Home การเงินการบัญชี สัญญาณที่บอกว่า ถึงเวลาต้อง ทำบัญชีร้านอาหาร ให้เป็นระบบได้แล้ว

สัญญาณที่บอกว่า ถึงเวลาต้อง ทำบัญชีร้านอาหาร ให้เป็นระบบได้แล้ว

426
สัญญาณที่บอกว่า ถึงเวลาต้อง ทำบัญชีร้านอาหาร ให้เป็นระบบได้แล้ว

การ ทำบัญชีร้านอาหาร ดูจะเป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับเจ้าของร้านเลยก็ว่าได้ เพราะมีตัวเลขมากมายให้ต้องทำความเข้าใจ หลายคนจึงมองว่าเป็นเรื่องยากและน่าปวดหัว บางคนก็ไม่มีเวลามาโฟกัส เพราะลำพังแค่ทำอาหารให้รสชาติถูกปากลูกค้า และทำการตลาดให้คนรู้จักร้านของเรา เท่านี้ก็เหนื่อยจนแทบจะหมดแรงแล้ว ไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนมาจัดการเรื่องบัญชี บางคนก็มองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก ขายได้เท่าไหร่ก็เก็บเข้าเก๊ะเอาไว้ ถึงเวลาก็รวบรวมเงินไปฝากธนาคาร เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การละเลยเรื่องการ ทำบัญชีร้านอาหาร ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าของร้านหลายคนเจ๊งมานักต่อนักแล้ว…อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนยากเกินจะแก้ รีบมาเช็กกันเลยดีกว่า หากร้านของคุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ ถึงเวลาต้องรีบทำบัญชีให้เป็นระบบโดยด่วน

1. ลูกค้าแน่นร้าน แต่หมดวันแล้วไม่รู้เงินหายไปไหน

บางร้านขายดิบขายดีทั้งวัน ลูกค้าแน่นร้าน จนเจ้าของร้านแทบไม่ได้มีเวลาพักกินข้าว แต่พอหมดวัน เมื่อมาเช็กดูเงินในเก๊ะ กลับพบว่า ยอดเงินน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และไม่มีใครรู้เลยว่า เงินหายไปไหน อาจเป็นไปได้ว่า คิดเงินลูกค้าไม่ครบ หรือไม่ก็หยิบเงินสดออกไปจ่ายค่าวัตถุดิบระหว่างวัน หนักยิ่งกว่านั้น คืออาจโดนพนักงานในร้านทุจริตก็เป็นไปได้ ปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้บันทึกบัญชีให้เป็นระบบ หากปล่อยไว้นานๆ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถานะการเงินของร้านคุณอย่างแน่นอน

2. ยอดตัวเลขในบัญชีกับยอดคงเหลือไม่ตรงกัน

แม้บางคนจะจดบันทึกรายรับไว้แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่า ทำไมเงินที่คงเหลือจริงไม่ตรงกับยอดในบัญชี สาเหตุส่วนใหญ่มักจะเป็นเพราะเจ้าของร้านไม่ได้จดบันทึกรายจ่ายอย่างละเอียด โดยเฉพาะรายจ่ายจิปาถะที่เกิดขึ้นระหว่างวัน บิลภาษี (ในกรณีที่ร้านอาหารจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) และต้นทุนแฝงอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมอุปกรณ์ ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าจอดรถ ค่ารับรองแขกวีไอพี เช่น ญาติ หรือกลุ่มเพื่อนๆ ที่มาอุดหนุน ฯลฯ ทำให้ร้านมองเห็นแต่กำไร ทั้งที่จริงแล้ว รายจ่ายอาจแซงยอดขายไปโดยที่คุณไม่ทันรู้ตัวก็ได้

3. ขายได้เท่าไหร่ ก็จ่ายออกไปเท่ากัน

ข้อนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับหลายร้าน แม้ลูกค้าจะเข้าร้านเยอะมาก แต่ไม่ว่าจะขายได้เท่าไหร่ ก็จ่ายออกไปเกือบจะเท่ากัน จนแทบไม่เหลือกำไรเลย ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นจากการที่เจ้าของร้านละเลยการทำบันทึกงบกำไรขาดทุน ทำให้ไม่รู้เลยว่า ปัญหา “ขายดีแต่ไม่มีกำไร” นั้นเกิดขึ้นจากจุดไหน และต้องแก้ไขอย่างไร รู้ตัวอีกที ก็วันที่ร้านไปต่อไม่ไหว ต้องเตรียมตัวปิดกิจการแล้ว

