ทำร้านแบบไหนจ่ายภาษีน้อยกว่า กัน ? นิติบุคคล หรือ บุคคลธรรมดา
ทำร้านแบบไหนจ่ายภาษีน้อยกว่า นี่ถือเป็นประเด็นแรก ๆ เลยครับ สำหรับใครที่จะก้าวขาเข้าสู่วงการผู้ประกอบการอย่างเต็มตัว ที่ยังคิดไม่ตกว่าจะเอาไงดี จดแบบไหนดี
หลายคนคงคิดว่า ทำร้านแบบบุคคลธรรมดาก็ต้องจ่ายภาษีน้อยกว่าสิ ใช่มั้ยคะ คำพูดนี้คงไม่ผิด ถ้าที่ผ่านมาหรือตอนนี้คุณเปิดร้านอยู่แล้วไม่เคยยื่นเสียภาษีเลย แต่นั่นหมายถึงว่าคุณกำลังมีความเสี่ยงในการโดยเรียกเก็บภาษีย้อนหลังพร้อมค่าปรับอีกมโหฬาร ถึงขนาดที่อาจต้องปิดร้านไปเลยก็ได้
หรือบางคนอาจจะบอกว่าตอนนี้ยังไม่จดบริษัทแต่ก็เสียภาษีแบบเหมาจ่ายกับสรรพากรอยู่ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้คุณจะไม่สามารถทำได้แล้วเพราะทางภาครัฐต้องการให้ผู้ประกอบทั้งหลายเข้ามาในระบบให้ถูกต้องทั้งหมด
ซึ่งถ้าเมื่อไหร่คุณต้องการทำร้านให้เป็นระบบและเสียภาษีให้ถูกต้องแล้วนั้น ตอบสั้น ๆ ตรงนี้เลยว่าทำร้านแบบนิติบุคคลจ่ายภาษีคุ้มกว่าแบบบุคคลธรรมดามาก
เวลาคุณทำร้านอาหารแบบบุคคลธรรมดารายได้จากการทำร้านอาหารจะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาและจะเสียภาษีตามขั้นบันไดของบุคคล เหมือนเวลาคุณทำงานประจำแล้วต้องจ่ายภาษี คุณรายได้มากก็จะเสียมาก คุณรายได้น้อยก็จะเสียน้อย
หมายถึงคุณมีรายได้เท่าไหร่จะโดนคิดแบบเปอร์เซ็นต์จากรายได้ทันที นั่นหมายถึงต่อให้คุณทำร้านแล้วขาดทุนต่อเดือนคุณก็ยังต้องจ่ายภาษีอยู่ดี
แต่ถ้าคุณจดเป็นบริษัทหรือนิติบุคคล เวลาคุณทำร้านขาดทุนคุณก็ไม่ต้องเสียภาษี
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? สมมุติปีแรกคุณทำร้านขาดทุน 2 แสน ปีนั้นคุณก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วพอปีหน้าคุณทำร้านได้กำไร 3 แสน ไม่ใช่คุณต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไร 3 แสนนะ คุณสามารถเอา 2 แสนที่ขาดทุนจากปีก่อนมาหักในปีต่อมาได้ เท่ากับคุณจะเสียภาษีจากกำไรแค่ 1 แสนบาทเท่านั้น
แต่เขากำหนดไว้ว่าหากคุณเป็นนิติบุคคลที่ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30 ล้านบาท กำไร 3 แสนบาทแรกไม่ต้องเสียภาษี เท่ากับปีต่อมาคุณก็ไม่ต้องเสียภาษีอยู่ดี
แต่หากสมมุติว่าคำนวณออกมาแล้วคุณมีกำไรที่ 5 แสนบาท คุณก็จะเสียภาษีอยู่ที่ 15% ของกำไรหรือ 75,000 บาทเท่านั้น ซึ่งในทางบัญชีคุณก็สามารถหาค่าใช้จ่ายโน่นนี่มาตัดเพื่อทำให้กำไรคุณลดลงได้อีก หมายถึงคุณก็จะเสียภาษีลดลงไปอีก
เห็นมั้ยว่าการทำร้านในรูปแบบนิติบุคคลนั้น ไม่ได้ดูเลวร้ายแบบที่เราทุกคนคิดเสมอไป หากมีความรู้ความเข้าใจที่ดีแล้ว เผลอ ๆ อาจเสียภาษีน้อยกว่าแบบบุคคลที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- กำไรเยอะ ก็เจ๊งได้ นะ 5 ทริคง่าย ๆ ในบริหารกระแสเงินสดให้คล่องสำหรับเจ้าของร้านอาหาร
- เริ่มทำบัญชีร้านอาหาร ต้องทำยังไง พื้นฐาน 4 ข้อที่ควรทำให้ได้
- มัดรวมเรื่อง ภาษีร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านต้องรู้
- ทำร้านอาหารให้เงินเดือนตัวเองเท่าไหร่ดี? วิธีคิด เงินเดือนเจ้าของกิจการ
- ‘ภาษีป้าย’ อีกหนึ่งเรื่องเล็กๆ ที่เจ้าของร้านส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าต้องจ่ายด้วย