ธุรกิจร้านอาหารปี 2025 ภาพรวมจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมขนาดไหน?
เป็นประจำทุกปีกับการพูดถึงเรื่องภาพรวมของธุรกิจในปีหน้า 2025 ที่จะถึงนี้ก็เช่นกัน
ซึ่งเอาจริง ๆ ก็คงไม่มีใครสามารถฟันธงเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นได้เป๊ะ ๆ หรอก ขึ้นชื่อว่าเป็นเทรนด์ในอนาคต มันคือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่อย่างน้อยเราเรียนรู้ไว้ ปรับตัวเตรียมไว้ ก็ดีกว่าการที่เราไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย
ซึ่งอันนี้เป็นมุมมองของทีม Torpenguin เองที่ตลอดทั้งปีได้เดินทางไปทั่วประเทศ มีการพูดคุยกับทั้งคนในธุรกิจเอง รวมไปถึงระดับผู้บริหารแบรนด์ใหญ่ ๆ เลยอยากเอาเรื่องเหล่ามีนี้มาแชร์กับทุกคนครับ
ธุรกิจร้านอาหารปี 2025 จะเป็นยังไง?
1. เรื่องแรกเลยคือ เศรษฐกิจไทยปีหน้าไม่มีทางดีแน่นอน (เรื่องนี้พูดกันทุกปี 5555555)
เราไม่ได้รับรู้หรือเห็นสัญญาณเชิงบวกอะไรเลย เรายังไม่ได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรจากภาครัฐ ฉะนั้นปีหน้าก็ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ครับ
2. ปี 2025 จะเป็นปีทองของร้านอาหาร Street Food
2-3 ปีที่ผ่านมาเราต้องยอมรับเลยว่าตลาด Street Food มีความหน้าสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปีนี้ลูกค้าจะมีกำลังซื้อน้อยลง การออกไปกินข้าวนอกบ้านจะเกิดขึ้นเมื่อมีโอกาสพิเศษเท่านั้น โดยเฉพาะร้านอาหารที่ Price Point ค่อนข้างสูง คนอาจจะยังกินอยู่แต่ว่าลูกค้าจะเลือกมากขึ้น
แต่ยังไงก็ตามคนไม่ทำกับข้าวกินเองที่บ้านแน่นอน ถ้าปกติเขาไม่ใช่คนทำกับข้าวอยู่แล้ว ดังนั้นคนกลุ่มนี้จะหันมากิน Street Food มากขึ้น ‘แต่’ มีคำว่าแต่อีกแล้ว เพราะ Street Food ที่เขามองหาไม่ใช่ Street Food ปกติ เขายังอยากได้อะไรดี ๆ กับชีวิตที่ไม่ใช่ Functional Value เขาจะมองหาอะไรที่มันตอบโจทย์ข้างในจิตใจของเขา หรือความรู้สึกของเขา
ถ้าคุณทำข้าวมันไก่ ส้มตำ ก๋วยเตี๋ยวปกติ เขาก็อาจจะไม่ได้อยากมากินร้านคุณบ่อย ๆ มันจะเป็นปีทองของร้าน Street Food ที่มีความชัดเจนบางอย่าง เราอาจเรียกร้านประเภทนี้ว่า Specialty Street Food ก็ได้
Street Food บ้าน ๆ แต่รสชาติและกระบวนการทำต้องไม่บ้าน แล้วราคาขายไม่ใช่ราคา 60-70 อีกต่อไป ซึ่งเทรนด์นี้เองไม่ใช่พึ่งมา มันเริ่มมานานแล้ว อย่างร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ เรามีทองสมิตธ์ กระเพรา เราก็มีเผ็ดมาร์ค ที่กรุ่ยทางสาย Specialty Street Food มา 4-5 ปีแล้ว
การค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นมา นั่นทำให้ทีม Torpenguin มองว่า ปี 2025 นี้แหละ จะเป็นปีที่ค่อนข้างสดใสของ Specialty Street Food
