ร้านอาหารหลายร้าน ต่อให้ขายดิบขายดี มีลูกค้าเข้าร้านไม่หยุด จนเจ้าของร้านแทบไม่ได้นั่งพัก แต่สุดท้ายกลับขาดทุนและปิดตัวลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ…ปัญหาอันดับต้นๆ ที่ทำให้ร้านอาหารเจ๊ง แม้ว่าจะขายดี ล้วนมาจาก ปัญหาการเงิน ซึ่งเจ้าของร้านมักจะมองข้าม เพราะคิดไม่ถนัด หรือไม่ได้ให้ความสำคัญมากเพียงพอ
บทความนี้รวบรวม ปัญหาการเงิน ที่ร้านอาหารเจอแล้วเสี่ยงเจ๊งมาฝาก อยากชวนเจ้าของร้านอาหารทุกคนมาเช็กตัวเองดูว่า มีข้อไหนที่ตรงกับตัวเองบ้าง เพื่อที่จะได้ป้องกันก่อนจะสายเกินไป
1. โฟกัสรายรับ แต่ลืมจดบันทึกรายจ่าย
แม้บางคนจะจดบันทึกรายรับไว้แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่า ทำไมเงินที่คงเหลือจริงไม่ตรงกับยอดในบัญชี สาเหตุส่วนใหญ่มักจะเป็นเพราะเจ้าของร้านไม่ได้จดบันทึกรายจ่ายอย่างละเอียด โดยเฉพาะรายจ่ายจิปาถะที่เกิดขึ้นระหว่างวัน บิลภาษี (ในกรณีที่ร้านอาหารจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) และต้นทุนแฝงอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมอุปกรณ์ ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ฯลฯ ทำให้ร้านมองเห็นแต่กำไร ทั้งที่จริงแล้ว รายจ่ายอาจแซงยอดขายไปโดยที่คุณไม่ทันรู้ตัวก็ได้ ดังนั้น เจ้าของร้านต้องไม่ลืมจดบันทึกรายจ่ายทั้งหมดของร้านอาหาร แม้จะเป็นรายจ่ายเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
2. ขาดกระแสเงินสด ไม่มีเงินหมุนเวียน
กระแสเงินสด หรือ Cash Flow เป็นสิ่งสำคัญมากในการทำธุรกิจ บางร้านขายดีก็จริง แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ให้เงินมาในรูปแบบเครดิต ทำให้ไม่มีเงินสดจริงๆ อยู่ในมือ หรือบางร้านก็นำเงินสดจำนวนมากไปใช้ซื้อวัตถุดิบมาสต็อก หรือนำเงินไปใช้ในการปรับปรุงร้านจนแทบไม่เหลือ พอถึงเวลาที่ต้องชำระหนี้ หรือเกิดเรื่องฉุกเฉิน เช่น เครื่องครัวเสีย วัตถุดิบหมดกะทันหัน ก็กลายเป็นปัญหาตามมา เพราะไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน สุดท้ายจึงจบลงด้วยการกู้เงินจากที่ต่างๆ ทำให้ต้องเสียเงินไปกับดอกเบี้ยโดยใช่เหตุ
สิ่งที่เจ้าของร้านอาหารควรทำ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากระแสเงินสดขาดมือ คือ ต้องวางแผนการเงินให้รอบคอบ พยายามรับเงินจากลูกค้าเป็นเงินสด และจ่ายเงินเจ้าหนี้ (supplier) เป็นเครติด นอกจากนี้ควรคำนวณวัตถุดิบให้เหมาะสมและเพียงพอกับยอดขาย ไม่สั่งซื้อมาวัตถุดิบสต็อกมากเกินจำเป็น เพื่อไม่ให้เงินไปจมอยู่กับวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้
3. เจ้าของร้านไม่มีเงินเดือนให้ตัวเอง
แม้เจ้าของร้านอาหารจะไม่ใช่พนักงานบริษัท แต่ก็ควรมีเงินเดือนให้กับตัวเอง และที่สำคัญคือควรแยกบัญชีส่วนตัวออกจากบัญชีของร้านด้วย ไม่เช่นนั้นเงินอาจปะปนกันจนไม่รู้ว่าเงินไหนเป็นต้นทุน กำไร หรือเงินสำหรับใช้จ่ายส่วนตัว หลายคนคิดว่ากำไรของร้านก็คือเงินของตัวเอง จึงดึงเงินที่ควรจะนำไว้ใช้จ่ายในร้านมาใช้จ่ายส่วนตัวมากเกินความจำเป็น จนบางครั้งทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนกิจการไปต่อไม่ไหว
