คืนชีพผักเหี่ยว ให้กลับมาสดกรอบน่ากิน สำหรับร้านอาหาร กับ 3 วิธีที่จะทำให้เราไม่ต้องทิ้งผักเกินความจำเป็น ช่วยประหยัดต้นทุนได้ด้วย
ถ้าพูดถึง First Impression ของร้านอาหาร นอกจากบรรยากาศของร้านที่น่านั่งแล้ว การบริการและหน้าตาของอาหารที่เสิร์ฟมา ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ และตัดสินใจกลับมาใช้บริการร้านเราอีกในครั้งต่อๆไป
การใส่ใจในเรื่องเล็กๆน้อยๆจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ร้านอาหารทุกร้านไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะรสชาติ คุณภาพรวมไปถึงความสดใหม่ของอาหารในทุกๆจาน
ยิ่งโดยเฉพาะร้านที่เน้นเมนูผักสดซึ่งอาจเสิร์ฟคู่มากับเมนูหลัก หรือจานสลัดที่มีผักสดเป็นส่วนประกอบ ถ้าผักที่อยู่ในจานเหี่ยวเฉา ก็ทำให้อาหารทั้งจานนั้น ดูไม่น่ากินก่อนที่เราจะได้ชิมเสียอีก
บางร้านอาจจะมองว่าผักที่เราเสิร์ฟไม่ได้เน่าเสีย แค่เหี่ยวไม่สดเด้ง สามารถเสิร์ฟได้ แต่ความรู้สึกของลูกค้าอาจเหมารวมว่า วัตถุดิบทั้งจานไม่สด และทางร้านไม่ใส่ใจคุณภาพเท่าที่ควร เพราะขนาดแค่ผักที่ตกแต่งมาบนจานเพียงเล็กน้อย ยังเหี่ยวเฉาไม่น่ากินเลย
แล้วรู้หรือไม่ว่าสาเหตุที่ผักในร้านของเราเหี่ยวเฉาเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?
– ภาชนะที่บรรจุผักไม่เหมาะสมเราอาจจะเคยเห็นผักที่ถูกใส่มาในถุงพลาสติกใหญ่ๆ บรรจุปริมาณมาก10 -20 กิโลกรัมต่อถุง และไม่ได้เจาะรูระบายอากาศ เมื่อผักคายน้ำแล้วไม่เกิดการถ่ายเท ก็จะทำให้ใบผักเหี่ยว และเน่าช้ำได้
– การขนส่งที่ไม่ถูกต้อง ใช้ระยะเวลานานในการขนส่ง ทำให้ผักช้ำ ฉีกขาด และเหี่ยวเฉาได้
– การจัดเก็บวัตถุดิบที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการวางทับกันในปริมาณมากๆ หรือวางในที่ซึ่งมีอุณหภูมิสูงและอากาศไม่ถ่ายเท ก็มีผลทำให้ผักเหี่ยวเฉาได้ไวเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้เวลาที่เราซื้อผักมาใหม่ๆ ถ้าเราจัดการวัตถุดิบได้ดี ผักจะคงความสดอยู่ได้นาน แต่ถ้าเราไม่รู้วิธีการจัดเก็บ หรือลืมว่าเก็บผัดชนิดนี้ไว้นานแล้ว อาจทำให้ผักของเราเหี่ยวเฉาได้ไวกว่าที่ควร ซึ่ง ถ้าเราควบคุมไม่ได้ จะมีวิธีอะไรบ้าง ที่ทำให้ผักกลับมาสดน่ารับประทาน วันนี้เราจะมาแชร์วิธีง่ายซึ่งร้านอาหารทุกร้านสามารถนำไปใช้ให้ผักในร้านกลับมาสดเด้งน่ากินได้ โดยไม่ต้องซื้อใหม่ให้เปลืองต้นทุนของร้าน ด้วยวิธีง่ายๆดังนี้
วิธีที่ 1
แช่ผักในน้ำที่อุณหภูมิห้อง 1 ชั่วโมง ก่อนนำมาใช้
วิธีที่ 2
แช่ผักในน้ำเย็นจัด หรือน้ำผสมน้ำแข็ง แช่ทิ้งไว้ 20-30 นาที เพียงเท่านี้ผักก็จะดูดน้ำกลับเข้าไป ทำให้สดกรอบเหมือนเดิม
วิธีที่ 3
แกว่งสารส้มในน้ำอุณหภูมิห้อง แล้วนำผักแช่ไว้ 30 นาที นำผักไปล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง ก่อนนำไปปรุงอาหาร
เพียงแค่รู้เทคนิคการจัดการวัตถุดิบที่ใช้ในร้านให้เหมาะสม เราก็สามารถลดต้นทุนลดการสูญเสีย Waste ในระหว่างขบวนการผลิต (Food production) ไม่ต้องซื้อใหม่ให้เปลืองต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งยังสามารถควบคุมวัตถุดิบให้สดใหม่ในทุกครั้งที่เสิร์ฟลูกค้าอีกด้วย
และนี่ก็คือเทคนิค คืนชีพผักเหี่ยว ที่จะช่วยให้เราไม่ต้องทิ้งผักมากเกินความจำเป็นในวันที่ผักแพงขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้ค่ะ
หวังว่าเคล็ดลับหลังครัวร้านอาหารที่นำมาฝากกันในวันนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทุกคนนะคะ ไว้เจอกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 🥰
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แกะเปลือกกระเทียม ฉบับเร่งด่วนสำหรับร้านอาหาร
วิธีทำหอมเจียว กระเทียมเจียว ให้สีสวย กรอบนาน เก็บได้ยาวเป็นเดือน
สูตรซอสผัดอเนกประสงค์ ใช้ได้ครอบจักรวาล พร้อมวิธีการคำนวณต้นทุน
วิธีทำของทอด ให้กรอบทน กรอบนาน อร่อย ทำง่าย ลดต้นทุน
ต้นทุนวัตถุดิบสูง ปัญหาใหญ่เจ้าของร้านอาหาร หาทางออกอย่างไร ให้ลูกค้าไม่หนี
ไขคำตอบ เมนูเยอะ ดีจริงหรือไม่? เพราะอะไรจึงทำให้เสี่ยงขาดทุน