หากเราทำร้านอาหารประเภท Street Food อยู่แล้ว ของเดิมก็ขายต่อไปเพราะก็อาจมีตลาดที่เขาไม่สามารถจับจ่ายในราคาที่สูงได้ แต่อาจจะต้องแบ่งเวลาส่วนนึงเพื่อมาเรียนรู้ความ Specialty มากขึ้น อย่างเรื่องของที่มาวัตถุดิบ R&D หรือกลับไปหา Pain Point กลับไปหาว่าเราสามารถยกระดับวัตถุดิบอะไรของเราได้บ้าง
ถ้าเราลองสังเกตปัจจุบัน ร้านอาหารไทยบางร้านเริ่มลึกกันมากขึ้น คัดทุกอย่างไปจนถึงพันธุ์ข้าวที่นำมาเสิร์ฟให้กับลูกค้า เลือกกันตั้งแต่จังหวัดที่ปลูก วิธีปลูก วิธีเก็บเกี่ยว ซึ่งไม่ได้มีแค่ฝั่งร้านอาหารที่เป็นคนขายอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ลูกค้าก็มีความรู้และมีความเนิร์ดในการเสพเรื่องพวกนี้มากขึ้นด้วย
3. Healthier Food
ให้พูดตามตรงเลยว่าตลาดอาหารสุขภาพยังไม่เติบโตมาก แต่ Healthier Food จะเป็นจุดตรงกลางที่จะเป็นโอกาสของร้านอาหารหลาย ๆ ประเภท เพราะสิ่งที่คนในปัจจุบันมี Concern มากขึ้นคือ คนอยากมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น
ให้พูดตามตรงเลยว่าตลาดอาหารสุขภาพยังไม่เติบโตมาก แต่ Healthier Food จะเป็นจุดตรงกลางที่จะเป็นโอกาสของร้านอาหารหลาย ๆ ประเภท เพราะสิ่งที่คนในปัจจุบันมี Concern มากขึ้นคือ คนอยากมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น
ไม่ว่าคุณจะทำร้านอาหารประเภทอะไรก็ตาม อาหารของคุณมันทำให้คน ‘รู้สึก’ ว่าเขามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้มั้ย?
ถ้าคุณทำร้านบุฟเฟต์ มีวิธีทำให้มัน Healthier มากยิ่งขึ้นได้มั้ย
ทำให้ร้านขายกะเพราของคุณมัน Healthier มากขึ้นได้มั้ย
ทำให้ร้านขนมของคุณมัน Healthierมากขึ้นได้มั้ย
ไม่ใช่ Healthy Food แต่เป็น Healthier Food ตลาดนี้จะเป็นตลาดที่ทำให้คนเปิดใจมากยิ่งขึ้น นี่แหละจะเป็นโจทย์ต่อไปของคนทำร้านอาหาร ว่าจะทำให้มันมีสุขภาพที่ดีขึ้นต่อลูกค้าได้ยังไง ทำยังไงที่จะลดหวานให้ลูกค้าได้ ทำยังไงถึงจะลดโซเดียมได้ ทำยังไงถึงจะเพิ่มคุณค่าสารอาหารได้ ทำยังไงถึงจะเพิ่มไขมันดีให้ลูกค้าได้ ลดกระบวกการบางอย่างเพื่อให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ของพวกนี้เริ่มต้องคิดมากขึ้น
4. Economy of Style
หมดยุค Economy of Scale และเป็นการเริ่มต้นยุค Economy of Style สำหรับ SME เรื่องของ Economy of Scale มันเรื่องของแบรนด์ใหญ่ ๆ เราสู้เขาไม่ได้หรอก สู้ไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ตัดไปเลย
’สู้ในเกมที่เรามีโอกาสชนะ’ อย่างที่เคยบอกกันเสมอ กับเรื่องนี้ก็เหมือนกัน ทำยังไงให้สไตล์เราเด่นขึ้น ร้านเราเล็กแต่มันต้องจี๊ด ต้องโดน ต้องชัด จานเล็ก ๆ เมนูเล็ก ๆ ของเรามันต้องโดดเด่น
