การวิเคราะห์คู่แข่ง

การวิเคราะห์คู่แข่ง ก่อนเปิดร้านอาหารทำยังไง? เผยเคล็ดลับสำหรับ SME

 

ทำไมการวิเคราะห์คู่แข่งถึงสำคัญ?

การวิเคราะห์คู่แข่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้คุณเข้าใจตลาดและพัฒนากลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับร้านอาหารของคุณ โดยเฉพาะสำหรับ SME ที่ต้องการสร้างความแตกต่างในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

จุดประสงค์ของการวิเคราะห์คู่แข่ง ไม่ใช่แค่เพราะต้องการเอาชนะคู่แข่งหรือแย่งลูกค้ามาให้ได้เท่านั้น แต่ในอีกมุมหนึ่งยังเป็นการวิเคราะห์เพื่อที่จะได้รู้ว่า ร้านเหล่านี้ทำอะไรดีไม่ดียังไง เพื่อเป็นข้อมูลมาใช้ในการวางกลยุทธ์ว่าจะทำให้ร้านของเรามีจุดขายที่แตกต่างจากตลาด รวมไปถึงเรียนรู้ข้อผิดพลาดเพื่อที่จะได้ไม่ให้เกิดขึ้นกับร้านของเรา

แล้วเราจะเริ่มวิเคราะห์คู่แข่งอย่างไร?

 

1. ศึกษาคู่แข่งในพื้นที่

ซึ่งโดยทั่วไปเราสามารถแบ่ง คู่แข่ง (Competitors) ออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. คู่แข่งทางตรง (Direct competitors) คือคู่แข่งที่ขายอาหารประเภทเดียวกับร้านของเรา มีรูปแบบเมนูและราคาขายใกล้เคียงกัน และจับกลุ่มลูกค้าเดียวกัน
2. คู่แข่งทางอ้อม (Indirect competitor) คือคู่แข่งที่อาจขายอาหารคนละประเภทกันกับร้านเรา แต่จับกลุ่มลูกค้าใกล้เคียงกัน หรือ อาจขายอาหารประเภทเดียวกันหรือคล้ายกันกับเรา แต่ราคาต่างกันและจับกลุ่มลูกค้าไม่เหมือนกัน

การสำรวจร้านอาหารที่มีอยู่ในพื้นที่ของคุณเป็นสิ่งแรกที่ควรทำ คุณต้องรู้ว่ามีร้านไหนบ้าง ประเภทอาหารที่เสนอมีกี่แบบ และกลุ่มลูกค้าคือใคร เราอาจโฟกัสที่คู่แข่งทางตรงก่อน เพราะเป็นคู่แข่งที่ส่งผลต่อร้านเราโดยตรง แต่ก็ไม่ควรที่จะปล่อยจอยไม่สนใจคู่แข่งทางอ้อมไปเลย เพราะในบางสถานการณ์อาจกลายมาเป็นคู่แข่งทางตรงของร้านเราได้เช่นกัน

 

2. วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อน

ทำความเข้าใจว่าคู่แข่งแต่ละรายมีจุดแข็งและจุดอ่อนอะไร เช่น เมนู ราคา โปรโมชั่น การบริการ บรรยากาศ และความสะอาด เช่น ร้านอาหาร A อาจมีราคาถูกแต่คุณภาพไม่สูง ในขณะที่ร้าน B อาจมีบรรยากาศหรูหราแต่ราคาสูงเกินไป เป็นต้น

ในการวิเคราะห์คู่แข่งนี้ไม่ใช่แค่การจดชื่อร้านคู่แข่งลงไปในกระดาษหรือแค่ไปชิมด้วยตัวเองเท่านั้น
แต่เราควรจะแบ่งเป็นหัวข้อในการเก็บข้อมูลออกมาเปรียบเทียบเป็นตาราง เพื่อที่จะได้นำมาวิเคราะห์หากลยุทธ์และจุดยืนในตลาดสำหรับร้านของเราเอง ซึ่งสิ่งที่เราในฐานะของเจ้าของร้านอาหารจำเป็นต้องรู้เพื่อการวิเคราะห์มีหลายเรื่อง
เช่น ทำเลที่ตั้ง การตกแต่งร้าน จุดขายของร้าน เมนูเด็ดๆ ของร้าน รูปแบบการบริการ รวมถึงการทำการตลาด เพราะบางทีรสชาติเราอาจสู้เค้าไม่ได้ แต่เราอาจเก่งการตลาดมากกว่าเค้า หรือบางทีร้านเค้ามีโปรโมชั่นที่น่าสนใจกว่า จนทำให้กลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ของลูกค้า
เราจะไม่มีทางรู้เรื่องพวกนี้เลยถ้าเราไม่ศึกษาคู่แข่งให้ดี และแน่นอนว่าคงไม่สามารถวางกลยุทธ์เพื่อมัดใจกลุ่มลูกค้าของเราได้เช่นกัน

 

3. สำรวจความคิดเห็นลูกค้า

การอ่านรีวิวออนไลน์และการพูดคุยกับลูกค้าสามารถช่วยให้คุณเข้าใจว่าพวกเขาชอบหรือไม่ชอบอะไรเกี่ยวกับร้านคู่แข่ง ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงทั้งบริการและสินค้าของคุณ หรือเป็นช่องทางที่คุณจะสามารถสร้างสิ่งที่ทำได้ดีกว่า เพื่อเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าร้านของคู่แข่ง

 

4. รับบทลูกค้า

วิธีนี้เป็นวิธีที่คุณจำเป็นต้องทำ เพราะเป็นวิธีเดียวที่คุณจะได้สังเกตทุกๆ อย่างในร้านในแบบที่ไม่มีใครสามารถบอกได้ เช่น รสชาติอาหาร ความสวยงามของแต่ละจาน ราคาขาย รูปแบบการบริการ ระยะเวลาการรออาหาร ไปจนถึงการตกแต่งร้าน ไม่แน่คุณอาจจะเจอไอเดียอะไรดีๆ เอาไปพัฒนาร้านคุณที่กำลังจะทำก็เป็นได้

ยิ่งคุณไปลองร้านคู่แข่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้คุณได้รู้ค่าเฉลี่ยต่อหัว (Average check) ที่แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะมีผลต่อการตั้งราคาขายและการทำโปรโมชั่นของคุณ

 

ซึ่งจริงๆแล้ว การวิเคราะห์คู่แข่ง ไม่ได้ทำเฉพาะช่วงที่คุณกำลังเปิดร้านเท่านั้นนะ แต่คุณจำเป็นต้องทำตลอดการทำธุรกิจของคุณ ท่ามกลางการแข่งขัน ยิ่งคุณรู้จักคู่แข่งรอบด้านเท่าไหร่ ก็จะทำให้คุณเตรียมพร้อมรับมือต่อสถานกาณ์ได้ดีเท่านั้น

 

หวังว่าบทความที่นำมาฝากกันในวันนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการทุกท่านนะคะ ฝากติดตาม Torpenguin ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 🐧👋

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin

 

📌 อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