้อยู่กับเราไปนานๆ นั้นยากยิ่งกว่า คนที่ทำงานเก่งๆ บางคน อาจถูกร้านอื่นซื้อตัวไป บางคนทำงานได้ไม่กี่สัปดาห์ หรือหนักกว่านั้นคือไม่กี่วัน ก็หายไปดื้อๆ โดยไม่บอกไม่กล่าว บางคนกลับบ้านต่างจังหวัดในช่วงเทศกาล หลังจากนั้นก็ไม่กลับมาอีกเลย ทำให้เจ้าของร้านไม่มีเวลาตั้งตัวในการหาพนักงานใหม่
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น พนักงานรู้สึกว่าร้านไม่แฟร์ ใช้งานหนักเกินค่าจ้างที่ได้รับ ไม่ได้รับการดูแลและปฏิบัติที่ดี เพื่อนร่วมงาน toxic รวมไปถึงสาเหตุส่วนตัวของพนักงานเอง เช่น ต้องการกลับไปดูแลครอบครัว มีปัญหาสุขภาพ ย้ายบ้านไปไกล จึงไม่สะดวกเดินทางมาทำงาน เจองานอื่นที่มีโอกาสความก้าวหน้ามากกว่าเดิม ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า บางสาเหตุของการลาออกนั้นเป็นปัจจัยภายนอก ที่เราควบคุมไม่ได้ จึงต้องฝึกทำใจเอาไว้สักหน่อย ส่วนสิ่งที่เราทำได้ และควรทำให้ดีที่สุดนั้น คือปัจจัยภายในที่มาจากตัวเราเอง นั่นก็คือ ต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่พนักงานเสมอ ทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของร้าน มาทำงานแล้วมีความสุข ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นธรรม มีวันหยุดที่เหมาะสม เป็นไปตามที่ตกลงเอาไว้ตั้งแต่วันสัมภาษณ์งาน มีรางวัลตอบแทนความขยันตั้งใจ หากทำยอดขายได้ถึงเป้า ก็ควรแบ่งเงินพิเศษให้พนักงานด้วย นอกจากนี้ควรพัฒนาทักษะให้พนักงานเสมอ พร้อมกับทำให้พนักงานมองเห็นโอกาสเติบโตของตัวเอง เพื่อให้พวกเขาอยากอยู่กับเราไปนานๆ
3. พนักงาน Toxic ขี้นินทา ขี้อิจฉา ยุยงเพื่อนร่วมงาน
หลายๆ คนมักจะเจอพนักงานที่ทำตัวเป็นพิษ จนเพื่อนร่วมงานไม่อยากอยู่ใกล้ เช่น บางคนไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของใคร รู้ดีทุกเรื่อง ทั้งที่จริงอาจไม่ได้เก่งกาจขนาดที่พูด บางคนขี้อิจฉา เอาแต่นินทา ใส่ร้ายคนอื่น ชอบแทงข้างหลัง ยุยงให้คนอื่นแตกคอกัน
หากคุณเจอปัญหาเหล่านี้ แนะนำว่าไม่ควรมองข้าม เพราะปัญหาเรื่องคน ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้พนักงานหลายคนตัดสินใจลาออก แม้ว่าบางคนจะทำงานเก่งก็จริง แต่กลับมีนิสัยไม่น่ารัก ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ยาก การที่เจ้าของร้านเลือกเก็บคนๆ นั้นไว้ โดยไม่จัดการอะไรเลย มีแต่จะทำให้พนักงานคนอื่นๆ รู้สึกไม่พอใจ และสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีให้กับการทำงาน สุดท้ายแล้วคนดีๆ ก็เลือกที่จะลาออกกันไปหมด
ทางที่ดีคุณควรสังเกตและรับฟังพนักงานให้มาก หากรู้ว่าใครกำลังสร้างปัญหา ก็ควรเรียกมาพูดคุยและตักเตือน พร้อมให้เวลาปรับตัว แต่หากไม่มีอะไรดีขึ้น ก็คงต้องถึงเวลาที่คุณจะต้องเลือกแล้วว่า จะเก็บรักษาพนักงานแบบไหนไว้กับตัวเอง
4. พนักงานไม่มีวินัย ขี้เกียจ มาสายบ่อยๆ
ปัญหาพนักงานขาดวินัย ชอบมาสาย ชอบอู้งาน ถือเป็นปัญหาที่พบเจอได้บ่อยๆ หากเจ้าของร้านปล่อยเอาไว้โดยไม่จัดการ ย่อมส่งผลเสียต่อร้านของคุณอย่างแน่นอน