4. มองข้ามการบริหารต้นทุน
เจ้าของร้านอาหารที่ไม่ได้คำนวณต้นทุนอย่างละเอียด จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ร้านของเรามีกำไรที่แท้จริงเท่าไหร่ แม้รายได้จะเข้ามาเยอะ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ธุรกิจของเรามีกำไรเยอะเสมอไป เพราะรายได้เหล่านั้น ยังไม่ได้หักลบกับต้นทุนต่างๆ ภายในร้าน นี่เองคือสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้หลายร้านขาดทุนแบบไม่รู้ตัว…ด้วยเหตุนี้เจ้าของร้านอาหารจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ วิธีบริหารต้นทุนให้ดี
บางครั้งการที่ต้นทุนร้านอาหารสูง ก็เกิดขึ้นได้จากการบริหารจัดการภายในร้านที่ไม่ดี เช่น ไม่มีระบบการจัดเก็บสต๊อกที่เป็นมาตรฐาน ทำให้เกิดของเสียและของเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก และต้องเสียหยิบเงินทุนสำรองมาใช้บ่อยๆ เพื่อซื้อวัตถุดิบในราคาปลีกมาเติมสต๊อก หรือบางครั้งก็ไม่ได้วางแผนการสั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า ทำให้ซื้อวัตถุดิบมามากเกินจำเป็น เป็นต้น ดังนั้นการจัดการสต๊อกที่ดี จะช่วยให้ร้านอาหารควบคุมต้นทุนได้ และยังมีกำไรเพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย
5. ไม่แยกบัญชีส่วนตัวออกจากบัญชีธุรกิจ
เจ้าของร้านอาหารหลายคนเข้าใจผิดว่า เงินส่วนที่เป็นกำไรของร้าน เท่ากับเงินสำหรับใช้จ่ายส่วนตัว จึงไม่ได้แยกบัญชีส่วนตัวออกจากบัญชีของธุรกิจ ทำให้เงินปะปนกันไปหมด ไม่รู้ว่าเงินก้อนไหนคือกำไร ต้นทุน และเงินของตัวเอง
ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้งก็เผลอหยิบเงินที่ควรจะนำไว้ใช้จ่ายในร้าน มาใช้จ่ายส่วนตัวมากเกินความจำเป็น มารู้ตัวอีกที ก็คือวันที่กิจการไม่มีทุนสำรองหลงเหลือ และขาดสภาพคล่องทางการเงินไปเสียแล้ว หนักยิ่งกว่านั้น บางคนอาจถูกสรรพากรตรวจสอบรายรับรายจ่าย และไม่สามารถแจ้งที่มาที่ไปของการเงินบริษัทได้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เจ้าของร้านจึงต้องแยกบัญชีส่วนตัวออกจากบัญชีธุรกิจ
เมื่อรู้แล้วว่า ปัญหาการเงิน ข้อใดบ้างที่เป็นตัวการทำให้ร้านอาหารเสี่ยงเจ๊ง เจ้าของร้านก็ควรรีบป้องกันเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ในระยะยาว
Image by Freepik
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทำร้านอาหารให้เงินเดือนตัวเองเท่าไหร่ดี? วิธีคิด เงินเดือนเจ้าของกิจการ
ขั้นตอนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต้องทำยังไง พร้อมวิธีตรวจสอบอย่างง่ายไม่ให้ซ้ำร้านอื่น
วิธีบริหารต้นทุน (Cost Control) สำหรับร้านอาหาร แบบเข้าใจง่าย
แจก 6 สูตรน้ำสต๊อก ที่ต้องมีติดร้าน! สะดวกใช้ ทำง่าย เก็บได้นานเป็นเดือน
สูตรวิเคราะห์ จุดคุ้มทุน สำหรับร้านอาหาร รู้ไว้ ไม่มีขาดทุน
วิธีพยากรณ์ยอดขาย (Sales Forecast) อย่างแม่นยำ สำหรับร้านอาหาร
สัญญาณที่บอกว่า ถึงเวลาต้อง ทำบัญชีร้านอาหาร ให้เป็นระบบได้แล้ว
9 เทคนิค วางผังครัวร้านอาหาร ให้ทำงานราบรื่น แถมประหยัดต้นทุน
ใบเสร็จร้านอาหาร 1 ใบ บอกข้อมูลอะไรได้บ้าง เรื่องเล็ก ๆ ที่คุณอาจมองข้าม