รสชาติเป็นส่วนนึง เพราะถ้าลูกค้าเลือกแต่รสชาติ ก็คงมีแต่ร้านของเหล่าเชฟดัง ๆ เท่านั้นที่ขายได้ถูกมั้ยครับ มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย
เกม Economy of Style จะเป็นสิ่งที่ทำให้ SME ไปต่อได้ในอนาคต ฉะนั้นในวันนี้นอกจากอาหารที่ต้องมีความชัดเจน Branding คุณก็ต้องชัดเจน Brand Communication ต้องชัดเจน
ลองสังเกตดูตลาดแบรนด์ที่เป็น Top of mind ของลูกค้าในทุกวันนี้ เขาชัดกันมาก ๆ ’เมื่อไหร่ที่ตัวตนคุณชัด สไตล์คุณชัด กลุ่มลูกค้าคุณชัด ราคาคุณจะได้มากกว่าคู่แข่ง’ มันจะทำให้เราหลุดออกจากสงครามราคา
5. Affiliate Marketing
อันนี้ฟันธงมาแน่นอน ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่มากที่ลูกค้าหรือเจ้าของธุรกิจเองก็ยังไม่ได้เข้าใจมันอย่างจริง ๆ จัง ๆ และหลังจากผ่านการเรียนรู้มาพักนึงจนเราและลูกค้าเองก็เริ่มชินกับศัพท์อย่างเช่น การปักตระกร้า ลิงก์ aff ปีนี้แหละ Affiliate Marketing จะมาอย่างเต็มรูปแบบ
ส่วนมากโมเดลนี้จะใช้กับสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค Gudget เป็นสินค้าที่มันไม่ค่อยมีอายุ สามารถส่งไปไหนก็ได้ทั่วประเทศ
แต่ตอนนี้ TikTok เปิดให้ขาย Affiliate Voucher โรงแรมแล้ว ฝั่งธุรกิจโรงแรมสามารถให้ลูกค้าซื้อ Voucher แล้วให้ลูกค้าไปใช้บริการโรงแรมได้ ทำไมธุรกิจอาหารจะทำไม่ได้ละ เรารู้ได้ยังไงว่า TikTok ไม่ได้มองตลาดนี้ไว้ บอกเลยว่าเกิดขึ้นแน่นอน
สิ่งเราควรเตรียมตัวไว้ก่อนเลยคือการศึกษาระบบให้เข้าใจ วิธีทำ Short Clip ทำการบ้านเรื่องการหา Value ให้ตัวเอง เมื่อถึงเวลาที่ Affiliate Marketing มาอย่างเต็มรูปแบบเราจะไปได้เร็วและไกลกว่าคนอื่น
เพราะถ้าสินค้าเราไม่ถึง ไม่โดดเด่น ต่อให้จัดโปรฯ ลด 50% มันก็ไม่มีประโยชน์เพราะครีเอเตอร์เขาก็ไม่อยากหยิบไปขาย เพราะหยิบไปขายก็ไม่มีคนซื้อ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องของส่วนแบ่ง GP ที่คุณจะให้กับคนที่หยิบไปขายเพียงอย่างเดียว
6. ขายไกล ขายใกล้
ในอดีตธุรกิจร้านอาหารคือธุรกิจที่ต้องมีหน้าร้าน ทำการตลาดเพื่อให้คนมาร้านเพื่อปิดการขาย พอวันนึงลูกค้าไม่เดินด้วยขาละ แต่เดินด้วยนิ้วโป้งแทน ร้านอาหารก็เลยต้องเดินไปหานิ้วโป้งของลูกค้าแทน แต่พอจะต้องส่งของ เราก็ไม่เก่งพอที่จะส่งด้วยตัวเองอีก เราก็เลยต้องไปหาคนกลางก็คือ แอปฯ เดลิเวรี่
เราอาจบอกว่าเดี๋ยวนี้เราจะขายให้ใครก็ได้แล้ว มันก็ถูก แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายลูกค้าเลือกสั่งร้านที่อยู่ในรัศมีใกล้ตัวเขามากกว่า โดยเฉลี่ยพื้นที่หาลูกค้าของคุณอยู่ในระยะ 3-4 กม. เท่านั้น
ดังนั้นหมายถึงว่า ถ้าหากคุณต้องการเพิ่มยอดขายเยอะ ๆ สุดท้ายก็ต้องเลือกที่จะลงทุนก้อนใหญ่ด้วยการเปิดสาขาตามที่ต่าง ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ
นี่คือโมเดลการขายใกล้ ซึ่งในปีหน้าอาจจะไม่ใช่ปีทองของการขยายสาขาในรูปแบบ Physical Shop อีกต่อไป แต่มันอาจจะอยู่ในรูปแบบ คุณทำหน้าร้านเหมือนเดิม แต่ย้อนมาดูตัวเองว่าด้วยจุดยืนของแบรนด์ ด้วยตัวเมนูที่เรามี คุณสามารถต่อยอดเป็น Retail Product อะไรออกมาได้บ้าง แล้วสามารถส่งไปหาคนทั่วประเทศได้ เหล่านี้เรียกว่า โมเดลขายไกล ที่ทำให้เรามีช่องทางการขายมากขึ้น โดยที่ Fixed Cost เท่าเดิม
แต่การที่จะเปลี่ยนโมเดลจากการขายหน้าร้านเป็นการขายแบบ Retail Shop ได้ Mindset คุณต้องเปลี่ยนก่อนเลยอันดับแรก โครงสร้างต้นทุนคุณต้องเปลี่ยน ที่สำคัญสินค้าของคุณต้องโดดเด่นมากพอ แบรนด์ดิ้งต้องชัด
ไม่มีหรอกคนเชียงใหม่ที่อยากสั่งของที่ในเชียงใหม่เองก็มีจากกรุงเทพ แต่ต่อให้ของชิ้นนั้นเขาหาได้ในเชียงใหม่ถ้ามันคือแบรนด์ของคุณ แบรนด์ที่เขาชอบ คุณมียี่ห้อ คุณมีชื่อเสียง เขาจะไม่ได้ซื้อเพราะสินค้า แต่เขาจะซื้อเพราะชื่อเสียงของสินค้านั้น
หลังจากนี้ การสร้างแบรนด์ การสร้างประสบการณ์และภาพจำที่มีเราคนเดียวเท่านั้นที่ทำได้ จะเป็นสิ่งที่ทำธุรกิจให้ไปต่อได้
7. การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน
เรารู้อยู่แล้วว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะไม่ดี การเพิ่มยอดขายในแต่ละบาทเป็นเรื่องที่ยาก เราอาจจะต้องกลับมามองในมุมของการลดค่าใช้จ่ายแล้ว
แต่ลดค่าใช้จ่ายยังไงให้ไม่กระทบ Quality Service กับ Product นั่นหมายถึงเราต้องเริ่มลดกระบวนการที่ไม่จำเป็นทั้งหลาย ศาสตร์ Lean Management ต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องกลับมาใช้กันอีกครั้ง
หนึ่งในสิ่งที่เราสามารถลดการทำงานซ้ำซ้อนหรืองานที่ไม่จำเป็นลงได้ คือ การใช้เทคโนโลยี อันนี้คือเป็นข้อดีของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในไทยเลย ที่เรามีบริษัทเทคโนโลยี Start Up ต่าง ๆ ที่สร้างนวัตกรรมการจัดการร้านสำหรับ SME ออกมาเยอะมาก แต่ก็เป็นโชคร้ายที่เราคนทำร้านอาหารเองไม่รู้จักของเหล่านี้ หรือรู้จักแต่ก็ไม่เลือกที่จะใช้
ยุคนี้เรามี POS ที่ทำได้แทบทุกอย่าง ตัดสต็อก คิดคำนวนค่าแรง ทำ CRM
ในราคาหลักพันกว่าบาท เราก็ยังไม่ค่อยใช้…
เรามีโปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่เริ่มต้นแค่เดือนละสองร้อยกว่าบาท
ที่ทำให้เราตรวจเช็กสุขภาพธุรกิจได้ เราก็ไม่ค่อยใช้…
เรามี QR Menu ที่ให้ลูกค้าสั่งเอง ยิงตรงเข้าครัวได้เลย
ลดการจ้างพนักงานช่วง Peak Time โดยไม่จำเป็น เราก็ยังไม่ค่อยเปิดใจใช้กัน…
นี่ยังไม่รวมเทคโนโลยีจัดการคิว เทคโนโลยีการยิงแอดอัตโนมัติ รวมไปถึง AI ที่ธุรกิจร้านอาหารเปิดใจได้ยากและเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ปรับตัวได้ช้าที่สุดธุรกิจนึงเลย
มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดเรื่องพวกนี้มากขึ้น ศึกษาสิ่งที่เอามาใช้กับภาคธุรกิจเราได้ คือมันไม่ได้ช่วยเรื่องของต้นทุน หรือไม่ใช่แค่การทำเท่เพียงอย่างเดียว
เราต้องคิดเสมอว่า…
ลูกค้าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งนี้ นั่นคือ Customer First
เมื่อลูกค้าได้แล้ว มันจะช่วยทำให้พนักงานของเราทำงานได้ง่ายและสบายขึ้นรึเปล่า นั่นคือ Employee Second
ถ้าลูกค้า Win พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วสุดท้ายเราเอง หุ้นส่วนก็จะได้เหมือนกัน นั่นคือ Shared Owner Third
นี่คือวิธีคิดของธุรกิจคนจีนที่ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เขาจะคิดถึงเรื่องเหล่านี้เสมอ ฉะนั้นวันนี้เปิดใจเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาแข่งกับเรา
การที่เขาเข้ามาแข่งกับเราได้แปลว่าเขาต้องมีอะไรดีสิ เพราะเขาเป็น New comer ในตลาด เราอย่าเสียเวลาไปต่อต้าน หรืออคติเพียงอย่างเดียว มองในมุมเรียนรู้จากเขาว่าการที่เขาทำแบบนั้นได้ เขา Offer อะไรในสิ่งที่เราให้ไม่ได้ เขามีบริการอะไรที่เราไม่มี เขามีเทคโนโลยีอะไรที่เราไม่เคยทำ เปิดใจเรียนรู้ ทดลองทำ จะทำให้เราติดอาวุธทางการแข่งขันได้มากขึ้น
นี่ก็เป็นภาพรวมของ ธุรกิจร้านอาหารปี 2025 ทั้ง 7 ข้อที่พอจะนึกออกแล้วอยากจะมาแชร์ให้ทุกคนฟังคร่าว ๆ ซึ่งเอาจริง ๆ มันอาจมีเยอะกว่านี้ แต่ถ้าเราทำ 7 ข้อนี้ได้ดี ปีหน้าก็ยังพอจะเป็นปีที่เราปรับตัวเพื่อไปต่อกับตลาดได้
ถ้าไม่ทำ เพราะโปรดักซ์ดีอยู่แล้ว ฐานแฟนแน่น ก็ถือว่าโชคดีครับ แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นแบบนั้น มันเริ่มเห็นทิศทางที่ไม่ค่อยดี ลองหันมาปรับตัวกับโลกใหม่ ก็จะทำให้เราเห็นทางไปต่อได้ค่ะ 😊
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการทุกท่านนะคะ ฝากติดตาม Torpenguin ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 😊
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ
- สีแห่งปี 2025 Pantone ประกาศให้ ‘สี Mocha Mousse’ เป็น Color of the year ประจำปี 2025 นี้
- สีแห่งปี 2025 มาแล้ว! กับ 7 สีที่มาแรงแน่ในปีหน้า โดย Creative Thailand
- Consumer Profile 2025 เปิด 4 เทรนด์ผู้บริโภคน่าจับตามองในปี 2025 จาก Creative Thailand
- ประกาศแล้ว! ร้านที่ได้คว้า ‘บิบ กูร์มองด์’ ใน ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทย ประจำปี 2025
- บาร์ไทย ติดอันดับ World’s 50 Best Bars 2024 บาร์ที่ดีที่สุดในโลก
- ศรณ์ (Sorn) ร้าน Fine Dining ผู้พาอาหารปักษ์ใต้ คว้ามิชลิน 3 ดาว แรกของไทย
- ต้มยำกุ้ง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแล้ว