ทำเดลิเวอรี่

ทำเดลิเวอรี่ ต้องเตรียมตัวยังไง? สิ่งที่เราต้องพิจารณาให้ดีก่อนเข้าร่วมแอปฯ เดลิเวอรี่

 

ไม่ใช่ทุกร้านหรือทุกคนที่ ทำเดลิเวอรี่ แล้วจะสำเร็จและไม่ใช่ทุกเมนูในร้านที่จะสามารถทำเดลิเวอรี่ได้ เพราะยังมีหลายปัจจัยที่เราต้องพิจารณาและถึงแม้เดลิเวอรี่แอปฯส่วนใหญ่จะมีคอนเซ็ปต์และรูปแบบการให้บริการที่ใกล้เคียงกัน แต่ทุกแอปฯก็จะมีจุดดีจุดด้อยต่างกัน มีรายละเอียดต่างกัน

 

ฉะนั้นก่อนที่เราจะตัดสินใจทำเดลิเวอรี่และเข้าร่วมกับแอปฯไหน เราควรพิจารณ่าข้อกำหนดและกฎระเบียบของแอปฯต่างๆให้ถี่ถ้วนซะก่อนไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถกลับมาแก้ไขอะไรได้อีก

 

1. อัตราค่าธรรมเนียม GP

สิ่งแรกที่ต้องดูก่อนตกลงเข้าร่วมกับแอปฯไหนเลยก็คืออัตราค่าธรรมเนียม GP ว่าทางแอปฯคิดอยู่ที่เท่าไหร่ และระยะสัญญานานแค่ไหน

เพราะต่อให้วันนี้ทางแอปฯอาจเสนอ GP ให้เราในอัตราที่ต่ำกว่าตลาดเช่น 20% หรือ 25% แต่พดหมดสัญญาอัตรา GP ก็อาจถูกปรับมาในราคาตลาดก็ได้

ฉะนั้นเวลาจะเผื่อต้นทุนให้คิดไว้ในวันที่ GP ได้ในเรทปกติที่ 30-35% ไว้เลย และสิ่งนึงที่ต้องรู้ไว้ก็คือค่าธรรมเนียม GP ที่คุณต้องให้กับแอปฯยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ Vat อีก 7% ของอัตรา GP ที่เราต้องเสีย

สมมุติว่าเราได้เรท GP อยู่ที่ 30% และเราขายได้ 10,000 บาท เราจะไม่ได้ถูกแอปฯหักเงินไปแค่ 3,000 บาทแค่เราจะถูกหักออกไป 3,210 บาทหรือ 32.1% นั่นเอง

 

2. ค่าการตลาด

ไม่ใช่เสีย GP ให้แอปฯแล้วจะขายดีในทันที เพราะการที่เราเสีย GP ให้กับแอปฯนั้นเปรียบเสมือนเราไปเช่าหน้าร้านขายของเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะอยู่ในทำเลที่ดีที่สุดหรือคนเดินผ่านมากที่สุด

เพราะยิ่งทำเลดีเท่าไหร่ค่าเช่าที่ก็จะแพงมากขึ้นเท่านั้น การเข้าร่วมแอปฯ ก็เช่นกันการเสีย GP ที่ 30-38% มันคือการที่เราเช่าหน้าร้านในทำเลมาตรฐาน

แต่ถ้าเราอยากให้มีคนผ่านหน้าร้านมากขึ้น หรืออยากให้แอปฯช่วยโปรโมตให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยอาจเสียเงินเป็นค่าโปรโมตรายเดือนหรืออาจเสียเป็นสัดส่วนของยอดขายที่เพิ่มมากขึ้นจากปกติ

ยกเว้นเราจะเป็นร้านอาหารชื่อดังหรืออยู่ในกระแสที่ทางแอปฯอยากโปรโมตเพื่อให้ลูกค้ารู้จัก