วิธีป้องกันและแก้ไขคือ เจ้าของร้านควรวางกฎระเบียบเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน โดยเขียนเอาไว้เป็นข้อตกลงอย่างชัดเจน เพื่อให้พนักงานรู้ว่า การทำงานโดยไร้วินัยนั้น จะมีโทษอย่างไรบ้าง เช่น หนึ่งถึงสามครั้งแรกเรียกมาตักเตือนด้วยวาจา ครั้งต่อมาตักเตือนด้วยลายลักษณ์อักษร จากนั้นหักสวัสดิการ งดโบนัส หรือเมื่อทำผิดซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน บริษัทก็อาจพิจารณาเลิกจ้างได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เจ้าของร้านพึงระวังคือ โทษทางวินัยนั้นไม่ควรขัดต่อกฎหมายแรงงาน เช่น การหักเงินเดือนพนักงาน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ นอกจากบทลงโทษแล้ว เจ้าของร้านก็ควรสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมีวินัยมากยิ่งขึ้นด้วย อย่างการให้เบี้ยขยัน หรือให้รางวัลพิเศษสำหรับพนักงานที่ไม่ขาด ลา มาสาย เป็นต้น
5. พนักงานทุจริต แบบไม่คาดคิด
ข้อนี้จัดเป็นปัญหาใหญ่ที่ใครๆ ก็ไม่อยากเจอ ปัญหาพนักงานทุจริตนั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น
- พนักงานแอบเอาวัตถุดิบที่ร้านมาทำอาหารกินกันเอง หรือเอาใส่กล่องกลับบ้าน
- พนักงานรับออร์เดอร์ปากเปล่า โดยไม่คีย์ลงเครื่อง แล้วเก็บเงินสดเข้ากระเป๋าตัวเอง
- พนักงานกดยกเลิกบิลในระบบ แล้วเอาเงินสดไปใช้เอง
- พนักงานรับเงินลูกค้าเต็มจำนวน แล้วแอบใส่ส่วนลดโปรโมชั่นทีหลัง จากนั้นก็เก็บส่วนต่างเข้ากระเป๋าตัวเอง
- พนักงานสลับเอา QR Code ของตัวเอง มาใช้แทน QR Code ของร้าน
- พนักงานแอบนำวัตถุดิบไปขายต่อในราคาถูก
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเพียงส่วนเดียวที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ยังมีเรื่องทุจริตอีกมากมายที่คุณอาจไม่คาดคิด ทางที่ดีแนะนำให้เจ้าของร้านหมั่นตรวจดูอย่างใกล้ชิด และวางระบบให้รอบคอบ เช่น หากมีการยกเลิกบิลในระบบ ให้นำบิลมาให้เจ้าของร้านหรือผู้จัดการร้านเซ็นทุกครั้งและเก็บเอาไว้ จากนั้นก็คอยตรวจเช็กทุกวันให้บิลตรงกับในเครื่อง นอกจากนี้ควรนับสต็อกและจดบันทึกไว้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้ว่า วัตถุดิบของเราหายไปหรือเปล่า
ปัญหาพนักงานร้านอาหาร ทั้ง 5 ช้อนี้ แม้จะน่าปวดหัวอยู่สักหน่อย แต่ก็สามารถป้องกันและจัดการได้ เชื่อว่า คุณจะผ่านพ้นปัญหาเหล่านี้ไปได้ โดยไม่ต้องสูญเสียพนักงานดีๆ ไป
📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
👉🏻 อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
รู้มั้ย? ทำไมพนักงานที่ร้านเราถึง ‘ลาออก’ บ่อย
4 คู่มือ ทำร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านควรรู้ แล้วปัญหาในร้านจะน้อยลง
กลยุทธ์มัดใจลูกค้าให้ติดหนึบ สร้างลูกค้าประจำ ให้ร้านอาหาร
วิธีรับมือรีวิวด้านลบ คำคอมเพลนจากลูกค้าร้านอาหาร
รวมสารพัดวิธีแก้ ปัญหาลูกค้าแน่นร้าน จัดการดีไม่มีสะดุด
Image by Freepik