ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งในการทำร้านอาหาร คือการที่เจ้าของร้านไม่มีเงินเดือนให้กับตัวเอง จริงอยู่ว่า คุณไม่ได้ทำงานเป็นลูกจ้างใคร แต่ก็ใช่ว่า เงินส่วนที่เป็นกำไรของร้าน จะเป็นเงินสำหรับใช้จ่ายส่วนตัวของคุณเองทั้งก้อน การที่คุณนำเงินมาปะปนกัน อาจทำให้บางครั้งเผลอนำเงินที่ควรจะนำไว้ใช้จ่ายในร้าน มาใช้จ่ายส่วนตัวมากเกินความจำเป็นก็ได้ รู้ตัวอีกที ก็คือวันที่กิจการขาดสภาพคล่องทางการเงินไปเสียแล้ว ดังนั้น การกำหนด เงินเดือนเจ้าของกิจการ จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก
บางคนเข้าใจผิดว่า ร้านอาหารเล็กๆ ที่ไม่ได้มีกำไรไม่มากนัก ยังไม่ควรตั้งเงินเดือนเจ้าของกิจการแบบตายตัว แต่ความจริงแล้ว การกำหนด เงินเดือนเจ้าของกิจการ นั้น สามารถทำได้ตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นเปิดร้าน แม้จะยังมีกำไรไม่มาก และแม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนบริษัทก็ตาม
สิ่งที่ต้องเริ่มต้นทำ ก่อนคิดเงินเดือนเจ้าของกิจการ
ก่อนจะไปคำนวณเงินเดือนเจ้าของกิจการ คุณจำเป็นต้องทำ “งบกำไรขาดทุน” และ “งบรายจ่ายส่วนตัว” ให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อให้รู้ว่า กิจการของคุณมีกำไร ขาดทุนเท่าไหร่ และคุณเองมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวอะไรบ้าง
⚫️ การทำงบกำไรขาดทุน: งบกำไรขาดทุนเรียกอีกหนึ่งอย่างว่า P&L (Profit and Loss Statement) เป็นสิ่งที่แสดงถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจในแต่ละงวดบัญชี มีวิธีคิดง่ายๆ 2 ขั้นตอน คือ
➡ Step 1 ยอดขาย – ต้นทุนอาหาร = กำไรขั้นต้น
ตัวอย่างเช่น ในหนึ่งเดือนร้านอาหารของคุณมียอดขายทั้งหมด 500,000 บาท มีต้นทุนอาหารทั้งหมด 100,000 บาท นั่นแปลว่า ร้านอาหารมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 400,000 บาท ต่อเดือน
➡ Step 2 กำไรขั้นต้น – ค่าใช้จ่าย = กำไร/ขาดทุน
เจ้าของร้านอาหารต้องลิสต์ค่าใช้จ่ายออกมาให้ครบถ้วน เพื่อที่จะได้คำนวณกำไร ขาดทุน ได้อย่างถูกต้อง โดยประเภทของค่าใช้จ่ายที่มักจะเกิดขึ้นในร้านอาหาร ได้แก่
- ค่าแรง เช่น เงินเดือน ค่าอาหารพนักงาน ค่าเบี้ยขยัน ค่าล่วงเวลา หรือสวัสดิการอื่นๆ
- ค่าเช่า เช่น ค่าเช่าที่ ค่าส่วนกลาง ค่าอุปกรณ์
- ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการร้าน เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าเดินทางไปซื้อวัตถุดิบ ค่าอุปกรณ์สำนักงาน ค่าซ่อมบำรุง ค่าเสื่อม ค่ากำจัดแมลง ค่าประกันร้าน ค่ารับรอง ค่าวัสดุสิ้นเปลืองอื่นๆ
- ค่าการตลาด เช่น ค่ายิงโฆษณาออนไลน์ ค่าโปรโมชั่น ค่าใบปลิว ฯลฯ
สมมติว่า ร้านของคุณมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดเดือนละ 100,000 บาท เมื่อนำมาคำนวณต่อจาก Step 1 จะพบว่า ร้านของคุณเหลือกำไรเดือนละ 300,000 บาท
อย่างไรก็ตาม หากคุณลองนำสูตรนี้ไปคำนวณกับร้านของคุณแล้วพบว่า ร้านของคุณแทบไม่เหลือกำไรเลย เพราะยอดขายไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมด ก็ต้องรีบวางแผนเพิ่มยอดขายให้ได้มากขึ้น หรือไม่ก็ต้องวางแผนควบคุมต้นทุน และลดค่าใช้จ่ายลงมาให้ได้
⚫️ การทำงบรายจ่ายส่วนตัว: การทำบัญชีรายจ่ายส่วนตัวนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่จดบันทึกรายจ่ายที่จำเป็นของคุณในแต่ละเดือน เช่น ค่าเช่าห้อง ค่ากับข้าว ค่าของใช้ในบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ เงินให้พ่อแม่ เงินเก็บออม ฯลฯ
วิธีง่ายๆ ในการคำนวณ เงินเดือนเจ้าของกิจการ
เมื่อคุณทำงบกำไรขาดทุนของร้าน และทำงบรายจ่ายส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถคิดเงินเดือนให้กับตัวเองได้เลย โดยโจทย์หลักของการคิดเงินเดือนคือ กิจการของคุณจะต้องมีเงินสำหรับใช้หมุน หรือใช้เป็นทุนสำหรับเดือนต่อไป และตัวคุณเองก็ต้องมีเงินเพียงพอสำหรับรายจ่ายส่วนตัวและมีเงินเก็บออมด้วย
ตามตัวอย่างที่ยกมาในข้อก่อนหน้านี้ จากกำไรของร้าน 300,000 บาท คุณควรจะต้องกันเงินไว้สำหรับใช้จ่ายในร้านอาหาร อย่างน้อยคือเท่ากับต้นทุนอาหารและครอบคลุมค่าใช้จ่ายของร้าน นั่นก็คือ ค่าต้นทุนอาหาร 100,000 + ค่าใช้จ่ายของร้าน 100,000 รวมเป็น 200,000 บาทต่อเดือน
สมมติว่า คุณมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคุณรวมเงินเก็บออมแล้ว อยู่ที่เดือนละ 50,000 บาท ก็สามารถตั้งเงินเดือนตัวเองไว้ที่ 50,000 บาทได้เลย ซึ่งเท่ากับว่า กำไรของร้านจะเหลืออยู่ 50,000 บาท แนะนำให้เผื่อเงินส่วนนี้ไว้ สำหรับใช้จ่ายในร้านเพิ่มเติม
การคำนวณเงินเดือนให้ตัวเองนั้น แม้จะดูยุ่งยากสักหน่อยในขั้นตอนเริ่มต้นทำงบกำไรขาดทุน แต่รับรองว่า คุณจะได้ประโยชน์มากกว่าที่คิด และสามารถวางแผนกิจการต่อไปได้อย่างไม่มีสะดุด
📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
👉🏻 อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สัญญาณที่บอกว่า ถึงเวลาต้อง ทำบัญชีร้านอาหาร ให้เป็นระบบได้แล้ว
ต้นทุน ร้านอาหาร อยากเปิดร้านต้องมีรายจ่ายเท่าไร มาดู
กฎหมาย PDPA ร้านอาหาร ที่ผู้ประกอบการต้องรู้
รวม ปัญหาพนักงานร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านต้องเตรียมรับมือ
แชร์วิธี ปรับเมนูอาหาร อย่างไรให้ได้กำไร ยอดขายพุ่ง
Image by Drazen Zigic on Freepik