การพูดตรงไปตรงมา อาจเป็นเรื่องยากสำหรับสังคมไทย เพราะเราถูกสอนมาให้พูดโดยถนอมน้ำใจจากผู้อื่น รวมไปถึงการพูดวกวนไปมาเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ แต่รู้หรือไม่ว่าในการทำธุรกิจในฐานะที่คุณเป็นเจ้าของธุรกิจเอง การพูดตรง ๆ จะสามารถสื่อสารกันได้ชัดเจนกว่าการพูดอ้อม ๆ แต่ต้องมีศิลปะในการพูดที่ดี ไม่ใช่ใช้อารมณ์หรือพูดแบบขวานผ่าซากจนเกินไป

 

ผมคิดว่าการพูดตรงไปตรงมาจะส่งผลดีกับการทำงานมากกว่า เพราะเมื่อทีมหรืออีกฝ่ายรู้แน่ชัดว่าอีกคนกำลังคิดอะไรอยู่ ก็จะไม่เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด ทุกฝ่ายก็จะสามารถทำงานไปในทิศทางเดียวกันได้โดยไม่เกิดการเข้าใจผิดขึ้น แต่หาเราพูดไม่ตรงประเด็น มัวแต่ประดิษฐ์คำหรือพูดอ้อมค้อมมากเกินไป มันมีความเป็นไปได้สูงว่าคนที่รับสารอาจจะเข้าใจผิด และไปทำในสิ่งที่ผิดต่อไป

 

เมื่อเกิดความเข้าใจผิดที่มาจากการสื่อสารมันจะทำให้คุณเสียเวลาแก้ไข และสิ่งที่จะตามมาถ้าคุณพูดตรงไปตรงมาคือการทำงานจะไหลลื่นมากขึ้น ซึ่งอย่าลืมว่าความเร็วคือหัวใจของการทำธุรกิจ ดังนั้นแทนที่จะพูดแบบอ้อมค้อม หรือพูดมัวแต่นึกถึงความรู้สึกอีกฝ่าย ผมแนะนำให้พูดความคิดเห็นของตัวเองไปเลยดีกว่าครับ เช่น การทำธุรกิจร้านอาหาร แน่นอนว่าต้องใช้คนจำนวนมากเพื่อมาช่วยกันทำให้งานเสร็จในแต่ละวัน หากมีเหตุที่ทำให้อาหารออกช้าจนลูกค้าไม่พอใจ เราอาจต้องเรียกทีมมาประชุมและบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ถามถึงสาเหตุ แล้วค่อย ๆ แก้ไขเพื่อให้ในครั้งต่อไปไม่เกิดปัญหาแบบนี้อีก เป็นต้น

 

หรืออย่างการให้คำแนะนำลูกน้องก็เหมือนกัน วิธีให้คำแนะนำเป็นคำชมหรือสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนที่ทำงานกับเรานั้น ถึงมันจะเป็นวิธีที่ดี แต่ทำตามได้ยากครับเพราะเขาอาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่คุณซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจบอกกับเขา ดังนั้นผมแนะนำให้ บอกสิ่งที่ตัวเองคิดออกไปตรงๆ โดยไม่ต้องอ้อมค้อมให้มันยุ่งยาก เช่น ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร แล้วมีลูกน้องคนหนึ่งที่เข้างานไม่ตรงเวลา แถมยังจัดออเดอร์ผิด คุณต้องเรียกเขามาพูดตรง ๆ ว่า “ถ้านายอยากก้าวหน้าในการทำงาน อย่างแรกเลยต้องมาเข้าร้านในตรงเวลา เพราะการที่นายสามารถเป็นคนตรงต่อเวลาได้จะส่งผลกับการทำงานของนายในอนาคต รู้จักละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้นเวลาที่ได้รับออเดอร์จากลูกค้า และต้องชัดเจนในการสื่อสารกับเชฟว่าลูกค้าต้องการอะไร นี่คือการจัดระเบียบที่ถ้านายทำได้มันจะทำให้นายเติบโต” เพียงเท่านี้เองครับบอกกับเขาไปตรง ๆ ว่าถ้าเขาทำสิ่งนี้ จะมีอะไรเกิดขึ้น โดยไม่ต้องหว่านล้อมเอาปรัชญาชีวิตมาพูดให้วุ่นวายเพราะบางทีคนก็มีสมาธิในการฟังต่ำครับ รีบพูดให้กระชับเข้าใจง่ายจะดีกว่า เหมือนกับเวลาเราทำการตลาด เขียนคำโฆษณาเราต้องบอกลูกค้าไปเลยว่า สินค้าของเราคืออะไร และลูกค้าจะได้อะไรบ้าง? สั้นๆ กระฉับเข้าใจง่าย เรียกว่าสื่อสารแบบตรง ๆ นี่แหล่ะครับดีที่สุด

 

อีกอย่างถ้าคุณชมลูกน้องไปทั้งๆที่ความสามารถเขายังไม่ถึง จะทำให้เขาคิดไปเองว่าตัวเองเก่งแล้ว จนส่งผลทำให้เขาอาจจะไม่ทุ่มเทกับงานเท่าที่ควรจะเป็น และกลายเป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง เช่น น้อง ๆ ที่ทำการตลาดให้ร้านอาหารของเรา ดันทำการตลาดแบบเก่าซึ่งไม่ตรงกับกลุ่มลูกค้า แต่เราเกรงใจกลัวเด็กจะเสียใจเลยเอ่ยปากชมไปว่า ดีแล้ว คนเหล่านี้ก็จะไม่หาทางทำให้มันดีขึ้นหรอกครับเพราะเจ้านายพอใจแล้วก็ไม่ต้องปรับอะไรอีก! ซึ่งการที่เราบอกออกไปตรงๆเลยน่าจะดีกว่า แม้อาจจะทำให้ลูกน้องรู้สึกเสียกำลังใจไปบ้าง แต่มันคือความจริง แล้วถ้าเขาตามคนอื่นไม่ทัน เขาก็จะรู้สึกต้องผลักดันตัวเองและทุ่มเทให้ตัวเองนั้นเก่งขึ้นเพราะโลกนี้ไม่มีใครมาคอยโอ๋เขาได้ตลอดเวลาหรอกจริงมั้ยครับ?

 

สาเหตุที่คนเรานั้นพูดอ้อมค้อม คืออะไร ในความคิดผมคิดว่าคือไม่อยากทำร้ายจิตใจของเขา เราไม่อยากให้ทีมหรือลูกน้องมองว่าเราเป็นเจ้านายที่ใจร้ายใจดำ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งสำคัญในการทำงานคือเป้าหมายที่เรามีร่วมกันต่างหาก

.

ไม่ว่าคุณจะถูกมองว่าอย่างไร แต่ถ้ามันจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมาย เราควรบอกทีมหรือลูกน้องอย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่านี่แหละคือความจริงใจของคนทำธุรกิจที่ควรจะคำนึงถึงเป็นอันดับแรก อย่างในธุรกิจร้านอาหารที่มีการแข่งขันกันมากมาย เป้าหมายคือยอดขายของร้านที่ต้องเติบโต หากเราเอาแต่ถนอมน้ำใจโดยไม่คำนึงถึงเป้าหมาย ร้านอาหารของเราอาจจะต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีใครสักคนที่อยากจะเติบโต เพราะรอแต่คำเอาใจ