ซึ่งหากเราไม่มีการเผื่อค่าการตลาดในส่วนนี้ไว้ โอกาสที่เราจะไปอยู่หน้าแรกของแอปฯหรืออยู่ในร้านแนะนำของแอปฯก็จะเป็นเรื่องยาก

 

3. ข้อมูลลูกค้า

เวลาเราขายอาหารหน้าร้านเรามีโอกาสที่จะเก็บข้อมูลลูกค้าผ่าน LineOA หรือผ่านระบบ CRM ของร้านได้ เช่น ข้อมูล เบอร์โทรศํพท์ อีเมลลูกค้า หรือหากเรามีระบบสั่งอาหารออนไลน์เราก็จะได้ข้อมูลที่อยู่ลูกค้ามาด้วย

แต่หากเราเข้าร่วมกับเดลิเวอรี่แอปฯ ไม่ว่าจะเจ้าไหนก็ตามเราจะไม่รู้ข้อมูลและประวัติของลูกค้าที่สั่งออเดอร์ โดยข้อมูลจะอยู่ที่ทางแอปฯ ทั้งหมด ทำให้ไม่มีข้อมูลไปวิเคราะห์ว่าลูกค้าหลักที่สั่งร้านเราเป็นใคร

 

4. ข้อผูกมัด

ก่อนจะเซ็นสัญญาเข้าร่วมกับแอปฯไหน อยากให้อ่านข้อสัญญาทุกอย่างให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนเสมอ

เพราะร้านส่วนใหญ่อยากรีบแต่จะเข้าร่วมจนละเลยการอ่านสัญญาให้ละเอียด ซึ่งข้อนี้เป็นข้อที่หลายร้านอาหารที่เซ็นสัญญาเป็รพาร์ตเนอร์กับเดลิเวอรี่แอปฯ ไม่อ่านให้ถี่ถ้วนให้ดี

ทำให้บางครั้งไม่สามารถเข้าร่วมกับแอปฯอื่นได้ เพราะได้เซ็นรับข้อตกลงไว้แล้วว่าจะเข้ากับแอปฯ นั้นแอปฯ เดียวเท่านั้น

ซึ่งถือเป็นการสูญเสียโอกาสการขายของร้านไปเลย ต่อให้เราจะได้ค่าธรรมเนียม GP ที่ถูกลงกับการเซ็นสัญญาแบบ Exclusive

แต่หากต้องขายผ่านแอปฯเดียว ก็อาจไม่คุ้มกับส่วนลดที่ได้รับเพราะแต่ละแอปฯก็จะมีกลุ่มลูกค้าและขอบเขตการให้บริการที่แตกต่างกัน

 

5. ระยะเวลาการได้รับเงิน

แต่ละแอปฯจะมีรูปแบบการจ่ายเงินให้กับร้านและระยะเวลาการจ่ายเงินที่แตกต่างกัน บางร้านจะได้รับเงินเป็นเงินสดจากคนขับแล้วค่อยเรียกเก็บค่า GP บางแอปฯจะจ่ายให้ร้านในวันรุ่งขึ้น หรือบางแอปฯจะเป็นระบบโอนเข้าบัญชีสิ้นเดือนทีเดียว

หากเราเป็นร้านที่มีการวางแผนการจ่ายเงินซัพพลายเออร์ทีเดียวสิ้นเดือนและมีการวางแผนกระแสเงินสดที่ดีอาจไม่กระทบกับการจ่ายเงินรวดเดียวสิ้นเดือนของแอปฯ แต่ถ้าเราเป็นร้านที่ต้องเอารายได้ไปซื้อวัตถุดิบและจ่ายค่าแรงพนักงานแบบวันต่อวัน นั่นหมายถึงเราอาจมีปัญหากับเรื่องกระแสเงินสดแน่นอน