4. เจ้าของร้านไม่มีเงินเดือนให้ตัวเอง

แม้เจ้าของร้านอาหารจะไม่ใช่พนักงานบริษัท แต่ก็ควรมีเงินเดือนให้กับตัวเอง และที่สำคัญคือควรแยกบัญชีส่วนตัวออกจากบัญชีของร้านด้วย ไม่เช่นนั้นเงินอาจปะปนกันจนไม่รู้ว่าเงินไหนเป็นต้นทุน กำไร หรือเงินสำหรับใช้จ่ายส่วนตัว หลายคนอาจะคิดว่ากำไรของร้านก็คือเงินของตัวเอง จึงดึงเงินที่ควรจะนำไว้ใช้จ่ายในร้านมาใช้จ่ายส่วนตัวมากเกินความจำเป็น จนบางครั้งทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนกิจการไปต่อไม่ไหว

ร้านอาหารต้องทำบัญชีอะไรบ้าง

หากใครยังนึกภาพไม่ออกว่า การทำบัญชีร้านอาหารต้องทำบัญชีหลักๆ อะไรบ้าง ลองดูลิสต์ต่อไปนี้เป็นไอเดียคร่าวๆ ได้เลย

  • บัญชีรายรับ/ยอดขาย: เป็นบัญชีที่ต้องจดบันทึกว่า ขายเมนูอะไร เป็นยอดเท่าไหร่ หากนำบัญชีรายรับหรือยอดขายนี้มาหักลบด้วยต้นทุนอาหาร ก็ได้มองเห็ยกำไรขั้นต้นได้แล้ว
  • บัญชีรายจ่ายค่าวัตถุดิบ/ต้นทุนอาหาร: เป็นบัญชีที่ต้องจดบันทึกว่า เราสั่งซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ หากเป็นร้านอาหารเล็ก อาจจ่ายเป็นเงินสด ส่วนร้านใหญ่ที่รับวัตถุดิบมาเป็นจำนวนมากๆ อาจได้เครดิต สามารถจ่ายเงินเป็นอาทิตย์ หรือเป็นเดือนก็ได้
  • บัญชีรายจ่ายคงที่ (Fixed Cost): เป็นบัญชีที่ต้องจดบันทึกค่าใช้จ่ายประจำของร้าน ที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนเท่ากันในทุกๆ เดือน เช่น ค่าเช่าที่ ค่าส่วนกลาง ค่าเช่าอุปกรณ์​ ค่าแรงพนักงาน ค่าล่วงเวลา ค่าเบี้ยขยัน
  • บัญชีรายจ่ายแปรผัน (Variable Cost): เป็นบัญชีที่ต้องจดบันทึกค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการร้าน ที่แปรผันไปในแต่ละเดือน เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทางไปซื้อวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าซ่อมบำรุง ค่าทำความสะอาด ค่ากำลังแมลง ฯลฯ
  • บัญชีรายจ่ายค่าการตลาด: เป็นบัญชีที่ต้องจดบันทึกค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด หรือโปรโมตร้าน เช่น ค่ายิงโฆษณาในเฟซบุ๊ก ค่าพิมพ์ใบปลิว ค่าจ้าง Influencer ฯลฯ

หากนำกำไรขั้นต้น (ที่ได้จากยอดขายลบด้วยต้นทุนอาหาร) มาหักลบกับรายจ่ายอื่นๆ ที่เหลือ ทั้งรายจ่ายคงที่ รายจ่ายแปรผัน และรายจ่ายค่าการตลาด ก็จะมองเห็นกำไรและขาดทุนที่แท้จริงของร้านอาหารแล้ว

การ ทำบัญชีร้านอาหาร ให้เป็นระบบ แม้จะดูเป็นเรื่องยากสักหน่อยในช่วงเริ่มต้น แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำ เพราะช่วยให้เจ้าของร้านสามารถตรวจเช็กสุขภาพของกิจการได้ในทุกๆ เดือน รู้ว่าร้านของตัวเองกำลังขาดทุน หรือกำไร และรู้ว่าควรไปต่อกับธุรกิจนี้จริงหรือเปล่า

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin

Instargram : torpenguin

TikTok : @torpenguin

YouTube: Torpenguin

 

👉🏻 อ่านต่อบทความอื่น ที่น่าสนใจ

ต้นทุน ร้านอาหาร อยากเปิดร้านต้องมีรายจ่ายเท่าไร มาดู

เคล็ดลับ นับสต๊อกร้านอาหาร และจัดการวัตถุดิบ ทำเป็นเห็นกำไร

จิตวิทยา กลยุทธ์ตั้งราคาสินค้า ใช้วิธีไหนถึงทำให้ลูกค้าหวั่นไหวได้

เทคนิคเก็บ เซอร์วิสชาร์จร้านอาหาร ทำอย่างไรให้ลูกค้าพอใจที่ต้องจ่าย

ทำร้านอาหารให้เงินเดือนตัวเองเท่าไหร่ดี? วิธีคิด เงินเดือนเจ้าของกิจการ

Image by wavebreakmedia_micro on Freepik