ถ้ามองในมุมของลูกค้า หรือผู้บริโภค เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยรู้สึกเหมือนกันว่า เวลาที่เราไปร้านอาหารสักร้านหนึ่ง เอาง่าย ๆ เลย แค่ร้านอาหารตามสั่งทั่ว ๆ ไป หยิบเมนูขึ้นมาดูแล้วพบว่ามีเป็นร้อยเมนู พลิกดูแล้วพลิกดูอีก ตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะเลือกทานเมนูอะไร นั่นแหละ ในบางครั้งนี่คือข้อเสียของการที่ร้านอาหารมีเมนูในร้านเยอะเกินไป ทำให้ลูกค้าลังเล สับสน และยากต่อการตัดสินใจ พูดง่าย ๆ เลยก็คือ เยอะไปก็ไม่ดี แต่ถ้าร้านที่มีเมนูให้เลือกน้อย ก็คิดว่าดูเป็นการจำกัดกลุ่มลูกค้าไปอีก แล้วแบบไหนล่ะถึงจะเรียกว่าพอดีและเหมาะสม มาดูวิธี บาลานซ์เมนู ร้านอาหาร กันดีกว่า
ร้านอาหารต้องรู้ บาลานซ์เมนูให้ดี
เสิร์ฟได้ไว ไม่ติดขัด
บาลานซ์เมนู ร้านอาหาร
ซึ่งการจะบาลานซ์เมนูให้เหมาะสมนั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเภทร้านและคอนเซ็ปต์ร้านอาหารของคุณด้วย เช่น ถ้าร้านของคุณเป็นร้านที่ขายราเม็ง เน้นเมนูราเม็งเป็นหลัก แล้วมีเมนูราเม็งให้เลือกมากถึง 40 เมนู++ แน่นอนว่าลูกค้าเลือกนาน เพราะตัดสินใจยากแน่นอน แต่ถ้าคุณเปิดร้านอาหารไทย ก็เข้าใจได้ว่าอาจจะมีเมนูตัวเลือกที่เยอะกว่า เพราะความหลากหลายของอาหารไทย
แต่แม้ว่าจะเป็นร้านอาหารไทยที่ต้องมีเมนูที่หลากหลาย ถ้าเป็นไปได้คุณก็ควรที่จะจำกัดเมนูให้แคบลงมาแต่ชัดเจนมากขึ้น ด้วยการใช้คอนเซ็ปต์ร้านนี่แหละเป็นตัวกำหนดเมนูของร้าน แล้วเลือกเฉพาะที่คุณอยากนำเสนอจริง ๆ ก็จะเป็นการช่วยคุมความจำนวนหลากหลายของเมนูได้เช่นกัน
บาลานซ์ส่วนของ การแบ่งสเตชั่นในครัวอย่างเหมาะสม
อีกแบบหนึ่งคือ นอกจากบาลานซ์ส่วนของจำนวนเมนูแล้ว ปัจจัยในเรื่องของขั้นตอนการปรุงอาหารก็มีส่วนในการช่วยกำหนดเมนูให้เหมาะสมได้เช่นกัน เพราะอาหารแต่ละเมนูแน่นอนว่า มีขั้นตอนการปรุงอาหารที่แตกต่างกัน ใช้อุปกรณ์ก็ต่างกัน และพื้นที่ที่ใช้ก็แตกต่างกัน บางเมนูเตรียมล่วงหน้าได้ บางเมนูทำได้เร็ว ทำได้ไว เช่น สลัดต่าง ๆ ออเดิร์ฟ หรือบางเมนูต้องใช้เวลาในการปรุง เช่น เมนูอบ เมนูย่างต่าง ๆ
ซึ่งสิ่งที่ร้านอาหารที่ดีควรทำอย่างมาก ก็คือ ต้องมีการแบ่งสเตชั่นต่าง ๆ ในครัวให้เหมาะสม และบาลานซ์เมนูที่มีให้เหมาะสมกับแต่ละสเตชันอีกทีนั่นเอง เช่น ส่วนของสเตชันครัวเย็น หรือครัวของทอด ที่สำหรับไว้ทำอาหารที่ใช้ระยะเวลาไม่นาน เช่น เมนูพวกสลัด หรือ ของทอดทานเล่น ทำให้สเตชั่นนี้สามารถมีจำนวนเมนูที่หลากหลายได้ เพราะสามารถเสิร์ฟได้เร็ว ลูกค้าไม่ต้องรอนาน ไม่หงุดหงิดจนเกิดปัญหาตามมา
หรือส่วนสเตชั่น อบหรือย่าง มักเป็นเมนูที่ต้องใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน บางเมนูก็ต้องทำสดใหม่ ไม่สามารถทำล่วงหน้าได้ ในสเตชั่นนี้จึงแนะนำว่า ไม่ควรมีเมนูที่มากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ล่าช้าเพราะความหลากหลายของเมนูมากขึ้นไปอีก
ต้องบอกว่า การแบ่งสเตชั่นและการแบ่งเมนูให้เหมาะสมกับแต่ละสเตชั่น เป็นเรื่องของงานครัวที่สำคัญมาก ๆ สำหรับร้านอาหาร ซึ่งมี้รานอาหารไม่น้อยที่มองข้ามเรื่องนี้ไป เพราะถ้าหากคุณไม่มีการจัดการในจุดนี้ให้เหมาะสม ไม่แบ่งให้ชัดเจน แต่กลับปนกันมั่วไปหมด อาจจะส่งผลให้ในบางสเตชั่นเกิดการติดขัดในการทำอาหาร และทำให้เกิดความล่าช้าในการออกอาหารตามมาได้
รวมทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงบุคลากรในครัวอย่าง เชฟ หรือผู้ช่วยเชฟด้วย ที่อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้า แต่ถ้าร้านของคุณสามารถจัดการบาลานซ์ในส่วนนี้ได้ การออกอาหารก็จะคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น ลูกค้าแฮปปี้เพราะไม่ต้องรอนาน พนักงานก็สามารถทำงานในส่วนของหน้าที่ตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจัดการบาลานซ์ที่ดีแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมสำหรับคนทำร้านอาหารเลยก็คือ เรื่องของคุณภาพ รสชาติ และการบริการที่ก็ต้องได้มาตรฐานควบคู่กันไปด้วย ร้านของคุณถึงจะไปรอดนั่นเอง
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
กฎหมาย PDPA ร้านอาหาร ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
เคล็ดลับ นับสต๊อกร้านอาหาร และจัดการวัตถุดิบ ทำเป็นเห็นกำไร
สร้างเมนูใหม่กำไรเข้าร้าน ด้วยไอเดีย จัดการ Food Waste สไตล์ตะวันตก
รวมสารพัดวิธีแก้ ปัญหาลูกค้าแน่นร้าน จัดการดีไม่มีสะดุด
รับช่วงต่อกิจการ อย่างไรไม่ให้เจ๊ง!
เทคนิคเก็บ เซอร์วิสชาร์จร้านอาหาร ทำอย่างไรให้ลูกค้าพอใจที่ต้องจ่าย
ข้อดีและข้อเสียของการทำ เมนู QR CODE หรือ เมนูอาหารออนไลน์