ฉะนั้นก่อนตัดสินใจเข้าร่วมแอปฯไหนควรเช็คเรื่องการจ่ายเงินของแต่ละแอปฯให้ดี โดยเราอาจเริ่มต้นเข้าร่วมกับแอปฯที่จ่ายเงินให้เราแบบวันต่อวันก่อน แล้วค่อยๆเริ่มวางแผนการสั่งวัตถุดิบและกระแสเงินสดให้เหมาะสม และเมื่อเราพร้อมก็ค่อยเข้าร่วมกับแอปฯที่จ่ายเงินทีเดียวช่วงสิ้นเดือนเท่านี้ก็จะไม่กระทบกับกระแสเงินสดของร้านเรา

 

6. การให้บริการ

การให้บริการในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบริการก่อนการขายหรือการสมัครเข้าร่วมแอปฯเท่านั้นแต่ยังรวมถึงบริการหลังการขายด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม บางแอปฯกว่าจะสมัครเข้าร่วมได้ต้องใช้เวลาเป็นเดือน จะสอบถามว่าติดที่ตรงไหนก็ไม่สามารถสอบถามได้ ในขณะที่บางแอปฯ สามารถสมัครเข้าร่วมได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน

ส่วนเรื่องบริการหลังการขายบางแอปฯอนุญาตให้ติดต่อสอบถามผ่านระบบอีเมลเท่านั้น ในขณะที่บางแอปฯมีระบบ Call Center ที่คอยดูแลลูกค้าเพราะไม่ใช่เจ้าของร้านทุกคนที่จะคุ้นเคยกับการใช้อีเมล

ซึ่งเรื่องเหล่านี้เจ้าของร้านสามารถหาข้อมูลได้ไม่ยากโดยการสอบถามจากร้านที่เข้าร่วมมาก่อน หรือวิธีที่ง่ายที่สุดคือการหาข้อมูลจากเฟชบุ๊คกรุ๊ปต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เราก็จะพอเห็นภาพรวมในเรื่องของการบริการว่าแอปฯไหนดีไม่ดียังไง

 

7. จำนวนเมนู

พอเราตัดสินใจได้แล้วว่าจะเข้าร่วมกับแอปฯไหน การคัดเลือกเมนูลงในแอปฯก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คนส่วนใหญ่มักคิดว่ามีเมนูเยอะมากเท่าไหร่ในแอปฯ ยิ่งดีเท่านั้น

เพราะเราก็มีเมนูเหล่านี้ในร้านอยู่แล้ว ไม่ได้เหนื่อยมากขึ้น แต่หากเราลองคิดในมุมของลูกค้าเวลาเปิดดูร้านเราในแอปฯ แล้วเราใส่ทั้ง 100 เมนูของเราที่มีเข้าไปในแอปฯทั้งหมด เค้าจะเลื่อนดูครบทั้ง 100 เมนูเลยหรือไม่ และเค้าจะรู้ได้ไงว่าเมนูไหนอร่อยหรือเป็นเมนูที่เราอยากขาย

แทนที่จะเป็นข้อดี กลับกลายเป็นอาจทำให้ลูกค้ารู้สึกเหนื่อยในการเลือกและตัดสินใจออกจากร้านเราไปดูร้านอื่นแทน

ฉะนั้นการมีเมนูเยอะเกินไปอาจไม่ใช่เรื่องที่ดี เราควรรู้ก่อนว่าเมนูไหนที่ร้านเราทำได้อร่อยกว่าร้านอื่น โดดเด่นกว่าร้านอื่น และเมนูไหนที่กำไรดีเพราะเราเองคงไม่อยากให้ลูกค้าเลือกสั่งเมนูที่เราสู้ร้านอื่นไม่ได้ หรือเมนูที่กำไรน้อยจริงมั้ย การเลือกเมนูลงในแอปฯจึงเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้เลย

 

หวังว่าบทความที่นำมาฝากกันในวันนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการและคนที่อยากเปิดร้านอาหารทุกท่านนะคะ ฝากติดตาม Torpenguin ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 😊

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin

 

📌 อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